ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

แรงงานเผยไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ก.ม.อีกเพียบ จี้รัฐบาลลงนาม ILO 87, 98

7 ตุลาคม 2557 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมกันจัดกิจกรรม ‘งานที่มีคุณค่า วาระประเทศไทย’ (Decent Work: Thailand Agenda) เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล (decent work day) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี

 

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ปีนี้ครบหนึ่งทศวรรษวันงานที่มีคุณค่าสากล และประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 45 ประเทศสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO ) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 แต่แทบจะไม่มีพัฒนาการเรื่องสิทธิของคนงานในการรวมตัวเจรจาต่อรองกับนายจ้าง และยังไม่มีความก้าวหน้าในการให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งถือเป็นอนุสัญญาหลักในการคุ้มครองคนงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นายชาลีกล่าวว่า การไม่ลงสัตยาบันในอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ทำให้คนงานต้องเผชิญกับการถูกเอาเปรียบ และถูกขูดรีดจนแทบไม่มีหลักประกันใดๆ

 

นายชาลีกล่าวว่า การไม่ได้รับความคุ้มครองที่ดีในการเจรจาต่อรอง ทำให้การเจรจาข้อเรียกร้องกับนายจ้างต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรืออาจจะเป็น ปี และเมื่อตกลงกันได้แล้ว ยังถูกนายจ้างยังละเมิดต่อข้อตกลง ที่รุนแรงคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ดำเนินการใดๆ ในกรณีที่นายจ้างละเมิดกฎหมาย แต่กลับปล่อยให้เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างคนงานกับนายจ้าง นอกจากนี้ยังมีแรงงานอื่นๆ เช่น แรงงานนอกระบบ คนทำงานอิสระ และแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ

 

ประธาน คสรท.กล่าวว่า ทุกวันนี้สถานการณ์การแก้ปัญหากลับไปที่จุดเริ่มต้นเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งกระบวนการนายหน้า การหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ และการค้ามนุษย์ จนนานาชาติส่งสัญญาณที่ไม่ดีต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานของไทย

 

ประธาน คสรท.กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรเร่งทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อให้คนงานเข้าถึงหลักการ ‘งานที่มีคุณค่า’ และต้องมีหลักประกันให้คนงานสามารถเข้าถึงหลักการงานที่มีคุณค่าได้จริง โดยเฉพาะการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้กับคนงาน การมีสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร ซึ่งน่าจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้สถานการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานของไทยดีขึ้น และได้รับการยอมรับในเวทีโลก สำหรับข้อเสนอในวันครบรอบหนึ่งทศวรรษงานที่มีคุณค่าสากลในปีนี้ เสนอให้รัฐบาลเร่งรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

 

น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า การจัดงานวันนี้อาจต้องเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานหาวิธีผลักดันให้รัฐบาลชุด นี้ให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับ แม้รัฐบาลจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ขบวนการแรงงานก็ควรต้องขับเคลื่อนเพื่อทวงถาม

 

ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า หรือว่าขบวนการแรงงานจะเป็นเด็กดีภายใต้รัฐบาลชุดนี้ และจะหวังกับรัฐบาลชุดนี้อย่างไรในขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ ต่างออกมาขับเคลื่อนเพราะไม่ไว้ใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้ด้วยการปฏิรูป ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สวัสดิการและสิทธิต่างๆ ของแรงงานล้วนได้มาจากการเคลื่อนไหวทั้งสิ้น

น.ส.ดาวเรือง ชานก กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวว่าการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นกลุ่มแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ สวัสดิการน้อย เนื่องจากถูกมองว่าเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไม่ว่าจะทำงานกี่ปีก็ยังได้เพียงค่าจ้างขั้นต่ำ หากต้องการปรับขึ้นค่าจ้างต้องรวมตัวกันเรียกร้อง และจากการรับเรื่องราวร้องทุกที่ผ่านมา มีแรงงานส่วนหนึ่งได้ค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด แต่ไม่กล้าเรียกร้อง เพราะกลัวตกงาน จึงยอมให้นายจ้างละเมิดสิทธิและเอาเปรียบ  ในกรณีถูกเลิกจ้าง นายจ้างจะต่อรองเพื่อจ่ายค่าชดเชยต่ำกว่ากฎหมาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะแรงงานไร้อำนาจในการต่อรอง และองค์กรของรัฐก็มักไกล่เกลี่ยให้คนงานรับค่าชดเชยที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด

 

นายไพฑูรย์ บางหลง ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่าการละเมิดสิทธิแรงงานนั้นเกิดขึ้นเพราะกฎหมายแรงงานอ่อนแอ ขาดการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง สถานการณ์การต่อสู้เรียกร้องของแรงงานในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่สามารถจบลงได้บนโต๊ะเจรจา แต่มักเกิดการพิพาทแรงงาน คนงานถูกปิดงาน และถูกเลิกจ้าง การชุมนุมของแรงงานก็มักถูกคุกคาม และถูกเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกดดัน การที่กฎหมายแรงงานให้สิทธิการยื่นข้อเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่าย คือ สหภาพแรงงานยื่นต่อนายจ้าง และนายจ้างยื่นต่อสหภาพแรงงาน ก็อยู่ภายใต้อำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน และเมื่อเกิดข้อพิพาท การไกล่เกลี่ยโดยรัฐมักจบลงด้วยการที่ลูกจ้างเสียเปรียบ และตามมาด้วยการขออำนาจศาลให้เลิกจ้าง บางแห่งคนงานถูกทำร้ายร่างกาย เมื่อไปแจ้งตำรวจในท้องที่การดำเนินคดีก็มักไม่คืบหน้า

 

องจู ตัวแทนแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาร์ เล่าว่า ไม่มีความเท่าเทียมทางกฎหมายในการคุ้มครองการจ้างงานของแรงงานข้ามชาติ แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แต่ แรงงานข้ามชาติที่ อ.แม่สอดยังได้ค่าจ้างเพียง 120 บาทต่อวัน แรงงานใน จ.สมุทรสาครได้ค่าจ้าง 250 บาทต่อวัน เพราะถูกบริษัทซับคอนแทรกหักเงินเอาไว้ส่วนหนึ่งไว้ ส่วนที่รัฐมักอ้างว่าเป็นเพราะแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานไม่ถูกกฎหมาย จึงทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครอง  ซึ่งแรงงานข้ามชาติอยากทำงานอย่างถูกกฎหมายทุกคนและอยากได้ค่าจ้างตามที่ กฎหมายกำหนด รวมถึงได้รับสวัสดิการ  มีสิทธิในการรวมตัวเช่นเดียวกับแรงงานไทย

 

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาร์ กล่าวว่า ควรทำให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมาย ถูกกฎหมายด้วยการขึ้นทะเบียน เพราะทุกคนอยากได้รับการคุ้มครองในเรื่องประกันสังคม เนื่องจากเงินค่าจ้างได้มาไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลในเวลาเจ็บป่วย

 

นายวันชัย ม่วงดี แรงงานซับคอนแทรคในกิจการยานยนต์ กล่าวว่า รู้สึกแย่มากที่ในฐานะของคนที่ทำงานเหมือนๆ กันกับลูกจ้างประจำ แต่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการแตกต่างกัน บางครั้งถูกก็ย้ายไปทำงานในที่ห่างไกลจากที่พักและเพื่อนร่วมงาน เมื่อถูกเลิกจ้างก็ได้ค่าชดเชยเพียงร้อยละ 15 ของสิทธิตามกฎหมาย การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานก็ทำได้ยากเพราะจะถูกนายจ้างย้ายงานตลอด เหมือนเป็ดไล่ทุ่งที่ถูกย้ายไปเรื่อยๆ ซึ่งนายวันชัยกล่าวว่า แรงงานซับคอนแทรคไม่ใช่เป็ด จึงอยากมีสิทธิที่เสมอภาคเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

 

นายธนกร สมสิน ประธานสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงที่สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การเจรจาต่อรองส่วนใหญ่เป็นการต่อรองเรื่องระยะเวลาของการทำสัญญาจ้าง โดยไม่ได้มีการพูดถึงการปรับสภาพการจ้างใหม่ จนทำให้เกิดการพิพาทแรงงาน การปิดงาน การชุมนุม และการชุมนุมของสหภาพแรงงานไม่สามารถใช้พื้นที่ของบริษัทหรือบริเวณฟุตบาต ด้านข้างบริษัทได้ ต้องชุมนุมบนพื้นผิวจราจรซึ่งกระทบกับการคมนาคมบนถนนของนิคมอุตสาหกรรมและ ไม่ปลอดภัยต่อคนงานที่ชุมนุม นอกจากนี้ ยังมีการข่มขู่โดยการยิงปืนใส่รถยนต์หรือตามไปยิงตัวแทนคนงานถึงบ้าน แม้วันนี้จะกลับเข้าทำงานแล้ว แต่ก็ยังมีการย้ายงาน และคนงานที่กลับเข้าทำงานยังมีความอึดอัดในการทำงานอยู่บ้าง

 

น.ส.ธนัญภรณ์ บรมสม ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง เล่าว่า ปัญหาการเลิกจ้างสหภาพแรงงานหลังการเจรจาข้อตกลง แม้ว่าจะร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ( ครส.) ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ ครส.มองว่าการที่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและรับคน งานกลับเข้าทำงาน เป็นความเมตตาและเป็นบุญคุณกับคนงาน ครส.ไม่ได้มองว่าการที่นายจ้างเลิกจ้างเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน และการรับกลับเข้าทำงานนั้นเป็นการจ้างงานแบบสัญญาจ้างปีต่อปี ส่งผลให้ไม่มีความมั่นคงในชีวิตการงานและได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัว การที่แรงงานไม่กล้าสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เพราะกลัวนายจ้างจะไม่ต่อสัญญาจ้าง สหภาพแรงงานที่เคยเข้มแข็งเมื่อสมาชิกลดน้อยลงก็ส่งผลต่อการทำงานสหภาพไป ด้วย ขณะนี้กลุ่มลูกจ้างที่กลับเข้ามาทำงานได้เพียงค่าจ้างวันละ 300 บาท ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะภาระหนี้สิน  นอกจากนี้ การตกงานยังส่งผลกับลูกที่กำลังเรียนหนังสือด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องยอมรับสภาพการจ้างที่แย่กว่าเดิม ยอมให้นายจ้างเอาเปรียบมากขึ้น

 

วณิช พิพัฒน์จักราภรณ์  ตัวแทนแรงงานนอกระบบ เล่าว่า แรงงานมักถูกมองข้ามในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ ในส่วนของเพศวิถีในระบบการจ้างงานยังมีเพียงเพศหญิงและชาย ส่วนเพศที่สามต้องไปทำงานอิสระ เป็นงานแรงงานนอกระบบ ทำงานในร้านเสริมสวย ไม่มีสวัสดิการ หรือได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย การรวมตัวเป็นไปได้ยาก และเป็นแรงงานราคาถูก ส่วนการเข้าไปทำงานในระบบก็จะถูกกีดกัน ไม่มีความก้าวหน้าเนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับเพศที่สาม ฉะนั้น การมองเรื่องความเท่าเทียมด้านสิทธิและสวัสดิการ ต้องคำนึงถึงคนเพศที่สามด้วย

 

วณิช กล่าวถึงกรณีการตรวจเชื้อเอชไอวีในการทำงานว่า แม้กฎหมายจะห้ามไม่ให้ตรวจแต่คนทำงานที่เป็นเพศที่สามยังคงถูกบังคับให้ตรวจ ซึ่งเป็นแรงกดทับทางเพศ และถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับการคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรม จึงอยากเสนอให้สังคมมองและยอมรับเพศที่สาม ด้วยโอกาสการทำงานและความมั่นคงก้าวหน้าในหน้าที่การงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ

 

ประชาไท : 7 ตุลาคม 2557



09/Oct/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา