ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ลูกจ้างรายวันที่ทำงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นกิจการหลักของนายจ้าง ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคม นายจ้างจะยกเหตุว่าเป็นงานครั้งคราว เป็นงานจร หรืองานตามฤดูกาล แล้วไม่ยอมให้ลูกจ้างเข้าประกันสังคมไม่ได้

เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2556

 

คำพิพากษาย่อสั้น

 

"ลูกจ้างของนายจ้าง" ที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมี "ลักษณะ" เป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาลตาม พ.ร.ฎ.กำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ศ.2545 มาตรา 4 (6) หมายความถึงลักษณะงานของนายจ้างหรือสภาพงานหลักของนายจ้างเป็นงานที่เป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล

 

โจทก์ผู้เป็นนายจ้างประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โจทก์จ้างลูกจ้างให้ทำงานก่อสร้างตามงานที่ได้รับจากผู้ว่าจ้าง งานที่โจทก์ให้ลูกจ้างทำจึงเป็นงานหลักของโจทก์ แม้โจทก์จ้างลูกจ้างทำงานตามแต่จะมีการรับเหมาก่อสร้างเป็นครั้งคราว ลูกจ้างสมัครใจทำงานหรือหยุดงานก็ได้ โดยจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน

 

สภาพงานของโจทก์ไม่ใช่งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาล ลูกจ้างของโจทก์จึงไม่เป็นลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาลด้วย

 

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ ชย 0025/2402 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 39/2549

 

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ ชย 0025/2402 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 39/2549

 

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่าลูกจ้างของโจทก์เป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 4 (6) และพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ศ.2545 หรือไม่

 

พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 4 บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่...(6) กิจการหรือลูกจ้างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา" และพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ศ.2545 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ให้ลูกจ้างต่อไปนี้เป็นลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533...(6) ลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล"

 

การแปลความหมายว่า "ลูกจ้างของนายจ้าง" นั้น จะเป็นลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะตามบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความมุ่งหมายของบทบัญญัตินี้ โดยเทียบเคียงกับคำว่า "ลูกจ้างของนายจ้าง" ที่บัญญัติไว้ใน (7) และ (8) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น "ลูกจ้างของนายจ้าง" ตามอนุมาตรา (6) จึงต้องหมายความถึง ลักษณะงานของนายจ้างหรือสภาพงานหลักของนายจ้าง ซึ่งโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง

 

โจทก์จ้างลูกจ้างเป็นคนงานหรือกรรมกรก็เพื่อให้ทำงานก่อสร้างตามงานที่ได้รับจากผู้ว่าจ้าง งานที่โจทก์ให้ลูกจ้างทำจึงเป็นงานหลักของโจทก์ แม้โจทก์จะจ้างลูกจ้างทำงานตามแต่จะมีงานรับเหมาก่อสร้างเป็นครั้งคราว ซึ่งลูกจ้างจะสมัครใจทำงานหรือหยุดงานก็ได้โดยมีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน

 

สภาพงานของโจทก์ก็มิใช่งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล ลูกจ้างของโจทก์จึงไม่เป็นลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาลด้วย

 

โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกำหนดต่อสำนักงานประกันสังคมภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างดังกล่าวเป็นผู้ประกันตน และนำส่งเงินสมทบตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 34 และมาตรา 47

 

เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติ จำเลยจึงมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 47 ทวิ เรียกให้โจทก์ส่งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มได้

 

ดังนั้นการที่จำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชัยภูมิมีหนังสือแจ้งผลการตรวจบัญชีค่าจ้างประจำปี 2546 ที่ ชย 0025/2402 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2548 และคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย ที่ 39/2549 ลงวันที่ 10 มกราคม 2549 จึงถูกต้องแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น

 

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

พระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พ.ศ.2545 มาตรา 4

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4

 

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 4

 

คู่ความ

 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยสงวนพาณิชย์และเพื่อน         โจทก์

สำนักงานประกันสังคม         จำเลย

 

ผู้พิพากษา

นิยุต สุภัทรพาหิรผล

ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์

วิรุฬห์ แสงเทียน



29/Aug/2015

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา