ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ตัวอย่างบริษัทที่ไม่ควรทำงานด้วย

ผมเพิ่งไปบรรยายหลักสูตร Public Training ให้กับบริษัทจัดฝึกอบรมแห่งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ และมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ประสานงานฝึกอบรมของบริษัท เธอเล่าให้ฟังว่า...เมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้เธอเพิ่งจบปริญญาตรีมาหมาด ๆ และได้ไปทำงานกับบริษัทที่ทำธุรกิจเครื่องหนังส่งออกมียี่ห้อแห่งหนึ่งแถว ๆ สุขุมวิท ซึ่งทำได้ประมาณเดือนครึ่งก็ตัดสินใจลาออก

"ทำไมถึงลาออกเร็วนักล่ะ ?" ผมถามด้วยความอยากรู้

เธอจึงเล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่ลาออก เพราะบริษัทดังกล่าวมีการปฏิบัติต่อพนักงานใหม่อย่างเธอ ดังนี้

1.บริษัทรับเข้าทำงานตำแหน่งพนักงานประจำสำนักงานดูแลงานธุรการทั่วไปในสำนักงาน แต่บริษัทมีเงื่อนไขว่าจะต้องหักเงินค้ำประกันความเสียหายในการทำงาน 3,000 บาท โดยหักจากเงินเดือนในเดือนแรกเต็มจำนวน

2.เธอเซ็นสัญญาจ้างใน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการสำนักงานกับบริษัท เวลาทำงาน 08.00-17.00 น. เมื่อเธอขอสำเนาสัญญาจ้าง ฝ่ายบุคคลปฏิเสธไม่ยอมให้สัญญาจ้าง และบอกว่าสัญญาจ้างเป็นความลับต้องเก็บไว้ที่บริษัท

3.เมื่อทำงานไป ประมาณเกือบเดือน ผู้บริหารก็สั่งให้เธอไปออกงานอีเวนต์ขายกระเป๋า, เครื่องหนังของบริษัทที่ศูนย์แสดงสินค้าชื่อดังแถว ๆ แจ้งวัฒนะ ซึ่งไกลจากที่ทำงาน (แถวสุขุมวิท) แถมไปขายเกินเวลาจนถึงประมาณสี่ทุ่มโดยบริษัทไม่ได้มีการจ่ายค่าล่วงเวลา และบอกว่าเป็นงานที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำ

ถ้าไม่ทำจะถือว่าขัดคำสั่งของบริษัท สรุปคือให้ไปขายสินค้าให้กับบริษัท 5 วันไม่ได้โอทีเลยแม้แต่วันเดียว แถมไม่มีค่าพาหนะเดินทางอะไรให้เลย

4.หลังจากขายของครบ 5 วันแล้วไม่ได้โอที เธอจึงตัดสินใจลาออก ซึ่งก็เขียนใบลาออกส่งให้กับหัวหน้า แต่หัวหน้าบอกว่าไม่อนุมัติการลาออก โดยอ้างว่าตามระเบียบของบริษัทจะต้องให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติเสีย ก่อนถึงจะลาออกได้ ดังนั้น ถ้าเธอจะลาออกบริษัทจะยึดเงินค้ำประกันการทำงาน 3,000 บาท เพราะถือว่าทำให้บริษัทเสียหายหาคนมาแทนไม่ทัน

เป็นไงบ้างครับ เรื่องจริงจากชีวิตจริงของคนทำงานที่เพิ่งจบใหม่ ??

แต่น้องคนนี้แกก็ตัดสินใจลาออก โดยยอมให้บริษัทยึดเงินค้ำประกัน 3,000 บาท นะครับ เพราะเชื่อที่บริษัทบอกว่าบริษัทมีสิทธิ์หักได้ แต่แกถามผมว่า...ที่จริงแล้วบริษัทมีสิทธิ์จะยึดเงินค้ำประกันไว้ตามระเบียบ ที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่ ?

จากเรื่องจริงที่ผมเล่ามานี้เป็น อุทาหรณ์ที่ผมอยากจะนำมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ (รวมถึงบอกให้น้องคนนี้ได้ทราบ) สิ่งที่ถูกต้องดังนี้ครับ

1.บริษัทไม่มีสิทธิ์ที่จะหักเงินค้ำประกันการทำงานตั้งแต่แรกแล้วนะครับ เพราะตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) ปี 2551 ระบุไว้ในมาตรา 10 ระบุไว้ชัดเจนว่า "....ห้ามมิให้นายจ้างเรียก หรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะ หรือสภาพงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้...."

จะเห็นได้ว่ากรณีของน้องคนนี้เธอไม่ได้ทำงานที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ หรือทรัพย์สินของบริษัทอะไรเลย

ดังนั้น ถ้าท่านไปสมัครงาน และบริษัทนั้นเรียกเงินค้ำประกัน (หรือแม้แต่จะให้หาคนมาค้ำประกัน) ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงิน หรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ผมว่าท่านควรคิดดูให้ดี ๆ ว่าเราควรจะทำงานกับบริษัทที่ส่อเจตนาทำผิดกฎหมายแรงงาน และเอาเปรียบพนักงาน ตั้งแต่แรกแบบนี้หรือไม่

2.สัญญาจ้างงานไม่ใช่ความลับตามที่ฝ่ายบุคคล (ซึ่งผมมั่นใจว่าต้องไม่ใช่ฝ่ายบุคคลมืออาชีพอย่างแน่นอน เพราะคนที่เป็นมืออาชีพ HR จะต้องไม่พูดอย่างนี้) กล่าวอ้าง ซึ่งหากเป็นมืออาชีพควรจะให้สำเนาสัญญาจ้างกับพนักงานใหม่ด้วย เพื่อยืนยันเงื่อนไขสภาพการจ้างอย่างโปร่งใสชัดเจน ซึ่งผมไม่เห็นว่าการให้สำเนาสัญญาจ้างกับพนักงานใหม่จะเป็นเรื่องลับอะไรเลย

3.การที่บริษัทสั่งให้ไปทำงานออกอีเวนต์ จนเลยเวลาทำงานปกติแล้วไม่ให้ค่าล่วงเวลาก็ผิดกฎหมายแรงงานอีกด้วย แถมยังมาอ้างว่าถ้าไม่ไปทำจะถือว่าขัดคำสั่งบริษัท กรณีนี้หากไม่ไปทำงานออกอีเวนต์ก็ไม่ถือว่าขัดคำสั่งนายจ้างนะครับ เพราะงานของน้องคนนี้เป็นงานธุรการทั่วไปไม่มีหน้าที่ไปออกอีเวนต์ขายของ ซึ่งเป็นงานของฝ่ายขายครับ

ผมถึงบอกว่าคนที่ทำฝ่ายบุคคลบริษัทแห่ง นี้คงเป็นใครสักคนที่บริษัทเป็นคนอุปโลกน์ให้ว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลแบบกลวง ๆ ที่ไม่ใช่มืออาชีพ ซึ่งคนพวกนี้แหละครับที่ทำให้พนักงานอื่น ๆ มองคนที่ทำงานฝ่ายบุคคลในแง่เสียหาย

มองว่า HR เป็นพวกที่ชอบเอาเปรียบพนักงาน พวกบ้าอำนาจ ฯลฯ

ซึ่งผมว่าท่านที่เป็น HR มืออาชีพควรจะต้องนำกรณีที่ผมเล่ามานี้เพื่อเตือนใจตัวเองไม่ให้มีพฤติกรรมทำนองนี้ด้วยนะครับ

4. ผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า "การลาออกเป็นสิทธิ์ของลูกจ้าง" เมื่อพนักงานยื่นใบลาออก และระบุว่าการลาออกจะมีผลตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ การลาออกจะมีผลตามวันที่ระบุไว้ โดยไม่ต้องรอว่านายจ้างจะอนุมัติหรือไม่ (แต่การเป็นพนักงานที่ดีก็ควรทำตามระเบียบบริษัทซึ่งส่วนใหญ่ก็จะให้ยื่น ล่วงหน้า 30 วัน)

แต่กรณีบริษัทที่มีพฤติกรรมแบบนี้ที่มาอ้างว่าการลาออกต้องทำตามระเบียบคือให้ผู้บริหารอนุมัติเสียก่อนถึงจะลาออกได้ อ้างแบบนี้ก็ผิดแล้วล่ะครับ แถมมายึดเงินค้ำประกันไว้ 3,000 บาทไม่ยอมจ่ายคืนเสียอีก

ทั้ง ๆ ที่พนักงานก็ไม่ได้ทำอะไรให้บริษัทเสียหายเลย

ผมบอกน้องคนนี้ไปว่าถ้าไปร้องเรียนกับแรงงานเขตพื้นที่หรือไปฟ้องศาลแรงงานล่ะ ได้คืนแน่ ๆ แถมยังจะได้ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดชำระอีกร้อยละสิบห้าต่อปีต่างหาก แต่น้องเขาก็บอกว่าไม่อยากเสียเวลาไปศาล ก็เลยปล่อยให้บริษัทขี้โกงรายนี้เอาเปรียบลูกจ้างหน้าใหม่รายอื่นอีกต่อไป

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ เพื่ออยากจะฝากข้อเตือนใจถึง HR มืออาชีพทุกท่านได้ทราบไว้เป็นข้อคิด และเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นจะต้องให้ความรู้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัททราบด้วยว่าการ กระทำอะไรบ้างที่ผิดกฎหมายแรงงานเป็นการเอาเปรียบพนักงาน

อะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้หรือไม่ควรทำ ฯลฯ

เพราะหากทำไปแล้ว จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกในทางลบกับบริษัท หรือจะเกิดปัญหากับบริษัทในอนาคต ซึ่งการเป็น HR มืออาชีพจำเป็นจะต้องกล้าพูดความจริง และทำในสิ่งที่ถูกต้องครับ

 

 

ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 27 ธ.ค. 2557 คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

 



28/Dec/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา