ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7675/2548 โดยสาระสำคัญระบุว่า
1. กิจการของนายจ้างประสบกับการขาดสภาพคล่องเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นายจ้างจึงมีประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด เป็นการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละห้าสิบ (ปัจจุบันร้อยละเจ็ดสิบห้า) ของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงาน โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากลูกจ้างคนใดไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นในระหว่างนั้น ให้สถานภาพการเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลงทันที
2. ลูกจ้างไปทำงานให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ทำให้นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้าง เนื่องจากถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่
ประเด็นวินิจฉัย
1. การที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละห้าสิบของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงาน โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากลูกจ้างคนใดไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น ให้สถานภาพการเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลงทันทีนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้วินิจฉัยไว้ว่า ประกาศของนายจ้างเป็นเพียงประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นของนายจ้างที่ ต้องหยุดกิจการทั้งหมดลงชั่วคราว โดยจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะ เวลาที่หยุดกิจการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ดังนั้นประกาศดังกล่าวจึงมิใช่หนังสือเลิกจ้าง แต่เป็นเพียงประกาศให้ลูกจ้างได้ทราบถึงเงื่อนไขในการที่นายจ้างจะใช้สิทธิในการเลิกจ้างลูกจ้างได้ หากไปทำงานประจำให้นิติบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเท่านั้น
2. ในระหว่างนายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว นายจ้างมิได้มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำในระหว่างนี้ เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างนั้น ก็เป็นเงินที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ซึ่งมิใช่เงินค่าจ้างที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน
3. การที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 มิใช่หนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง แม้ในประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปทันทีที่ไปทำงานประจำ กับนิติบุคคลอื่นก็ตาม แต่เป็นเพียงเงื่อนไขที่ให้นายจ้างสามารถใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น
ดังนั้นการที่ลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับนายจ้าง และตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ก็มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศ หยุดกิจการชั่วคราวแต่อย่างใด
ดังนั้นการที่ลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้างเมื่อจะเลิกจ้างลูกจ้าง แม้ว่านายจ้างจะสามารถทำได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกาศ แต่ไม่ใช่กรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
รายละเอียดคำพิพากษา 7675/2548
ผู้พิพากษา : รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ - ชวลิต ยอดเณร - พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 105/2545 และมีคำสั่ง ให้การเลิกจ้างจำเลยที่ 2 เป็นการเลิกจ้างที่โจทก์ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กแผ่นชนิดต่างๆ
ต่อมาในปี 2540 กิจการของ โจทก์ประสบกับการขาดสภาพคล่องเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โจทก์ได้ยื่นคำร้อง ขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2543 ซึ่งศาลล้มละลาย กลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โดยตั้งให้บริษัทรามคำแหงแพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน
ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2544 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนใหม่เป็น บริษัทมหาราชแพลนเนอร์ จำกัด และวันที่ 11 ธันวาคม 2545 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบด้วย แผนฟื้นฟูกิจการของผู้ทำแผนมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบตามแผน โจทก์โดยบริษัท มหาราชแพลนเนอร์ จำกัด
ผู้ทำแผนได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545 จำเลยที่ 2 เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 19,750 บาท เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 โจทก์มีประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ไม่ให้ลูกจ้างทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไป โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากลูกจ้างคนใดไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นให้สถานภาพการเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลงทันที
ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 2 กระทำผิดเงื่อนไข ในประกาศ โดยไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 ให้จำเลยที่ 2 พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2545 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลย ที่ 1 มีคำสั่งที่ 105/2545 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 118,500 บาท ตามสำเนาคำสั่งเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 8
คดีปัญหาต้องวินิจฉัยตาม อุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่
โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีประกาศฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ให้ปรับลดเงินเดือนของพนักงานลงร้อยละห้าสิบเนื่องจากมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อหาผู้ร่วมทุนรายใหม่และปรับกระบวนการผลิตตามแนวทางที่ กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่โจทก์ก็ยังมีความจำเป็นต้องคงสภาพของลูกจ้าง ส่วนใหญ่เอาไว้เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญงาน จึงได้กำหนดไว้ในตอนท้ายของประกาศว่า "หากพนักงานท่านใดได้ไปทำงานประจำกับหน่วยงาน สถาบันหรือองค์กรอื่นที่เป็นนิติบุคคล สถานภาพการเป็นพนักงานจะสิ้นสุดลงทันที"
เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปทำงานเป็นลูกจ้างประจำของบริษัท อินดัสทรีเมนเทนเนน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2544 ถือว่าจำเลยที่ 2 ตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น และการที่จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์แต่ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นในขณะเดียวกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาจ้างอย่างร้ายแรง โจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
เห็นว่า ประกาศลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ของโจทก์นั้น เป็นเพียงประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ต้องหยุดกิจการทั้งหมด ลงชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานตลอด ระยะเวลาที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 แต่มิใช่หนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง แม้ในประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานทันทีที่ไปทำงานประจำกับนิติบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงเงื่อนไข ที่โจทก์จะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น
การที่จำเลยที่ 2 ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น จึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์อันจะทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุด จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานตามที่โจทก์มอบหมายตามวันเวลาทำงาน และสถานที่ทำงานที่โจทก์กำหนดโดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของโจทก์ ซึ่งโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของจำเลยที่ 2 ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 2 ทำงาน ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และ 583 ประกอบ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 แม้จำเลยที่ 2 ยังเป็นลูกจ้าง ของโจทก์ในระหว่างที่โจทก์ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว แต่โจทก์มิได้มอบหมายงานให้จำเลยที่ 2 ทำในระหว่างนี้
ส่วนเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละ ห้าสิบของค่าจ้างนั้น ก็เป็นเงินที่ต้องจ่ายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 มิใช่เงินค่าจ้างที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน
อีกทั้งมาตรา 75 ก็มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุด กิจการชั่วคราว การที่จำเลยที่ 2 ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น จึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง และไม่เป็นการเอาเปรียบโจทก์ที่รับเงินสองทาง เพราะเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละห้าสิบนั้นมิใช่ค่าจ้าง
เมื่อโจทก์ มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 2 ตามมาตรา 118 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น..."
พิพากษายืน
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 บัญญัติว่า “ใน กรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่ว คราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างใน วันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่ง”
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุ ที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป”
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 บัญญัติว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้......
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร......
ป.พ.พ. มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้”
ป.พ.พ. มาตรา 583 บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ดี หรือ ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือ ทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและ สุจริตก็ดี ท่านว่า นายจ้างจะไล่ออก โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...