ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
ในประเด็นนี้กลุ่มงานที่ปรึกษากฎหมาย นิติกรรมและสัญญา กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้เคยตอบคำถามสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดชลบุรี จดหมายลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๗ เรื่องข้อหารือกองนิติการ ที่ รง ๐๕๐๔/๐๐๔๕๓ ไว้ดังนี้
คำถามที่ ๑: สถานประกอบกิจการที่มีสหภาพแรงงานและมีลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงในสถานประกอบกิจการ และทำงานมีลักษณะเช่นเดียวกันกับลูกจ้างของสถานประกอบกิจการนั้น
ต่อมาสหภาพแรงงานของสถานประกอบกิจการดังกล่าวได้ยื่นข้อเรียกร้อง โดยในข้อเรียกร้องดังกล่าว เช่น โบนัสประจำปีและสวัสดิการอื่นๆ ให้นายจ้างของสถานประกอบกิจการของสหภาพแรงงานจ่ายเงินโบนัสและสวัสดิการอื่นๆ ให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงด้วย
การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ยื่นต่อนายจ้าง และสหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงด้วย ถือเป็นข้อเรียกร้องหรือไม่
คำตอบที่ ๑: พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๘ (๑) กำหนดไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่ในการเรียกร้อง เจรจาทำความตกลง และรับทราบคำชี้ขาดหรือทำข้อตกลงกับนายจ้าง หรือสมาคมนายจ้าง ในกิจการของสมาชิกได้”
ดังนั้นการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น จะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกไม่ได้
ทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ตามมาตรา ๑๓ ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ผู้ยื่นต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างตามมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ตามคำนิยามของคำว่าลูกจ้าง และข้อตกลงเกี่ยวกับภาพการจ้างจะมีผลผูกพันเฉพาะนายจ้างและลูกจ้างตามมาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติฯดังกล่าวเท่านั้น
กรณีสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงตามมาตรา ๑๑/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ จึงไม่สามารถกระทำได้
และการยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงและไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๖๓๔/๒๕๓๔
คำถามที่ ๒: สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้กับนายจ้างของสถานประกอบกิจการที่เป็นนายจ้างของสหภาพแรงงาน โดยสหภาพแรงงานไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรง เมื่อสหภาพแรงงานและนายจ้างสามารถตกลงกันได้ และจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงจะมีผลผูกพันกับลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงในสถานประกอบกิจการนั้นด้วยหรือไม่
คำตอบที่ ๒: ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่สามารถตกลงกันได้ ย่อมมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องนั้นตลอดจนลูกจ้างซึ่งมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาทุกคน ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘
ดังนั้นลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงมิได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้องหรือมีส่วนเลือกตั้งผู้แทนเข้าร่วมในการเจรจากับนายจ้าง จนได้มาซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรง
เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๐๘/๒๕๓๐ คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๔๘/๒๕๓๑ และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๐๖/๒๕๓๘
คำถามที่ ๓ : สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้กับนายจ้างของสถานประกอบกิจการที่เป็นนายจ้างของสหภาพแรงงาน โดยสหภาพแรงงานไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรง ดังนั้นเมื่อสหภาพแรงงานและนายจ้างสามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะเงินโบนัสและจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง จะเรียกร้องให้บริษัทผู้ว่าจ้างจ่ายสิทธิประโยชน์ เท่ากับลูกจ้างของผู้ว่าจ้างได้หรือไม่
คำตอบที่ ๓ : การยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินโบนัสที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ และเมื่อตกลงกันได้แล้วก็จะมีผลผูกพันกันเฉพาะนายจ้างและลูกจ้างของสถานประกอบกิจการนั้นเท่านั้น ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘
ดังนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากการยื่นข้อเรียกร้องตามมาตรา ๑๓ จึงไม่มีผลผูกพันกับลูกจ้างผู้รับเหมาค่าแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑
และสหภาพแรงงานมีหน้าที่ทำข้อตกลงกับนายจ้างต้องเพื่อประโยชน์ของสมาชิกของสหภาพแรงงานตามมาตรา ๙๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ เท่านั้น
สหภาพแรงงานจึงไม่มีอำนาจทำข้อตกลงกับนายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายโบนัสให้แก่ผู้รับเหมาค่าแรง ซึ่งเป็นคนละนายจ้างกัน และการยื่นข้อเรียกร้อง เรื่องเงินโบนัสให้แก่ผู้รับเหมาค่าแรงมิได้ทำเพื่อประโยชน์ของสมาชิกของสหภาพแรงงานแต่อย่างใด ในเมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวสหภาพแรงงานทำกับนายจ้างโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ข้อตกลงนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันผู้รับเหมาค่าแรง เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๓๔/๒๕๓๔
อย่างไรก็ตามจากคำตอบข้างต้นของกองนิติการดังที่กล่าวมานั้น พบว่า ได้แย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๓๒๖ – ๒๒๔๐๔ / ๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ กรณีมาตรา ๑๑/๑ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งได้วางบรรทัดฐานในกรณีลูกจ้างเหมาค่าแรง ไว้ชัดเจนว่า
สิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคสองนั้น เป็นสิทธิตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติไว้โดยตรงอย่างชัดเจน
แม้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงจะมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือมีส่วนในการเลือกผู้แทนในการเจรจาเพื่อจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ตาม แต่หากลักษณะงานที่ทำเหมือนกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของผู้ประกอบกิจการแล้ว
ผู้ประกอบกิจการต้องมีหน้าที่ดำเนินการจัดให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเหล่านั้นได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการจ่ายสิทธิประโยชน์และสวัสดิการแต่ละประเภทที่ผู้ประกอบกิจการให้กับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง
ผู้ประกอบกิจการมิอาจอ้างว่าได้จ่ายเงินต่างๆ ให้แก่บริษัทผู้รับจ้างเหมาค่าแรงตามที่ตกลงในสัญญาว่าจ้างเพื่อปฏิเสธให้ตนไม่ต้องรับผิดต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเหล่านั้นได้
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
๑ สิงหาคม ๒๕๕๘
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...