ลูกจ้างใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทเล่นอินเตอร์เน็ต พูดคุยหรือ chat ในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน นายจ้างสามารถไล่ออกได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
วิเคราะห์จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2557 พบว่า
(1) นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ถ้าเล่นอินเตอร์เน็ตในเวลาทำงาน โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย (ถ้าเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541)
(2) ถ้านายจ้างมีการเตือนเป็นหนังสือแล้ว แล้วทำผิดซ้ำคำเตือนอีกภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดครั้งแรก นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
(3) แม้เป็นการเล่นอินเตอร์เน็ตครั้งแรก ก็สามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ ถ้าการเล่นอินเตอร์เน็ตดังกล่าวนั้น ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง เช่น ทำให้ไฟไหม้ ทำให้รถชน ทำให้ทรัพย์สินของนายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นต้น
(4) ถ้ากรณีเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรง และไม่เคยได้รับหนังสือเตือนจากนายจ้างมาก่อน ถ้าลูกจ้างทำงานมาครบเกณฑ์เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง เพราะไม่เข้าเหตุตามมาตรา 119 (อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985/2527)
สาระสำคัญของคำพิพากษาฉบับนี้ คือ
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า
- โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท จ่ายทุกวันที่ 30 ของเดือน มีระยะเวลาทดลองงาน 3 เดือน
- ในระหว่างระยะเวลาทดลองงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ให้มีผลทันที
- เนื่องจากในเวลาทำงานโจทก์ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย เล่นอินเตอร์เน็ตพูดคุยในเรื่องส่วนตัวและบันทึกข้อความทางอินเตอร์เน็ตเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมงก็มี ตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6
- ถือได้ว่าโจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยไปในเรื่องไม่เกี่ยวกับงาน ทั้งที่อยู่ในระหว่างทดลองงาน แทนที่จะทุ่มเททำงานให้จำเลยอย่างเต็มที่ โจทก์ทำงานด้านบัญชีจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้นจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้
- กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำประการอื่น ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
- จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าสินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
- การที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยทำในเรื่องส่วนตัวย่อมจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
- จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์เช่นกัน
โจทก์อุทธรณ์ประการที่ 1 ว่า
- การกระทำของโจทก์ไม่ถึงกับเป็นการกระทำประการอื่น อันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
- เนื่องจากโจทก์มิได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง และจำเลยไม่ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวระบุเพียงว่า ถ้าลูกจ้างทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดย ถูกต้องและสุจริต นายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเท่านั้น หาได้ขยายความไปถึงกับว่าเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นการ กระทำความผิดอย่างร้ายแรงแต่อย่างใดไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
- ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจ ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าพฤติกรรมของโจทก์ทำให้ จำเลยเสียหายได้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ประการที่ 2 ว่า
- หนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.10 ระบุเหตุเลิกจ้างว่า การปฏิบัติงานของโจทก์ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้
- การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในเรื่องส่วนตัว เป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง จึงเป็นการกระทำประการอื่นไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เป็นคำวินิจฉัยฟ้องนอกประเด็น
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
- บทบัญญัติมาตราดังกล่าว มิได้ห้ามมิให้นายจ้างยกเหตุอื่นขึ้นอ้างในภายหลัง นอกจากเหตุที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง มาเป็นข้อต่อสู้ในกรณีเลิกจ้าง โดยไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิก จ้างที่ไม่เป็นธรรม
- การที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในเรื่องส่วนตัว เป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง ย่อมเป็นเหตุให้งานในหน้าที่บกพร่องและล่าช้า ต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยต้องการและไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้
- ถือว่าจึงเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต เหตุดังกล่าวก่อให้เกิดผลเชื่อมโยงกัน มิใช่เรื่องฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
- คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อ่านคำพิพากษา 2564/2557 ทั้งฉบับ click ตรงนี้ครับ
ทั้งนี้พบว่าก่อนที่จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2557 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2557 นั้น เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2552 ที่สาระสำคัญพูดถึง “การเล่นอินเตอร์เน็ตในเวลาทำงานเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว” มาก่อนแล้ว และคำพิพากษาที่ 2564/2557 ก็ได้เดิมตามบรรทัดฐานดังกล่าว
โดยสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2552 ระบุไว้ว่า
- โจทก์ (ลูกจ้าง) ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพ่วงกับอุปกรณ์ของจำเลย (นายจ้าง) ในเวลาทำงาน เพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยแล้ว ยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย
- เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีก จนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
- จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
- ตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
- จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์
- ส่วนค่าชดเชยจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญา หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจึงจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม
รายละเอียดคำพิพากษาทั้งฉบับมีดังนี้ครับ
โจทก์ (ลูกจ้าง) ฟ้องว่า
- เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน
- ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้ปิดประการเลิกจ้างโจทก์ที่ทางเข้าบริษัท โดยไม่ได้ระบุเหตุผลและโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า
- โจทก์ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 31,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน 28 วัน เป็นเงิน 20,300 บาท อีกทั้งจำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2549 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 รวม 8 วัน เป็นเงิน 2,800 บาท
- การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 2,800 บาท กับค่าชดเชยจำนวน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 20,300 บาท กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย (นายจ้าง) ให้การว่า
- โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพ่วงกับอุปกรณ์ของจำเลย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพูดคุยทางคอมพิวเตอร์ในเวลาทำงานเป็นประจำ อันเป็นข้อห้ามของจำเลย และออกไปติดต่อทำการค้าขายในกิจการส่วนตัวกับบุคคลภายนอกโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ
- จำเลยได้ตักเตือนเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวในที่ประชุมแล้ว แต่โจทก์ยังคงประพฤติปฏิบัติเช่นเดิม
- จำเลยจึงมีหนังสือตักเตือนโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 หลังจากนั้นโจทก์ได้กระทำความผิดอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549
- จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย
- เป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า
- ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 1,050 บาท และค่าชดเชยจำนวน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างและค่าชดเชยดังกล่าว กับให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 20,300 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 21,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายดังกล่าว โดยให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
ประการที่ 1 ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
- เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการและบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน
- ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.7 โดยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้
- ฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า จดหมายเตือนเอกสารหมาย ล.4 ที่มีข้อความว่า “ด้วย น.ส. นงลักษณ์ พนักงานประจำของบริษัท ยูนิฟาย พรีเซนเทชั่น จำกัด ได้กระทำการหรือปฏิบัติหน้าที่การงานซึ่งผิดจากข้อบังคับของบริษัทฯ และคำสั่งการของผู้บริหาร โดยกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บริหารและจงใจทำให้บริษัทฯ เกิดความเสียหายโดยใช้ Computer Note Book ซึ่งมีงานส่วนตัวมาพ่วงต่อกับอุปกรณ์ของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงาน
- และมักออกไปติดต่อบุคคลภายนอกบริษัทฯ เพื่อทำการค้าขายผลประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงานโดยไม่แจ้งให้ผู้บริหารหรือหัวหน้าทราบอยู่เสมอ มีการค้าขายสินค้าส่วนตัวและทำการพูดคุยทางคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่า Chat ภายในเวลาทำงานของบริษัทฯ เป็นประจำทุกวัน ซึ่งเป็นข้อห้ามของทางบริษัทฯ อย่างรุนแรง และเป็นคำสั่งห้ามจากทางผู้บริหารโดยติดประกาศเตือนและแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบในที่ประชุมแล้วทุกครั้ง
- ซึ่งการตักเตือนของทางผู้บริหาร ได้ทำการตักเตือนในที่ประชุมบริษัทฯ แล้วถึง 5 ครั้ง โดยระบุถึง น.ส. นงลักษณ์ โดยเฉพาะด้วย แต่ก็ยังคงปฏิบัติผิดกฎระเบียบและคำสั่งผู้บริหารของบริษัทฯ เช่นเดิม...” นั้น
- โจทก์ไม่ทราบหนังสือตักเตือนดังกล่าวมาก่อน และวินิจฉัยว่าความผิดที่ตักเตือนดังกล่าว มิใช่ความผิดกรณีร้ายแรงที่นายจ้างเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องตักเตือน
ประการที่ 2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย ที่ศาลฎีกาสั่งให้รับไว้พิจารณาว่า
- จำเลยมีหนังสือเลิกสัญญาจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.7 โดยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ จำเลยมีสิทธิยกเหตุผลซึ่งมิได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างขึ้นอ้าง เพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่
- เห็นว่า การพิจารณาว่าจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่เพียงใด นั้น จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี
- บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุผลแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้
- ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย
- ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลัง เพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้
- อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
ประการที่ 3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย ที่ศาลฎีกาสั่งให้รับไว้พิจารณาว่า
- การกระทำของโจทก์ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงาน เพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก โดยใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์ของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
- จำเลยได้ตักเตือนและสั่งห้ามโจทก์ในที่ประชุมบริษัทฯ แล้ว 5 ครั้ง นั้นเป็นการกระทำที่จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด
- เห็นว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป
- การที่โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้ว ยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย
- เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง
- ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
- จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
- ตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าว นอกจากจะแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเบียดบังเวลาทำงานของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น
- จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อีกเช่นกัน
- ส่วนค่าชดเชยนั้นจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในสัญญา หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง
- จำเลยจึงจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ตามหนังสือบอกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
- อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
บทสรุป
- พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
- นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
(ผู้พิพากษา ได้แก่ ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - มานัส เหลืองประเสริฐ )
กฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การไล่ออกโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทน
มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง และสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ ได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
การบอกกล่าวล่วงหน้า
มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย
การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนด ที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้
การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การเลิกจ้างที่ต้องจ่ายค่าชดเชย
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้ รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้ รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุ ที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะ ที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำ สัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
การเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
กรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
10/Feb/2015