ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902 - 1904/2556 ระหว่างบริษัทอาปีโกไฮเทค จำกัด (มหาชน) – ผู้ร้อง กับนายอำนาจ มณีแสง กับพวก – ผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องขอให้ศาลเลิกจ้างผู้คัดค้านในฐานะกรรมการลูกจ้าง เนื่องจากพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 บัญญัติไว้ว่า ห้ามนายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน
คดีนี้นายจ้างได้มีคำสั่งพักงานลูกจ้างและยื่นคำร้องต่อศาลแรงงาน เพื่อขอให้ศาลแรงงานเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดไม่มีเหตุอนุญาตให้นายจ้างเลิกจ้าง
และศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการละทิ้งหน้าที่ที่จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงนั้น ลูกจ้างต้องมีหน้าที่ปฏิบัติที่สำคัญให้นายจ้างแล้วไม่ปฏิบัติเป็นเวลานาน หากออกไปจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วจะเกิดความเสียหายต่อการผลิตของนายจ้างอย่างไร
การที่กรรมการลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ออกไปบอกพนักงานรับเหมาค่าแรงให้ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารช่วงบ่าย ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง
รายละเอียดคำพิพากษา
การพักงานไม่เกิน 7 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง เป็นโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้าง การที่ผู้ร้องมีคำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการลูกจ้างโดยจ่ายค่าจ้างให้ไม่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานภาค 1 การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52
การละทิ้งหน้าที่ที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีร้ายแรง ต้องเป็นกรณีลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติที่สำคัญให้นายจ้างแล้วไม่ปฏิบัติเป็นเวลานาน เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่สำคัญอย่างไร หากออกไปจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องอย่างไร
การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ออกไปบอกพนักงานของบริษัทรับเหมาค่าแรงให้ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารซึ่งเป็นเวลาช่วงบ่ายใกล้เลิกงานแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรง
การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่แต่ยังไม่ถึงขนาดหรือมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องของผู้ร้อง
เมื่อศาลแรงงานภาค 1 เห็นว่าผู้ร้องควรลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือเสียก่อน ศาลแรงงานภาค 1 ก็สามารถอนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือซึ่งเป็นโทษที่อยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง และเป็นโทษสถานเบากว่าการเลิกจ้างได้
ถือเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอ
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 1 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องในสำนวนที่สามซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนแรกและสำนวนที่สองว่าผู้ร้อง และเรียกผู้ร้องในสำนวนแรกและสำนวนที่สองซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนที่สามว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องในสำนวนที่สามและยื่นคำคัดค้านในสำนวนแรกและสำนวนที่สองขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง และยกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสอง
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องในสำนวนแรกและสำนวนที่สองและยื่นคำคัดค้านในสำนวนที่สาม ขอให้เพิกถอนคำสั่งพักงานของผู้ร้อง ให้รับผู้คัดค้านทั้งสองเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องและให้เพิกถอนคำสั่งพักงานของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า
ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการลูกจ้างของผู้ร้อง ผู้ร้องมีคำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองโดยจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้ตามหนังสือการพักงาน ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้เล่นการพนันทายผลฟุตบอล ในวันที่พนักงานของบริษัทผู้รับเหมาค่าแรงร่วมกันผละงานนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ละทิ้งงาน แต่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ยุยงส่งเสริม สนับสนุนให้พนักงานของบริษัทรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในบริษัทผู้ร้องร่วมกันผละงานและละทิ้งหน้าที่เข้าร่วมในการผละงาน แล้ววินิจฉัยว่า
ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้กระทำผิดตามคำร้องจึงไม่มีเหตุอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้าง สำหรับการละทิ้งงานของผู้คัดค้านที่ 1 กรณียังถือไม่ได้ว่ากระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานที่ร้ายแรง และผู้ร้องยังไม่ได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือ จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องในประเด็นแรกว่า ผู้คัดค้านทั้งสองมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ร้องที่สั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองได้หรือไม่
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า คำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองโดยจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้ไม่ใช่การลงโทษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้คัดค้านทั้งสอง หรือผู้คัดค้านทั้งสองต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น
เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านทั้งสองจะมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษพักงานของผู้ร้องก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องมีคำสั่งพักงานผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง ก่อนยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานภาค 1 โดยจ่ายค่าจ้าง การพักงานเช่นนี้เป็นการสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสองหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแรงงานภาค 1 เสียก่อน
อีกทั้งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องก็กำหนดโทษทางวินัยไว้ในข้อ 4.2 และ 4.2.3 ว่าโทษทางวินัยคือการพักงานไม่เกิน 7 วัน โดยไม่จ่ายค่างจ้าง/ค่าตอบแทน เมื่อผู้ร้องได้จ่ายค่าจ้างในระหว่างที่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ทำงานจึงไม่ถือเป็นการลงโทษแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง และการกระทำของผู้ร้องไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 แต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องในประเด็นต่อไปว่า ผู้คัดค้านทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่
เห็นว่า การละทิ้งหน้าที่ที่จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติที่สำคัญให้นายจ้างแล้วไม่ปฏิบัติเป็นเวลานานแต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีหน้าที่สำคัญอย่างไร หากออกไปจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วจะเกิดความเสียหายต่อการผลิตของผู้ร้องอย่างไร
ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่ออกไปบอกพนักงานของบริษัทรับเหมาค่าแรงให้ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารช่วงบ่ายใกล้เวลาเลิกงานแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรง
ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างต้องตักเตือนผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหนังสือก่อน เมื่อยังไม่ได้ดำเนินการจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1 ทันที
ในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ละทิ้งหน้าที่ จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 1 ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องในประเด็นต่อไปว่า ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ศาลต้องอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 โดยการตักเตือนเป็นหนังสือโดยผู้ร้องไม่ต้องร้องขอได้หรือไม่
โดยผู้ร้องอุทธรณ์ว่า แม้ผู้ร้องจะไม่ได้ร้องขอ แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้ศาลแรงงานพิพากษาเกินคำขอได้นั้น
เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องจะขอให้ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการเลิกจ้างก็ตาม
แต่เมื่อศาลแรงงานภาค 1 เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ละทิ้งหน้าที่ แต่ยังไม่ถึงขนาดหรือมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1 โดยเห็นว่าการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวผู้ร้องควรลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือก่อน
ศาลแรงงานภาค 1 ก็สามารถอนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือ ซึ่งเป็นโทษที่อยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง และเป็นโทษในสถานเบากว่าการเลิกจ้างได้ ถือเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอแต่ประการใด
ดังนั้นที่ศาลแรงงานภาค 1 ไม่มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือให้เสร็จสิ้นไปไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือ และยกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1
( นิยุต สุภัทรพาหิรผล - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - วิรุฬห์ แสงเทียน )
ศาลแรงงานภาค 1 - นายสมควร ศิริยุทธ
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...