ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

แม้จะเป็นการเลิกจ้างเพราะสิ้นสุดสัญญาจ้างตามที่กำหนดเวลาไว้แน่นอนแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม แต่นายจ้างก็ยังต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่ดี

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่   7335/2549 ระหว่างโจทก์ คือ นายวัชรา ขนอม และจำเลย คือ บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับพวก    

 

สาระสำคัญของคำพิพากษา ระบุไว้ว่า

 

  • ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อไปอีก ถือว่าเลิกจ้าง ณ วันสิ้นสุดสัญญานั้น มิได้มีการแจ้งเหตุเลิกจ้างอื่นนอกไปจากนี้ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง มิได้ยกเหตุเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

 

  • วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์กระทำความผิดโดยทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ซึ่งเป็นเหตุเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์

 

 

  • จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ตามมาตรา 17 วรรคสาม

 

  • ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยประเด็นตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยชอบแล้ว

 

  • ข้อยกเว้นที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นอกจากต้องเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว ต้องเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่

 

  • จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์เพียงว่าสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่แน่นอน และจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น โดยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยที่ 1 หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาล

 

  • ดังนั้นไม่ว่าจะวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ไปในทางใด ก็ไม่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป

 

  • จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

 

โดยมีรายละเอียดคำพิพากษา ดังนี้

 

โจทย์ให้การว่า

 

  • โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

 

  • เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2543 จำเลยทั้งสามได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวทำหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน โดยจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์รวม 5 ครั้ง แต่ละครั้งกำหนดระยะเวลาจ้างไม่เท่ากัน ในการต่อสัญญาแต่ละครั้งจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน

 

  • ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์อ้างว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลง โดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 60 วัน เป็นเงิน 18,000 บาท และมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 27,000 บาท

 

  • แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมจ่ายให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก ๆ 7 วัน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 192,731.06 บาท

 

  • และเนื่องจากสัญญาจ้างทั้ง 5 ฉบับ จำเลยได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาตามความต้องการของจำเลย และยังสงวนสิทธิในการเลิกจ้างโดยปราศจากเงื่อนไข อีกทั้งยังระบุในสัญญาจ้างว่าถ้าจำเลยเลิกจ้างจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย เป็นสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบลูกจ้างไม่เป็นธรรม ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่สามารถบังคับโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ยังสามารถทำงานให้จำเลยได้จนกว่าอายุ 60 ปี หรือมากกว่า ขอคิดค่าเสียหาย 362 เดือน เป็นเงิน 3,258,000 บาท

 

  •  โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยก่อนฟ้องรวมเป็นเงิน 219,741.06 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก ๆ 7 วัน นับถัดจากวันฟ้อง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 18,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 3,258,000 บาท แก่โจทก์ด้วย

 

  • ระหว่างการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

 

 

จำเลยให้การว่า

 

 

  • จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวมีลักษณะงานเป็นการครั้งคราวไม่ประจำ เป็นงานโครงการเปรียบเสมือนเป็นไปตามฤดูกาล เป็นภาวะมีความจำเป็นต้องว่าจ้างโจทก์ มีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ไม่แน่นอน

 

  • ดังนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามข้อตกลงในสัญญา เป็นการเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างและไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ย

 

  • ขณะทำงานโจทก์กระทำความผิดโดยทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 เคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง

        

ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า

 

  • ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 27,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย

 

 

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า

 

  • ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2543 โดยทำสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาต่อเนื่องกันตลอดมารวม 5 ฉบับ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน เมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อไปอีกถือว่าเลิกจ้าง ณ วันสิ้นสุดสัญญานั้น

 

  • โดยหัวหน้าฝ่ายเร่งรัดหนี้สินได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าประมาณ 3 วัน ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต่อสัญญาอีก มิได้มีการแจ้งเหตุเลิกจ้างอื่นนอกไปจากนี้

 

  • ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ลักษณะงานที่จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทำเป็นงานอันเกิดขึ้นตามปกติของธุรกิจของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องมีอยู่ตลอดระยะเวลาที่ยังคงประกอบธุรกิจอยู่ เพียงแต่ต้องจ้างโจทก์เพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราวก็เนื่องจากจะเร่งฟ้องลูกหนี้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพนักงานประจำเท่านั้น

 

  • ทั้งปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 1 ยังได้ทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาต่อเนื่องกันรวมสัญญา 5 ฉบับ งานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงมิใช่งานในโครงการเฉพาะที่มีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน ไม่มีลักษณะเป็นครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่

 

  • สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีกำหนดระยะเวลา เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

 

  • เมื่อเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์

 

  • สำหรับค่าชดเชยนั้นเมื่อวินิจฉัยแล้วว่างานที่จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์มิใช่งานโครงการเฉพาะที่มีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน ไม่มีลักษณะครั้งคราว หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาลที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118

 

  • จำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างมิได้ยกเหตุเลิกจ้างตามมาตรา 119

 

  • แม้สัญญาจะมีข้อตกลงว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาตามระยะเวลาที่ระบุไว้ ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

 

  • แต่เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

 

  • จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชย

 

  •  จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์กระทำความผิดโดยทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือไม่ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

  • เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อไปอีก ถือว่าเลิกจ้าง ณ วันสิ้นสุดสัญญานั้น มิได้มีการแจ้งเหตุเลิกจ้างอื่นนอกไปจากนี้

 

  • แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง มิได้ยกเหตุเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

 

  • ดังนี้ เป็นการวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์กระทำความผิดโดยทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ซึ่งเป็นเหตุเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์

 

  • จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม

 

  • ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยประเด็นตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

 

  • สำหรับอุทธรณ์อีกข้อที่ว่า สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสาม นั้น

 

  • เห็นว่า ข้อยกเว้นที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นอกจากต้องเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว ต้องเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่

 

  • จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์เพียงว่าสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น

 

  • โดยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยที่ 1 หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาล

 

  • ดังนี้ ไม่ว่าจะวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปในทางใด ก็ไม่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป

 

  • จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

 

  • พิพากษายืน

 

 

(วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์ - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์)



21/Feb/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา