ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3943/2557 ระหว่างนายสมาน ศึกษา ลูกจ้างในฐานะโจทก์ และนายอัมพร นีละโยธิน กับพวก ในฐานะจำเลย
ย่อสั้น
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต้องใช้เหตุเลิกจ้างเฉพาะที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น จะยกเหตุอื่นนอกเหนือไม่ได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 (คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) จึงวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างที่ได้จากข้อเท็จจริงที่ได้จากโจทก์และจำเลยที่ 11 (นายจ้าง) ได้
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงยกข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 11 ขึ้นวินิจฉัยได้ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์ใช้วาจาไม่เหมาะสม แสดงกิริยาวาจาไม่เคารพและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีความเห็นขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาโดยตลอด ไม่อาจทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้ แม้จะไม่ใช่เหตุเลิกจ้างที่จำเลยที่ 11 อ้างในหนังสือเลิกจ้างก็ตาม
โจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 11 ต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นประธานอนุกรรมการสหภาพแรงงาน เป็นการยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 11 กระทำการอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 (2) ที่บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่การห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ซึ่งยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้ในกรณีลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรงตามมาตรา 123 (3)
ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 11 ไม่ได้เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และไม่ใช่การเลิกจ้างที่อยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ แม้โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 11 ก็เลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 121 (2), 123 (3)
________________________________
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 5/2548 ลงวันที่ 25 มกราคม 2548 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้จำเลยที่ 11 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม โดยคำนึงถึงการเสียโอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ผลประโยชน์ตอบแทน และสวัสดิการในระหว่างถูกเลิกจ้าง ให้จำเลยที่ 11 ชำระค่าเสียหายในระหว่างเลิกจ้างเท่ากับรายได้เดือนสุดท้ายที่โจทก์ได้รับในอัตราเดือนละ 18,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 11 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า สามารถวินิจฉัยข้อกฎหมายในคดีได้จากข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10) จึงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ส่งสำนวนการสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดต่อศาล และให้ถือรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ 15/2548 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นพยานศาล
คู่ความแถลงรับกันว่า เอกสารท้ายคำฟ้องยกเว้นสำเนาหนังสือมอบอำนาจ และเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นเอกสารที่มีอยู่จริงและมีข้อความดังที่ปรากฏในเอกสาร ศาลแรงงานกลางเห็นว่าพอวินิจฉัยคดีจากข้อเท็จจริงในเอกสารได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ทนายโจทก์แถลงขอส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ภายใน 15 วัน ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 27 มีนาคม 2550 แต่โจทก์ไม่ได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจต่อศาล
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 11 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าส่วนครัวเนื้อ แผนกครัว ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ค่าบริการเดือนละ 5,500 บาท ถึง 13,000 บาท เดือนสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้างได้รับค่าบริการ 6,720 บาท วันที่ 1 พฤษภาคม 2547 โจทก์สมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกิจการโรงแรมแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานรับโจทก์เป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 วันที่ 15 ตุลาคม 2547 สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นประธานอนุกรรมการสหภาพแรงงานสายโรงแรมฮิลตัน หัวหิน สหภาพแรงงานมีหนังสือลงวันที่ 15 ตุลาคม 2547 แจ้งการแต่งตั้งโจทก์เป็นประธานอนุกรรมการให้จำเลยที่ 11 ทราบ จำเลยที่ 11 ได้รับหนังสือวันที่ 19 ตุลาคม 2547 เวลา 10.49 นาฬิกา ในวันเดียวกันจำเลยที่ 11 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ปฏิบัติงานไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และเคยได้รับใบเตือนมาแล้วก่อนหน้านี้
มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมทัต ฟ้องคดีแทนหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมทัตดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า สำเนาหนังสือมอบอำนาจ ไม่ได้ระบุให้นายสมทัตผู้รับมอบอำนาจฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่ 5/2548 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้จำเลยที่ 11 รับโจทก์กลับเข้าทำงานและให้ชดใช้ค่าเสียหาย เท่ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดยอมรับว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมทัตตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจจริง แต่อ้างว่าตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจนั้นโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายสมทัตฟ้องคดีแทนเท่านั้น
จำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ให้การคัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารสำเนาหนังสือมอบอำนาจว่าไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงไม่มีประเด็นในคดีว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสมทัตตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจหรือไม่
ถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจ รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับ แม้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 27 มีนาคม 2550 ระบุว่าทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และทนายจำเลยที่ 11 ตรวจเอกสารท้ายคำฟ้องแล้วแถลงรับว่า “เป็นเอกสารที่มีอยู่จริงและมีข้อความดังปรากฏในเอกสารดังกล่าว ยกเว้น (สำเนา) หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง” ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่ามีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจหรือไม่
ศาลย่อมรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานการมอบอำนาจได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (4) (มาตรา 93 (1) เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมทัต “(1)...ดำเนินการแทนข้าพเจ้า (โจทก์) ในฐานะโจทก์หรือจำเลยในคดีของศาลแรงงานกลางได้ทุกประการ (2) ดำเนินกระบวนการพิจารณาแทนข้าพเจ้าไปในทางจำหน่ายสิทธิของข้าพเจ้าได้เช่น... (3) แต่งตั้งทนายความ หรือ...” เป็นข้อความที่ระบุให้นายสมทัตมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีของศาลแรงงานกลางไว้โดยชัดแจ้ง เป็นการมอบให้นายสมทัตมีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลแรงงานกลางโดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง
อีกทั้งการมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 (5) ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นจำเลยทั้งสิบเอ็ดหรือเป็นผู้ใด นายสมทัตจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ดต่อศาลแรงงานกลางแทนโจทก์
มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 รับฟังข้อเท็จจริงในการเลิกจ้างนอกเหนือจากหนังสือเลิกจ้างได้หรือไม่ และจำเลยที่ 11 เลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยที่ 11 ในกรณีร้ายแรงได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้อย่างละเอียดแล้วว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต้องใช้เหตุเลิกจ้างเฉพาะที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างเท่านั้น จะยกเหตุอื่นนอกเหนือไม่ได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างที่ได้จากข้อเท็จจริงที่ได้จากโจทก์และจำเลยที่ 11 ได้ ซึ่งต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว
ดังนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จึงยกข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 11 ขึ้นวินิจฉัยได้ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์ใช้วาจาไม่เหมาะสม แสดงกิริยาวาจาไม่เคารพและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา มีความเห็นขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาโดยตลอด ไม่อาจทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้
แม้จะไม่ใช่เหตุเลิกจ้างที่จำเลยที่ 11 อ้างในหนังสือเลิกจ้างก็ตาม โจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 11 ต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ว่าจำเลยที่ 11 เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเป็นประธานอนุกรรมการสหภาพแรงงานสายโรงแรมฮิลตัน หัวหิน
เป็นการยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 11 กระทำการอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 (2) ที่บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่การห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ซึ่งยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้ในกรณีลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรงตามมาตรา 123 (3)
ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 11 ไม่ได้เลิกจ้างเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และไม่ใช่การเลิกจ้างที่อยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ แม้โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 11 ก็เลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 121 (2), 123 (3)
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นในเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่ฟังไม่ขึ้นในเรื่องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ต้องวินิจฉัยสาเหตุเลิกจ้างเฉพาะที่ระบุในหนังสือเลิกจ้าง และจำเลยที่ 11 เลิกจ้างไม่ได้เพราะโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีร้ายแรง
พิพากษายืน
(วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - อนันต์ ชุมวิสูตร )
ศาลแรงงานกลาง - นายเกษมสันต์ วิลาวรรณ
หมายเหตุ : รูปประกอบจาก internet
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...