ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
วันนี้ผมมีเรื่องแปลก ๆ เกี่ยวกับการลาออกมาเล่าสู่กันฟังกับท่านอีกแล้วนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราท่านพบเห็นได้ในชีวิตการทำงานอยู่เสมอ ๆ
นั่นคือ..การลาออกครับ
ปกติแล้วการลาออก ถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างจากทางฝั่งลูกจ้างคือลูกจ้างไม่อยากจะทำงานที่บริษัทนี้อีกต่อไปก็ยื่นใบลาออกให้หัวหน้าทราบว่าฉันไม่อยากจะทำงาน ที่นี่อีกต่อไปแล้วนะ ซึ่งโดยทั่วไปบริษัทต่าง ๆ มักจะมีกฎเกณฑ์คล้าย ๆ กันว่าถ้าพนักงานจะยื่นใบลาออกก็ให้ยื่นล่วงหน้าสัก 30 วันหรือ 1 เดือนนั่นแหละครับ เขาจะได้หาคนมารับมอบงาน หรือส่งมอบงานให้คนใหม่ได้ทันโดยไม่ทำให้งานเสียหาย
แต่นั่นเป็นการลาออกตามระเบียบบริษัทนะครับ เพราะในความเป็นจริงแล้วในกรณีที่ลูกจ้างมีปัญหาอะไรก็ตามกับนายจ้าง ลูกจ้างมักจะยื่นใบลาออกวันนี้แล้วระบุวันที่มีผลลาออกเป็นวันพรุ่งนี้เสียเป็นส่วนใหญ่โดยไม่แคร์ว่าระเบียบบริษัทจะบอกไว้ยังไง
ในกรณีนี้ในทางกฎหมายแรงงานแล้วถือว่าถ้าลูกจ้างระบุวันที่มีผลลาออกเอาไว้วันไหนในใบลาออกลูกจ้างก็พ้นสภาพได้ในวันที่ระบุเลยนะครับ โดยไม่ต้องให้นายจ้างมาอนุมัติการลาออกด้วยซ้ำไป ส่วนถ้านายจ้างจะเสียหายจากการที่ลูกจ้างยื่นใบลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบบริษัท หรือทำให้บริษัทเสียหายยังไง บริษัทต้องไปฟ้องร้องลูกจ้างกันเอาภายหลังครับ
แต่เรื่องที่ผมนำมาคุยกันในวันนี้เป็นปัญหาในการลาออกอีกแบบหนึ่งน่ะสิครับ
คือลูกจ้างยื่นใบลาออกกับนายจ้างแต่ไปฟ้องศาลแรงงานว่าถูกเลิกจ้างโดยนายจ้าง!!??
ตัวอย่างเช่น นายมนู (นามสมมุติ) ทำงานบกพร่องต่อหน้าที่จนถูกบริษัทย้ายให้ไปทำงานในตำแหน่งอื่น และลดเงินเดือนลง (โดยนายมนูก็ยินยอม) และบริษัทก็ออกหนังสือตักเตือนให้นายมนูปรับปรุงตนเองใน 3 เดือน ต่อมานายมนูต่อรองกับทางบริษัท โดยให้บริษัททำหนังสือเลิกจ้างตนเอง แต่บริษัทเสนอกลับมาว่าให้นายมนูเขียนใบลาออกมา แล้วบริษัทจะจ่ายเงินพิเศษให้เท่ากับเงินเดือน 3 เดือน
นายมนูตกลงเขียนใบลาออกนำมายื่นให้ทางบริษัท โดยระบุสาเหตุการลาออกไว้ว่า ถูกบริษัทเลิกจ้าง ?
แล้วนายมนูก็ไปฟ้องศาลแรงงานโดยบอกว่าถูกบริษัทเลิกจ้าง (โดยอ้างตามสาเหตุในใบลาออก)
กรณีนี้ศาลฎีกาท่านได้ตัดสินไว้ว่า "....แม้ใบลาออกจะระบุเหตุที่ลาออกว่าถูกเลิกจ้าง ก็ไม่ถือว่าลูกจ้างถูกเลิกจ้าง เพราะลูกจ้างเป็นฝ่ายเขียนใบลาออก นายจ้างไม่ได้กระทำการใดที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้าง...." (ฎ.2393/2545)
หรืออีกสักตัวอย่างหนึ่งดังนี้ครับ
คุณบังอร (นามสมมุติ) ทำงานเป็นพนักงานขายหน้าร้าน แล้วรู้จักกับลูกค้าเป็นการส่วนตัว เที่ยวเตร่ด้วยกันจนสนิทสนมกันขนาดหยิบยืมเงินจากลูกค้าอยู่บ่อย ๆ ก็เลยถูกผู้จัดการฝ่ายขายตำหนิพฤติกรรมที่หยิบยืมเงินลูกค้าอย่างรุนแรงว่า ไม่เหมาะสมเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีทำอย่างนี้เป็นการทำลายชื่อเสียงของบริษัท และอาจจะกระทบกระเทือนถึงตำแหน่งหน้าที่ของคุณบังอรได้
คุณบังอรเลยย้อนถามว่า "แล้วบริษัทจะเอายังไง" ผู้จัดการฝ่ายขายเลยบอกให้คุณบังอรพิจารณาตัวเอง คุณบังอรเลยยื่นใบลาออก แล้วคุณบังอรเลยไปฟ้องศาลแรงงานว่าถูกหัวหน้าหลอกลวงให้ลาออก ทั้ง ๆ ที่คุณบังอรยังไม่อยากลาออก ?
เรื่องนี้ศาลฎีกาตัดสินว่า "....ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงให้ลูกจ้างลาออก กรณีเป็นเรื่องที่ลูกจ้างสมัครใจลาออกเอง ไม่ใช่ถูกนายจ้างเลิกจ้าง" (ฎ.9450/2545)
จากเรื่องที่ผมเล่ามาข้างต้นจึงมาสู่ข้อสรุปที่ว่า....
ก่อนที่ท่านจะยื่นใบลาออกคิดให้ดีเสียก่อนจึงไม่ควรจะเขียนใบลาออก ในขณะที่ท่านกำลังมีอีคิวที่ไม่ปกติ เช่น กำลังโกรธ, กำลังท้อ, กำลังเซ็ง, กำลังเบื่อหน่าย ฯลฯ คิดให้รอบคอบในสภาพจิตที่ปกติ โดยใช้เหตุใช้ผลให้ดี เพราะเมื่อท่านตัดสินใจยื่นใบลาออกเมื่อไหร่ จะมีผลตามที่ท่านระบุไว้ทันที และจะมาเปลี่ยนประเด็นว่าเป็นการถูกเลิกจ้างมันขัดแย้งกัน
เพราะเราเป็นคนเซ็นใบลาออกเองระบุวันที่มีผลลาออกเองนี่ครับ
26 มิ.ย. 2558
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ HR Corner โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...