ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
ทุกๆครั้งที่มี “แรงงานข้ามชาติ” เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่อง “ถูกนายจ้างไล่ออกหรือให้ออกจากงาน เพราะถูกตรวจพบสารเสพติดในร่างกาย” ดิฉันมักต้องย้ำกับ “แรงงาน” ในฐานะที่เป็น “ลูกจ้าง” ทุกครั้งว่า “ถึงแม้ว่าในร่างกายของเราจะมีสารเสพติด แต่มิได้หมายความว่า นายจ้างจะมีสิทธิไล่เราออกจากงานได้โดยทันที”
มี หลายกรณีที่นายจ้างใช้ข้ออ้างเรื่อง “การตรวจพบสารเสพติดในร่างกายลูกจ้าง” เป็น “ข้ออ้างในการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย” มีกรณีหนึ่งหลายปีมากมาแล้ว เคยพบในกลุ่มแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิพึงมี พึงได้ของตนเอง แต่นายจ้างกลับใช้ข้ออ้างดังกล่าวเลิกจ้างผู้นำแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้โดย ทันที รวมถึงในขณะเดียวกันได้มีการแจ้งตำรวจมาจับแรงงานกลุ่มดังกล่าวด้วยหลังตรวจ พบสารเสพติดชนิดหนึ่งในร่างกาย
นับ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 25556 เป็นต้นมา ที่กระทรวงแรงงานมีรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ “ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง” ความเข้มข้นในการตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของ “ลูกจ้างในสถานประกอบการ” ตามนโยบาย “โรงงานสีขาว” มีความเข้มข้นมากขึ้น ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า“ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง” ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติด้วยเช่นกัน
ผล จากแนวนโยบายดังกล่าว รูปธรรมหนึ่งที่พบได้ชัดเจนคือ วันนี้มีแรงงานที่ตรวจพบสารเสพติดในร่างกายได้ถูกเลิกจ้าง ถ้าหลายคนได้ติดตามข่าวสารทาง http://voicelabour.org เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 ที่ได้พาดหัวข่าวเรื่อง “นโยบายต้านยาเสพติดพ่นพิษ ลูกจ้างยานยนต์ทุกข์ถูกเลิกจ้าง ข้อหาทุจริตการตรวจปัสสาวะ”
โดย สาระสำคัญของเนื้อข่าวนี้ คือ แรงงานคนหนึ่งทำงานอยู่ในบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่งในนิคม อุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ. ระยอง ได้ปฏิเสธการเข้ารับการตรวจหาสารเสพติดเมื่อต้นเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา ผลจากการปฏิเสธดังกล่าวนั้นทำให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างด้วยข้อหาว่า “กระทำผิดวินัยร้ายแรง ฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฝ่าฝืนระเบียบบริษัทเรื่องนโยบายต้านภัยยาเสพติดปี 2556 โดยให้เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย” ทั้งนี้บริษัทแห่งนี้ไม่ได้มีการสอบสวนแรงงานคนนี้ก่อนการแจ้งให้ออกจากงานแต่อย่างใด
จาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ดิฉันหวนคิดกลับไปยังเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 ที่รัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศสงครามยาเสพติดและนำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมคนจำนวนมาก มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในสมัยนั้นที่แสดงให้เห็นชัดว่า รัฐราชการไทยในสมัยนั้นใช้อำนาจเหนือกฎหมายในการสังหารและจับกุม รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ โดยหลักฐานเหล่านั้นประกอบด้วยคำให้การของญาติผู้เสียชีวิต และคำให้การของผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตี บังคับให้สารภาพและจับกุม องค์การ Human Right Watch ระบุชัดเจนว่า นโยบายนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปไม่น้อยกว่า 3,000 ราย โดยไม่มีความผิดประจักษ์แจ้ง เพราะแม้ทางการจะระบุว่าผู้ค้ายาเสพติด คือ เป้าหมายในการทำสงครามยาเสพติด แต่ผู้เสพยาเสพติดที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดกลับถูกลงโทษ ปรามปราบอย่างหนักหน่วงมิแตกต่าง
เราคงไม่อยากเห็นภาพลักษณะนี้ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกต่อไปแล้ว....
ใน เบื้องต้นดิฉันตระหนักดีว่า ยาเสพติดเป็นปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการจัดการและแก้ไข แต่อย่างไรก็ตามในมุมกลับกัน จำเป็นอย่างที่เราก็ต้องตระหนักด้วยเช่นเดียวกันว่า คนที่ตรวจพบสารเสพติดหรือคนใช้สารเสพติดไม่สมควรถูกสังคมตีตราและเลือก ปฏิบัติไม่เลิกรา การผลักให้คนกลุ่มนี้เป็น “อาชญากร” ยิ่งสร้างให้สังคมไทยเต็มไปด้วยอคติ ความเกลียดชัง กีดกัน และนำมาสู่การเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
บ่อย ครั้งที่เรามักได้ยินข่าวว่า กรณีที่ผู้หญิงถูกจับกุมเพราะคดียาเสพติด เจ้าหน้าที่มักจะค้นตัว กระทำอนาจาร และนำไปสู่การละเมิดทางเพศติดตามมาบ่อยครั้ง ดูราวกับว่านโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐได้ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน คนที่เรามองว่า เขาเป็น “คนอื่น” ที่ต้องจัดการในฐานะ “คนไม่ดี” คำพูดบ่อยครั้งที่เราได้ยินเสมอมาคือ “สมควรแล้วที่จะต้องเป็นอย่างนั้น”
ดังนั้นเมื่อมาพิจารณากรณีของการตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของคนที่เป็น “ลูกจ้าง” ในสถานประกอบการ ดิฉันมีข้อพึงพิจารณา ดังนี้
(1) ความหมายของคำว่ายาเสพติด
เวลา กล่าวถึง “ลูกจ้างเสพยาเสพติด” ในทางกฎหมาย คำว่า “ยาเสพติด” มีความหมายตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 4 ที่ได้ให้ความหมายของคำว่า "ยาเสพติด" ว่าหมายถึง ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยในกฎหมายฉบับนี้มีการระบุชัดเจนว่าบุคคลที่ติดยาเสพติดเป็น “ผู้ป่วย” ไม่ใช่เป็นอาชญากร โดยให้โอกาสผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดผ่านระบบการบังคับเป็นเวลาติดต่อ กันได้นานถึงหกเดือนแทนการคุมขัง
(2) อำนาจของนายจ้างในการตรวจหาสารเสพติด
ตามหลักกฎหมายประเทศไทยการตรวจหาสารเสพติดจะทำได้เพียง 2 วิธีการเท่านั้น คือ
(2.1) การตรวจโดยเจ้าพนักงาน ซึ่งกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 สำหรับวิธีการตรวจหรือทดสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
(2.2) การตรวจสารเสพติดโดยคำสั่งศาล โดยศาลมีคำสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดในร่างกายของบุคคลที่ต้องหา ว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
ดัง นั้นกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ให้อำนาจนายจ้างตรวจสารเสพติดในตัวลูกจ้างได้ แม้ในเบื้องต้นนายจ้าง คือ เจ้าของกิจการที่มีอำนาจในการบริหารกิจการของตนให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ได้ทุกวิธีตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายห้าม อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องพิจารณาว่าคำสั่งในการตรวจหายาเสพติดของนายจ้างนั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ เคยให้ความเห็นไว้ว่า คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างนั้นต้องมีลักษณะดังนี้
- เป็นคำสั่งที่ออกโดยผู้มีอำนาจ ซึ่งก็คือ นายจ้าง หากบุคคลที่ไม่มีฐานะเป็นนายจ้างหรือไม่ได้รับมอบอำนาจจากนายจ้าง คำสั่งนั้นจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและลูกจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้อง ปฏิบัติตาม
- เป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของลูกจ้างเท่านั้น เช่น การที่นายจ้างมีระเบียบห้ามลูกจ้างเสพของมึนเมาในโรงงานเป็นคำสั่งที่ชอบ การกำหนดให้ลูกจ้างห้ามดื่มสุราขณะทำหน้าที่ขับรถยนต์เพราะอาจเกิด อุบัติเหตุได้ เป็นคำสั่งที่ชอบ
- เป็นคำสั่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือสัญญาจ้างแรงงานที่มีอยู่ ไม่ขัดต่อสิทธิส่วนบุคคลของลูกจ้าง และต้องเป็นคำสั่งที่เป็นธรรม เช่น ข้อบังคับที่กำหนดให้ลูกจ้างที่ติดเชื้อ HIV ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบ ถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตราบใดที่ลูกจ้างยังคงสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงาน และไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของนายจ้าง การออกข้อบังคับดังกล่าวเป็นการกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของลูกจ้างที่ไม่ เกี่ยวข้องกับการทำงาน และเป็นการล่วงล้ำสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของลูกจ้างที่ได้รับการรับรองตาม รัฐธรรมนูญอีกด้วย
ดังนั้นแม้ว่านายจ้างจะมีอำนาจบังคับบัญชาและมีอำนาจออกคำสั่งให้ลูกจ้างต้อง ปฏิบัติตามได้ก็ตาม แต่สำหรับคำสั่งให้ลูกจ้างตรวจหาสารเสพติดนั้น เนื่องจากการจะตรวจสารเสพติดในร่างกายของบุคคลได้นั้นต้องมีกระบวนการได้มา ซึ่งตัวอย่าง เช่น เลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่ง เพื่อเป็นวัตถุแห่งการทดสอบก่อน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจเป็นการล่วงล้ำสิทธิในร่างกายของบุคคล
รวมถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวอันเป็นสิทธิที่มีการรับรองและคุ้มครองตามรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 35 ซึ่งบัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณ ชนอันเป็นการละเมิด หรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ" ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสารเสพติดเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปตามระบบกฎหมายของไทย การให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ผู้ให้ข้อมูลจะต้องให้ความยินยอมด้วย
ดังนั้นการที่นายจ้างจะบังคับตรวจสารเสพติดในร่างกายลูกจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอมนั้นย่อมเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของลูกจ้างและไม่ สามารถกระทำได้ และแม้ว่าลูกจ้างจะให้ความยินยอม ก็มีคำถามว่าลูกจ้างจะสามารถสละสิทธิที่ตนมีตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพราะในหลายครั้งก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายจ้างได้มีการออกคำสั่งที่มีผล กระทบต่อสิทธิส่วนตัวของลูกจ้างได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งของนายจ้างที่ให้ลูกจ้างต้องเข้ารับการตรวจสารเสพติดดังกล่าวเป็นคำ สั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากเป็นคำสั่งที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควรแล้วนั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 14/1 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คำสั่งของนายจ้างดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้เท่าที่เป็น ธรรมและพอสมควรแก่กรณีด้วยเช่นเดียวกัน
อ่านต่อในตอนที่ 2 ได้ที่นี่ กดที่นี่ครับ อ่านตอนที่ 2
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...