ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
เรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567
แต่อย่างไรก็ตามลูกหนี้ยังต้องจ่ายค่ารถนั้นอยู่ดี แต่ทั้งนี้ศาลจะกำหนดอัตราที่ลูกหนี้ต้องจ่าย ซึ่งมักเป็นจำนวนที่ไม่สูงจนเกินไป เพราะส่วนใหญ่แล้วราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ นั้นเป็นการคิดราคารถ รวมกับค่าเช่าและการใช้รถต้องมีการเสื่อมราคา รวมอยู่ด้วย ซึ่งต้องหักค่าเช่า + ค่าเสื่อมราคา ออกไปก่อน
สำหรับดอกเบี้ยที่ต้องชำระนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีตามมาตรา 224 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
รายละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4601/2533
คำพิพากษาย่อ (ย่อสั้น)
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 นอกจากนี้ตามหนังสือบอกกล่าวของทนายโจทก์ถึงจำเลยทั้งสองก็ระบุชัดว่าโจทก์ เลิกสัญญา จึงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระต่อไปแม้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5จะระบุให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบในกรณีที่ทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยก็ตาม
แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้ออีกต่อไปก็ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างให้แก่โจทก์ในกรณีนี้ซึ่งมี ลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่ศาลมีอำนาจลดหย่อนลงได้หากเห็นว่าค่าเสียหายที่กำหนด ไว้นั้นสูงเกินควร เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อไปตามสัญญาข้อ 7 แต่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตรารอยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
คำพิพากษาฉบับเต็ม (ย่อยาว)
โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามสัญญา เช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจำนวน102,800 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า การตั้งตัวแทนทำสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ไม่สมบูรณ์ รถคันที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์ตามฟ้องได้ถูกคนร้ายลักไปสัญญาเช่าซื้อจึงระงับสิ้นลงแม้ สัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงระบุไว้ให้จำเลยที่ 1 ยังต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนครบในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปขอ ตกลงดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเช่าซื้อภายหลังจากสัญญาเช่าซื้อระงับลง คงต้องรับผิดเฉพาะค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาระงับซึ่งเป็นเงิน 5,200 บาท ไม่ใช่ 102,800 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การตั้งตัวแทนทำสัญญาเช่าซื้อตามฟ้องไม่มีผลสมบูรณ์ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญาดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิด เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน
จำเลยที่ 1 ต้องคืนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์โดยพลัน โจทก์มีสิทธิเพียงเรียกเอาค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหรือค่าขาดประโยชน์
ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้คืนรถที่เช่าซื้อเท่านั้น เมื่อรถที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1 คงต้องรับผิดเฉพาะค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าขาดประโยชน์ดังได้กล่าวแล้ว ข้างต้นเท่านั้น หาจำต้องชำระค่าเช่าซื้อจนครบไม่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็หาต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อจนครบด้วยไม่
สิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดประจำวันที่ 29กรกฎาคม 2522 ถึงงวดประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2523 รวม 14 งวด นั้นขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน102,800 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า " ในปัญหาที่ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วหรือไม่นั้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่งเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567
นอกจากนี้ตามหนังสือบอกกล่าวของทนายความของโจทก์ถึงจำเลยทั้งสองเอกสารหมาย จ.7 ก็ระบุชัดว่าโจทก์เลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อแล้ว จึงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระต่อไปแม้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 จะระบุให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าซื้อจนครบในกรณีที่ทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยก็ ตาม
แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไปก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างให้แก่โจทก์
ในกรณีนี้ซึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่ศาลมีอำนาจลดหย่อนลงไปหากเห็นว่าค่าเสียหายที่กำหนด ไว้นั้นสูงเกินควร
ในกรณีนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าเสียหายที่กำหนดไว้เท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระนั้นเป็นจำนวนที่สูงเกินไป เพราะราคารถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นเป็นการคิดราคารถรวมกับค่าเช่าและการใช้รถ ต้องมีการเสื่อมราคาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้ 80,000 บาท
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างจำนวน 102,800 บาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
เพราะศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นเลิกกันแล้ว และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินเพียง 80,000 บาท
สำหรับดอกเบี้ยที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ศาลฎีกาก็ไม่เห็นพ้องด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาข้อ 7 ซึ่งกำหนดไว้ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อหรือไม่ชำระเงิน ใด ๆ ที่ผู้เช่าซื้อที่หน้าที่ต้องชำระตามสัญญา แต่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นฟังขึ้นบาง ส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 567 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมดไซร้ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้นคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่น ว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดย เงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราวสัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าเป็นโมฆะ
มาตรา 573 ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง
คู่ความ
บริษัท สยาม กลการ จำกัด โจทก์
นายศิริชัย ปิ่น ทอง กับพวก จำเลย
ผู้พิพากษา
ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล
ชูศักดิ์ บัณฑิตกุล
สุเทพ กิจสวัสดิ์
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...