ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถูกยึดทรัพย์สินไปเพื่อจะนำไปขายทอดตลาด แต่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยึดไปนั้น มีคนอื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย ที่นี้ปัญหามันก็เกิดคือว่า บุคคลอื่นที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการก่อหนี้ก่อสินตามคำพิพากษานั้นด้วย
ดังนั้นหากมีการปล่อยให้มีการยึดเอาทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเอาเงินไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้คนเดียวทั้งหมดแล้ว บุคคลภายนอกที่เป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินนั้น ก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม เหตุว่าตัวเองก็อยู่ในฐานะของเจ้าของทรัพย์สินเหมือนกันกับลูกหนี้ แต่กลับไม่ได้อะไรเลยจากการขายทอดตลาด มิหนำซ้ำยังต้องเสียทรัพย์สินในส่วนของตัวเองไปอีก กรณีอย่างนี้ก็น่าเศร้าใจ
ในเรื่องนี้ กฎหมายก็ได้คุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอก ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาเอาไว้ โดยการใช้สิทธิในความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินของตัวเองนั้น ขอแยกส่วน หรือขอกันส่วนทรัพย์สินของตัวเองออกมา โดยให้ทางเจ้าหนี้มีสิทธินำเอาทรัพย์สินในส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไปขายทอดตลาดได้เท่านั้น
แต่มันก็มีปัญหาอีกว่า ทรัพย์สินบางอย่างนั้น สามารถทำการแบ่งได้โดยตัวของมันเอง เช่น เจ้าหนี้ได้นำเจ้าพนักงานคดีไปยึดมะพร้าวของลูกหนี้ตามคำพิพากษามา 10 ลูก แต่ปรากฏว่า มะพร้าวที่ยึดมานั้น เป็นมะพร้าวที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษากับบุคคลภายนอกได้ร่วมกันไปซื้อมา
ดังนั้นคนที่เป็นเจ้าของมะพร้าวทั้ง 10 ลูกในขณะนั้นจึงมีสองคน ก็คือ ลูกหนี้ตามคำพิพากษากับบุคคลภายนอก ดังนั้นเมื่อมะพร้าวถูกยึดไปทั้งหมด บุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้รู้เห็นด้วย ก็สามารถใช้สิทธิความเป็นเจ้าของของตัวเองตามกฎหมาย ที่จะร้องขอกันส่วนมะพร้าวของตัวเองออกมาได้
ซึ่งในที่นี้ก็คือการ แบ่งมะพร้าวออกเป็น 2 ส่วน เท่าๆ กัน ส่วนหนึ่งให้กับลูกหนี้ 5 ลูก และอีกส่วนก็เป็นของบุคคลภายนอกไปอีก 5 ลูก และเมื่อมะพร้าวทั้งหมดถูกยึดเอาไว้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องคืนมะพร้าว 5 ลูกนั้น ให้กับบุคคลภายนอกไป จะเอาไปขายทั้งหมดไม่ได้ ส่วนอีก 5 ลูกที่เหลือก็เป็นของลูกหนี้ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะทำการยึดเอาไว้ แล้วนำไปขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ต่อไป ซึ่งกรณีอย่างนี้มันง่าย ไม่ยุ่งยากใช่ไหมละครับ
แต่หากเป็นกรณีที่ตัวของทรัพย์สินที่โดนยึดไปนั้น ไม่สามารถแบ่งได้โดยตัวของมันเอง เช่น บ้าน รถยนต์ แหวนเพชร เพราะหากมีการแบ่งก็จะทำให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมค่า หรือเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้
ดังนั้นหากเป็นกรณีอย่างนี้ ทางออกที่บุคคลภายนอกจะขอกันส่วนของตัวเองออกมา จะทำอย่างไรดี
คำตอบก็คือ ก็ต้องกันส่วนของตัวเอง โดยการนำเอาทรัพย์สินนั้นไปขายเป็นตัวเงินเสียก่อน จากนั้นก็เอาเงินที่ได้มาแบ่งให้กับเจ้าของแต่ละคน ในส่วนของเงินที่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ก็จะถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเอาไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป ในส่วนเงินส่วนแบ่งของบุคคลภายนอกนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องส่งมอบคืนให้กับเจ้าของผู้มีสิทธิต่อไป
สาเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินที่มีคนอื่นเป็นเจ้าของร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไปนั้น ก็เนื่องจากมีหลักฐานว่า ทรัพย์สินนั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีชื่อลูกหนี้ถือครองทรัพย์สินเอาไว้เพียงคนเดียว
ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการทำนิติกรรม หรือเป็นทรัพย์สินของสามีภริยาที่ทำมาหาได้มาร่วมกัน หรือเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งเป็นต้น ดังนั้นเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตรวจสอบพบว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดเอาไว้โดยทันที
การร้องขอกันส่วนนั้น สามารถไปทำการยื่นคำร้องได้ที่ศาลที่ได้มีการฟ้องร้องกันระหว่างตัวเจ้าหนี้กับลูกหนี้ และในการจัดทำคำร้องที่จะยื่นต่อศาลนั้น ก็ต้องทำเป็นหนังสือ โดยมีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับรายละเอียดของตัวทรัพย์สินว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วผู้ร้องขอกันส่วนเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินนั้นได้อย่างไร
ทั้งนี้ผู้ร้องก็จะต้องนำพยานหลักฐานต่างๆมาแสดงให้ศาลเห็นด้วยว่า ผู้ร้องขอกันส่วนเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินที่ถูกยึดนั้นด้วยจริงๆ
เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ศาลก็จะกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้อง เพื่อให้ผู้ร้องได้นำพยานหลักฐานมาสืบมาแสดงให้ศาลเห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเอาไว้ด้วย
เมื่อศาลไต่สวนเสร็จแล้ว และตามพยานหลักฐานที่แสดงไปนั้น ชัดเจนว่าผู้ร้องขอกันส่วนเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกยึด ศาลก็จะให้มีคำสั่งกันส่วน หรือทำการแบ่งทรัพย์สินนั้นให้กับผู้ร้อง
หากว่าทรัพย์สินที่ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นยึดไปนั้น มีคนอื่นเป็นเจ้าของร่วม แต่ว่าเจ้าของร่วมไม่ได้สนใจที่จะไปร้องขอกันส่วนของตัวเองออกมา เมื่อไม่มีการคัดค้านหรือโต้แย้งเข้าไปในสำนวนคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะไม่ทราบ และสุดท้ายเจ้าพนักงานก็จะทำการขายทอดตลาดไปตามขั้นตอนกฎหมาย
เสมือนหนึ่งว่าทรัพย์ที่ขายไปนั้นเป็นของลูกหนี้เพียงคนเดียว และเมื่อขายได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะนำเงินทั้งหมดไปชำระหนี้ให้กับทางเจ้าหนี้ และสุดท้ายแล้วบุคคลภายนอกก็ต้องเสียสิทธิของตัวเองไป อย่างน่าเสียดาย
อย่างไรเสียก็อย่าลืมรักษาสิทธิของตัวเองด้วยนะครับ
เครดิตข้อมูลจาก http://www.chawbanlaw.com
ภาพจาก thaihometown
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...