ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
มีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๘๕๘๙/๒๕๕๑ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นอันใดนั้น ต้องเป็นการไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้โดยเด็ดขาดด้วย ดังนั้นการที่นายจ้างเก็บบัตรลงเวลาทำงานและไม่ให้เข้าโรงงาน จึงยังไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง
สาระสำคัญของคำพิพากษาฉบับนี้ คือ โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านทำความสะอาดภายในโรงงานจำเลย ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2548 ล. กรรมการบริษัทจำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานหลังสิ้นสุดเวลาทำงานตามปกติ เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยเก็บบัตรบันทึก เวลาทำงานของโจทก์ไว้และสั่งให้บอกโจทก์รออยู่ที่ป้อมบริเวณหน้าโรงงานในวัน ที่โจทก์มาทำงาน
ต่อมาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 โจทก์จะเข้าทำงานในช่วงเช้า แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยยังไม่ให้เข้าโรงงานแต่ให้รออยู่จนเวลา 8.40 นาฬิกา โจทก์จึงออกจากโรงงานไปปรึกษาพนักงานตรวจแรงงาน แล้วกลับเข้าไปที่โรงงานอีกครั้งในเวลาประมาณ 16 นาฬิกา พบ ส. หัวหน้าฝ่ายบุคคล ส. ขอให้โจทก์ทำงานต่อไป แต่โจทก์ไม่ตกลง ส. จึงนำใบลาออกมาให้โจทก์แต่โจทก์ไม่ลงลายมือชื่อในใบลาออกให้นั้น
การที่ ล. จะแสดงความไม่พอใจต่อโจทก์และมีคำสั่งดังกล่าวซึ่งทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้า ทำงานในโรงงานตามปกติได้ ก็เพื่อให้โจทก์รออยู่และได้พบกับ ล. ก่อน อันเป็นการใช้อำนาจทางการบริหารที่นายจ้างสามารถกระทำได้ แต่ในระหว่างที่โจทก์รออยู่นั้นโจทก์ได้ออกจากโรงงานไปเองโดยยังไม่ได้พบกับ ล.
กรณีดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่า ล. ได้บอกเลิกจ้างโจทก์หรือมีการกระทำใดที่จะไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปและไม่จ่าย ค่าจ้างให้โดยเด็ดขาด จึงไม่ใช่การเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 118 วรรคสอง
รายละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8589/2551
นางภัทรวดี โพทะนัน โจทก์
บริษัทตี้หวา เทคโนโลยี จำกัด จำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 16 วัน เป็นเงิน 2,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ค่าจ้าง 700 บาท ค่าชดเชย 15,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุก 7 วัน นับแต่วันถึงกำหนดชำระเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์และในวันเดียวกันจำเลยได้ให้โจทก์เข้าทำงานแล้ว แต่โจทก์ไม่เข้าทำงานเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,625 บาท ค่าชดเชย 15,750 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,625 บาท ร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 15,750 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 พฤษภาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าการที่นายลู่สั่งให้นางสายแดนพนักงานรักษาความปลอดภัยเก็บบัตรบันทึกเวลาทำงานของโจทก์ไว้และให้โจทก์รออยู่ที่ป้อมยังไม่ใช่กรณีที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ จึงไม่ใช่การเลิกจ้างโจทก์นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดนั้น จะต้องเป็นการไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้โดยเด็ดขาดด้วย
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านทำความสะอาดภายในโรงงานจำเลย ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2548 นายลู่ กรรมการบริษัทจำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานหลังสิ้นสุดเวลาทำงานตามปกติ เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยเก็บบัตรบันทึกเวลาทำงานของโจทก์ไว้และสั่งให้บอกโจทก์รออยู่ที่ป้อมบริเวณหน้าโรงงานในวันที่โจทก์มาทำงาน ต่อมาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 โจทก์จะเข้าทำงานในช่วงเช้า แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยยังไม่ให้เข้าโรงงาน แต่ให้รออยู่จนเวลา 8.40 นาฬิกา โจทก์จึงออกจากโรงงานไปปรึกษาพนักงานตรวจแรงงาน แล้วกลับเข้าไปที่โรงงานอีกครั้งในเวลาประมาณ 16 นาฬิกา พบนางสุพรรณี หัวหน้าฝ่ายบุคคล นางสุพรรณีขอให้โจทก์ทำงานต่อไป แต่โจทก์ไม่ตกลง นางสุพรรณีจึงนำใบลาออกมาให้โจทก์แต่โจทก์ไม่ลงลายมือชื่อในใบลาออกให้นั้น
การที่นายลู่ จะแสดงความไม่พอใจต่อโจทก์และมีคำสั่งดังกล่าวซึ่งทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าทำงานในโรงงานตามปกติได้ ก็เพื่อให้โจทก์รออยู่และได้พบกับนายลู่ก่อน อันเป็นการใช้อำนาจทางบริหารที่นายจ้างสามารถกระทำได้ แต่ในระหว่างที่โจทก์รออยู่นั้นโจทก์ได้ออกจากโรงงานไปเองโดยยังไม่ได้พบกับนายลู่ กรณีดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่านายลู่ ได้บอกเลิกจ้างโจทก์หรือมีการกระทำใดที่จะไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้โดยเด็ดขาด จึงไม่ใช่การเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง และเมื่อจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด
( จรัส พวงมณี - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - พีรพล พิชยวัฒน์ )
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...