ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
หลากหลายข้อสงสัยจากสังคมเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอเป็นตัวแทนรวบรวมคำถามต่างๆ มาพูดคุยหาคำตอบกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย และเรื่องการทารุณสัตว์โดยตรง
พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นั้น เดิมมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 381 กับ 382 ซึ่งมีโทษที่เบาบางมาก จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ขณะที่ ในกลุ่มคนรักสัตว์เห็นว่าการลงโทษได้ผลน้อยเกินไป อีกทั้งยังทำให้สถิติการทารุณกรรมสัตว์เพิ่มมากขึ้น จึงมีการรวบรวมรายชื่อเสนอขอให้มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงขึ้นมา
แค่ไหนถึงเรียกว่า การทารุณกรรมสัตว์ !
ตามที่ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นั้น ได้ให้นิยามความหมายของ “การทารุณกรรม” คือ การกระทําหรืองดเว้นการกระทําใดๆ ที่ทําให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทําให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กําลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทํางานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทํางานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ
นายนิวัต แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า การรังแก ทุบตี ทำร้าย หรือกระทำการอื่นให้สัตว์ได้รับความทรมานหรือตาย ใช้ยา สารอันตรายให้สัตว์ทรมานหรือตาย กักขังไว้ในที่แคบ และการใช้งานสัตว์ที่ป่วยแล้วไม่รักษา หรือการใช้สัตว์ในการประกอบกิจการต่างๆ ที่เป็นการทารุณ รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ หรือนำสัตว์ไปแสดงร่วมเพศถือว่าเป็นการทารุณสัตว์ด้วย
การทำหมันให้สุนัข-แมว ไม่ถือเป็นการทำร้ายจิตใจ !
นายชัยชาญ เลาหศิริปัญญา เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การทำหมันสัตว์ จะมีการวางยาเพื่อไม่ให้สัตว์เกิดความเจ็บปวด ไม่ให้ทรมาน เมื่อสัตว์ตื่นขึ้นมาก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกเครียด ไม่ได้เป็นการทำร้ายจิตใจสัตว์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การทำหมัน เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและมีมนุษยธรรมวิธีเดียว ที่จะสามารถแก้ต้นตอปัญหาการเพิ่มจำนวนของสุนัข-แมว และลดความทุกข์ทรมานได้
ป้องกันตัวจากสัตว์ทำร้าย ผิดไหม ?
ในกรณีที่ถ้าสัตว์เข้ามาทำร้ายคน จะสามารถป้องกันตัวหรือฆ่าสัตว์ได้หรือไม่นั้น เลขาธิการสภาทนายความ อธิบายว่า ตาม พ.ร.บ. มาตรา 21 (6) ให้ทำได้ ถ้าการฆ่านั้นเพื่อป้องกันตัวเองหรือป้องกันสัตว์อื่นๆ หรือสัตว์เข้ามาทำลายทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ทำเกินสมควรกว่าเหตุ เช่น สุนัขนอนอยู่ริมถนนเมื่อเดินผ่านไปมันก็เห่า แต่เรากระทืบเท้าใส่มันวิ่งหนีไปแล้ว และยังจะไปไล่ตีแบบนี้ถือว่าทารุณ
ให้อาหารสุนัขจรจัดเป็นประจำ แต่สุนัขดันไปทำร้ายคนอื่น ต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ?
นายนิวัติ เผยว่า กฎหมายใช้คำว่า ‘ผู้ใดครอบครองและเลี้ยงดู’ ต้องดูว่าเลี้ยงดูเป็นประจำหรือไม่ ถ้าผ่านไปเป็นครั้งคราวแวะให้อาหารก็ยังพอที่จะปฏิเสธได้ แต่ถ้าก่อนไปทำงานเอาข้าวมาให้สุนัขตรงนี้กินทุกวัน ตอนเย็นก่อนกลับบ้านแวะเอามาให้กินมื้อเย็นอีก แบบนี้ก็จะเข้าหลักลักษณะเลี้ยงดู
“กฎหมายใช้คำว่า ‘ผู้ใดครอบครอง’ มันก็ต้องไปตีประเด็นว่าขนาดไหนถือว่าเป็นการครอบครองสัตว์ ไม่ได้ใช้คำว่าเลี้ยงดูเป็นอาจิณ กฎหมายมันยังไม่ชัดเจน ผมเองก็ไม่กล้าฟันธง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าพื้นที่ตรงนี้มีใครมาให้อาหารเป็นประจำ” เลขาธิการสภาทนายความ กล่าว
ขณะที่ เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับเรื่องดังกล่าวว่า ผู้ที่ให้อาหารสุนัขจรจัดทั้งที่ไม่ใช่เจ้าของ ถือเป็นความมีเมตตา แต่อย่าไปทำให้ชุมชนเดือดร้อน เลอะเทอะ จะทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนได้ เมื่อสุนัขไปทำร้ายคนอื่น ความผิดจะไม่ได้อยู่กับคนที่ให้อาหาร
“หากการที่คนไปให้อาหารสัตว์และต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่สัตว์ได้กระทำกับ คนอื่นๆ นั้น คนก็คงไม่กล้าให้อาหาร เพราะกลัวจะเป็นคนรับผิดชอบ สุนัขตามข้างถนนคงผอมแห้ง อดตาย ซึ่งคิดว่าประเทศไทยคงไม่มีทางจะปล่อยให้สัตว์เป็นแบบนั้น” นายชัยชาญ กล่าว
โดนสุนัขจรจัดกัด จะเรียกร้องกับใครได้บ้าง ?
นายนิวัติ มองว่า ฝ่ายปกครองน่าจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ เนื่องจากว่าเป็นหน้าที่ของเทศบาลในเมืองนั้นๆ ที่จะต้องสอดส่องดูแลไม่ให้สุนัขจรจัดก่อความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน รวมไปถึงดูแลในสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อประชาชน
ด้าน นายชัยชาญ กล่าวว่า ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยการเรียกร้องค่าเสียหายที่โดนสุนัข ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์หาเจ้าของได้ทำร้ายร่างกายคน เนื่องจากยังไม่มีเคสดังกล่าวเกิดขึ้น จึงไม่สามารถระบุได้ว่าต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายกับใคร แต่เชื่อว่าในอนาคตเมื่อมีกรณีเช่นนี้ อาจจะต้องให้คณะกรรมการพิจารณาข้อกฎหมายนี้บัญญัติลงไปเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ นายชัยชาญ แนะนำว่า คนควรหาวิธีป้องกันตัวเองจากสัตว์ก่อน
หลังคลอด ก.ม.คุ้มครองสัตว์ คนร้องเรียนมากขึ้น !
นายชัยชาญ ระบุว่า หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ นั้น อัตราการลดจำนวนลงของการทารุณกรรมสัตว์ยังไม่ชัดเจน เพราะเพิ่งประกาศใช้ได้ไม่นาน ประชาชนที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้ยังมีอีกเยอะ ส่วนในอนาคตคิดว่าน่าจะลดลง ขณะเดียวกัน ทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น และทำให้ประชาชนได้เกิดความตระหนักก่อนที่จะลงมือทำร้ายสัตว์ ส่วนคนเลี้ยงก็เกิดความยับยั้งชั่งใจว่าถ้ารับมาเลี้ยงแล้วจะต้องดูแลอย่าง ดี ซึ่งก็อาจทำให้อัตราการเลี้ยงสัตว์ลดจำนวนลงอีกด้วย
อนาคต จ่อ จดทะเบียนเจ้าของสัตว์ !
นอกจากนี้ นายชัยชาญ เผยว่า ในอนาคตอาจจะมีกฎหมายให้จดทะเบียนเป็นเจ้าของสัตว์ เหมือนกับจดทะเบียนรถยนต์ โดยใช้ทะเบียนบ้าน พร้อมกับบัตรประชาชน มาจดทะเบียน ทั้งสัตว์เลี้ยงตัวเก่าและตัวใหม่ เพื่อจะได้ทราบตัวเจ้าของและจะทำให้อัตราการทอดทิ้งสัตว์ลดน้อยลง
พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ มีช่องโหว่บ้างหรือไม่ ?
“กฎหมายฉบับนี้ มีการกลั่นกรองจากผู้รู้มาเยอะพอสมควร ฉะนั้น ส่วนใหญ่ทั้งสัตว์และคนจะได้อานิสงส์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขณะนี้ยังมองไม่เห็นช่องว่าง หากในอนาคตถ้าเกิดประสบเหตุใดๆ ขึ้นมา ศาลมีการตัดสินโทษก็อาจจะมีบัญญัติข้อกฎหมายเพิ่มเติม สำหรับการตั้งบทลงโทษที่ค่อนข้างสูงนั้น มีไว้สำหรับคนที่มีเจตนาในการกระทำทารุณต่อสัตว์จริงๆ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขอให้มองด้วยความเป็นธรรมว่าถ้าไม่ได้มีจิตใจโหดร้ายทารุณ กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่สามารถเอาผิดคุณได้” เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ระบุ
และทั้งหมดนี้คงเป็นคำตอบของสังคมที่พูดถึง 'การเตะหมา โทษหนักกว่าการเตะคน' ว่าแท้ที่จริงแล้วนั้น ออกกฎหมายมาเพื่อเอาผิดกับคนที่มีเจตนา และมีจิตใจโหดเหี้ยมคิดจะทำร้ายสัตว์จริงๆ สุดท้ายนี้โปรดอย่าลืมว่า 'สัตว์พูดไม่ได้!'
โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 27 ม.ค. 2558
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...