ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
รถคุณโผงหายไปจากลานจอดรถของอพาร์ตเมนต์ที่เขาเช่าพักอาศัยอยู่
คุณโผงยื่นฟ้องบริษัทรักษาความปลอภัย(รปภ.) และบริษัทเจ้าของอพาร์ตเมนต์นั้นขอให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่ารถมา
ทั้งสองต่อสู้คดีว่าไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้ยกฟ้อง
คุณโผงอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
คุณโผงฎีกาคดี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเจ้าของอพาร์ตเมนต์สัญญาเช่าไม่มีข้อความตอนใดระบุว่า ค่าเช่าที่คุณโผงจ่ายแก่อพาร์ตเมนต์ รวมถึงค่าจ้างพนักงาน รปภ.ด้วย ทั้งไม่มีข้อตกลงว่า บริษัทอพาร์ตเมนต์มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้เช่า
หน้าที่และความรับผิดของบริษัทอพาร์ตเมนต์ในฐานะผู้ให้เช่าย่อมเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ เช่าทรัพย์ มาตรา 546 ถึงมาตรา 551
กล่าวคือ ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่าในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายที่คุณโผงจ่ายไปโดยความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเช่า และต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินที่เช่า หรือการรอนสิทธิ
ไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เช่า
นอกจากนี้ตามสัญญาเช่าห้องไม่มีการตกลงเกี่ยวกับรถยนต์ที่คุณโผงนำมาจอดและไม่ได้ระบุความรับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินของคุณโผง
คุณโผงสามารถเลือกจอดรถตามที่ว่างที่มีอยู่ และสามารถนำรถเข้าออกได้ยี่สิบสี่ชั่วโมง โดยพนักงาน รปภ.ที่ดูแลความปลอดภัยอพาร์ตเมนต์ไม่ได้แจกหรือแลกบัตรเพื่อเข้าจอดรถ และบริษัทอพาร์ตเมนต์ไม่ได้เก็บค่าจอดรถ
แสดงว่าบริษัทอพาร์ตเมนต์ไม่ได้รับดูแลรักษาทรัพย์ของคุณโผงแต่อย่างใด
ส่วนบริษัท รปภ.นั้น ตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย ระบุว่า ผู้รับจ้างตกลงรับรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง มิให้ได้รับความเสียหายหรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการโจรกรรม
เห็นได้ว่าสัญญาว่าจ้างนั้นให้บริษัท รปภ.ผู้รับจ้างต้องรับผิดต่อความเสียหายของทรัพย์สินของ บริษัทอพาร์ตเมนต์ ผู้ว่าจ้างเท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้เช่าห้องของบริษัทอพาร์ตเมนต์ และไม่มีหน้าที่ต้องป้องกันมิให้ทรัพย์สินของผู้เช่าถูกโจรกรรม
ด้วยเหตุนี้ บริษัท รปภ.จึงไม่ต้องรับผิดต่อการสูญหายของรถยนต์
พิพากษายืน
เป็นอันว่า บริษัท รปภ.และบริษัทอพาร์ตเมนต์ต่างไม่ต้องรับผิดชอบทั้งคู่
เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12447/2557 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 537 อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน อย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดและผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น
คอลัมน์ สัพเพเหระคดี โดย โอภาส เพ็งเจริญ
มติชน วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...