ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
หลายบริษัทมักจะมีกฎระเบียบในการทำงาน ที่เกี่ยวกับการทำงานในเรื่องของการลงเวลามาทำงานเอาไว้ว่า ห้ามพนักงานลงเวลาทำงานแทนกัน ถ้าหากฝ่าฝืนจะถือว่าทุจริต และบริษัทจะพิจารณาเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เพราะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง โดยพนักงานจะต้องลงเวลามาทำงานทุกครั้งที่เข้าและออกจากสถานที่ทำงาน
อยู่มาวันหนึ่ง "ชวนพิศ" ต้องออกไปติดต่อลูกค้าในช่วงบ่าย ซึ่ง "ชวนพิศ" ก็รู้ดีว่ากว่าจะไปถึงบริษัทลูกค้า กว่าจะพูดคุยกับลูกค้าเสร็จก็คงเย็นหรือค่ำ แล้วถ้าต้องฝ่าการจราจรเพื่อกลับมารูดบัตรลงเวลาออกจากบริษัทคงไม่ทันเป็นแน่ ก็เลยฝากบัตรพนักงานไว้กับ "ชิดชม" เพื่อนซี้ในแผนกเดียวกันให้ช่วยรูดบัตรในช่วงเย็นให้ด้วย
ตกเย็น "ชิดชม" ไปรูดบัตรออกจากบริษัททั้งของตัวเองและของ "ชวนพิศ"ปรากฏว่า รปภ.เห็นเข้าว่า "ชิดชม" รูดบัตรสองใบ ก็เลยแจ้งไปที่ฝ่ายบุคคล วันรุ่งขึ้นฝ่ายบุคคลก็แจ้งมาที่หัวหน้างานของ "ชวนพิศ" และ "ชิดชม" ว่า ทั้งสองคนทำผิดกฎระเบียบของบริษัทโดยรูดบัตรแทนกันถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นบริษัทจะต้องเลิกจ้างทั้งสองคนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น
หัวหน้าของ "ชวนพิศ" และ "ชิดชม" ก็เรียกลูกน้องมาสอบถามว่าเรื่องราวเป็นยังไง ทั้งสองคนก็ให้การมาตามที่ผมเล่าให้ฟังมาตั้งแต่ต้นแล้วละครับ และเมื่อหัวหน้างานโทร.ไปหาลูกค้า ทางลูกค้าก็ยืนยันว่า "ชวนพิศ" ไปพบในเรื่องงานของบริษัทจริงกว่าจะประชุมเลิกก็หกโมงเย็นแล้ว อีกทั้ง "ชวนพิศ" และ "ชิดชม" ก็บอกว่าเธอไม่ได้ทุจริตยักยอกเงินทอง หรือมีการจ้างวานให้รูดบัตรอะไรนี่นา แต่ยอมรับว่ารูดบัตรแทนกันจริงเพราะ "ชวนพิศ" ไม่อยากจะฝ่ารถติดเพื่อเข้ามารูดบัตรตอนค่ำที่บริษัท
ประเด็นของเรื่องนี้คือ ตกลงว่าการรูดบัตรแทนกันแบบนี้ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง เพราะเข้าข่ายทุจริตหรือไม่ ?
เรื่องทำนองนี้เคยต้องไปถึงศาลแรงงานมาแล้วนะครับ ผมขอนำคำพิพากษาศาลฎีกามาให้ท่านดูตามนี้
ฎ.3095/2537 "การตอกบัตรแทนกันช่วงเลิกงานไม่ได้ค่าจ้างเพิ่ม นายจ้างไม่เสียหายแต่เป็นการผิดข้อบังคับการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง..."
จากกรณีข้างต้นเมื่อดูจากข้อเท็จจริงแล้ว พนักงานทั้งสองคนมีความผิดในเรื่องรูดบัตรแทนกันจริง แต่ความผิดนี้ "ไม่ร้ายแรง" เพราะไม่ได้เป็นการทุจริตนะครับ
ดังนั้น ในกรณีนี้ข้อแนะนำคือ บริษัทควรออกหนังสือตักเตือนพนักงานทั้งสองคนว่า ห้ามรูดบัตรลงเวลาแทนกันอีก
ถ้าลงเวลาแทนกันอีกบริษัทจะลงโทษยังไงต่อไป เช่น จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะบริษัทได้เคยตักเตือนในเรื่องนี้ไว้แล้ว เป็นต้น
แต่การที่บริษัทจะเลิกจ้างทันทีในครั้งนี้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ถ้าทั้งสองคนนี้ไปฟ้องศาลแรงงานบริษัทก็เตรียมค่าชดเชยตามอายุงานเอาไว้จ่ายพนักงานทั้งสองคนด้วยก็แล้วกันนะครับ
แล้วแบบไหนล่ะที่บริษัทสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่พนักงานลงเวลาแทนกัน ?
ก็เช่น...บริษัทให้ชวนพิศทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 17.00-22.00 น. แต่พอถึงเวลาทำโอที "ชวนพิศ" กลับแวบไปดูหนังกับแฟนแล้วฝากบัตรให้ "ชิดชม" ช่วยรูดบัตรแทนให้ด้วย แล้วเอาค่าโอทีมาแบ่งกัน
อย่างนี้แหละครับเข้าข่ายทุจริตเพราะรับเงินค่าโอทีของบริษัทไปแล้วแต่ไม่ได้ทำงานให้บริษัทจริง แถมยังเอาเงินค่าโอทีมาติดสินบนเพื่อนให้รูดบัตรกลับบ้านแทนเสียอีก พฤติการณ์แบบนี้แหละครับถึงจะเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ และบริษัทสามารถเลิกจ้างทั้งสองคนได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน
ประเด็นหลักที่สำคัญในเรื่องนี้ก็คือ...ให้ดูที่ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และข้อเท็จจริงนั้นเข้าข่ายทุจริตเป็นความผิดร้ายแรงจริงหรือไม่
ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าท่านคงเข้าใจความผิดที่เกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ดีขึ้นแล้วนะครับ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 01 ม.ค. 2559
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...