ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17020 - 17021/2557 ระหว่างบริษัทสยามมิชลิน จำกัด ในฐานะโจทก์ กับนายธนกร สมสิน จำเลยร่วม นายนิสัย สุขระ ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลย
คำพิพากษาย่อสั้น
หลังจากผู้แทนลูกจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์แล้ว โจทก์ได้ทยอยเรียกให้ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเข้าทำงานเป็นชุดโดยวิธีโทรศัพท์แจ้งลูกจ้างเป็นรายบุคคล ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ได้เรียกโจทก์ให้รออยู่ที่พัก ไม่ต้องเข้ารายงานตัวหรือลงเวลาที่บริษัท ไม่ได้มอบหมายงานให้ ลูกจ้างมีอิสระที่จะไปไหนได้ แต่ถ้าโจทก์โทรศัพท์แจ้งให้เข้าทำงานลูกจ้างต้องเข้าทำงานตามที่โจทก์กำหนด และโจทก์ยังจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการตามระเบียบของบริษัท
พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์มีคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของลูกจ้างในวันทำงานตามปกติ ดังนั้นการที่โจทก์ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างโดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วงที่รอเรียกตัวเข้าทำงานดังกล่าวอันเป็นวันทำงานตามปกติ จึงเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่าโจทก์จัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างตามมาตรา 64
คำพิพากษาย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 2 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ 144/2553 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2553, ที่ 170/2553 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 และที่ 259/2553 ลงวันที่ 28 กันยายน 2553 ของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้นายธนกร ลูกจ้างของโจทก์เข้าเป็นจำเลยร่วมในสำนวนแรก
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ 144/2553ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ที่ 170/2553 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 และที่ 259/2553 ลงวันที่ 28 กันยายน 2553 ของจำเลย
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันโดยไม่มีการสืบพยานว่า โจทก์กำหนดสภาพการทำงานของลูกจ้างไว้คือ วันทำงาน จันทร์ถึงอาทิตย์ วันหยุดประจำสัปดาห์ 1 วัน หมุนเวียนกันเวลาทำงาน แบ่งเป็น 3 กะ กะที่ 1 ตั้งแต่เวลา 6 ถึง 14 นาฬิกา กะที่ 2 ตั้งแต่เวลา 14 ถึง 22 นาฬิกา กะที่ 3 ตั้งแต่เวลา 22 ถึง 6 นาฬิกา หมุนเวียนกันพักคนละ 1 ชั่วโมง
โจทก์กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างคนละไม่น้อยกว่าหกวันทำงานแล้วแต่อายุงาน หากพนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีไม่หมดโดยมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่ ให้นำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลือในปีนั้นไปสมทบกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปีถัดไปได้ แต่ไม่เกินหกวันทำงานปกติ
หากโจทก์มิได้จัดให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปีน้อยกว่าที่กำหนดไว้ โจทก์จะจ่ายเงินเป็นค่าทำงานในวันหยุดเสมือนเป็นการทำงานในวันหยุด
หลังจากที่ผู้แทนลูกจ้างได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 โจทก์ได้รับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงกลับเข้าทำงานโดยทยอยเรียกให้ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเข้าทำงานเป็นชุด ชุดละประมาณ 10 ถึง 30 คนโดยวิธีโทรศัพท์แจ้งลูกจ้างเป็นรายบุคคล ซึ่งโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างทุกคนตามปกติตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 เป็นต้นมา
ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เรียกเข้าทำงานโจทก์ให้ลูกจ้างดังกล่าวรออยู่ที่พัก ไม่ต้องเข้าไปรายงานตัวหรือลงเวลาที่บริษัท ไม่ได้มอบหมายงานให้แก่ลูกจ้าง ลูกจ้างมีอิสระที่จะไปไหนก็ได้ แต่ถ้าโจทก์โทรศัพท์แจ้งให้ลูกจ้างเข้าทำงานลูกจ้างต้องเข้าทำงานตามที่โจทก์กำหนด คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและถือว่าลูกจ้างทำงานในเวลาทำงานปกติ
การที่โจทก์จ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการตามระเบียบหาใช่เป็นเพียงการรักษาสถานภาพการเป็นลูกจ้างของลูกจ้างไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีอำนาจในการจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างทั้งสิบแปด และแจ้งให้ลูกจ้างทั้งสิบแปดทราบล่วงหน้าและกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นวันทำงานปกติ
โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างทั้งสิบแปด คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมว่า โจทก์ได้จัดให้ลูกจ้างทั้งสิบแปดคนหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
และตามมาตรา 5 วันทำงาน หมายถึงวันที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติ
คดีนี้แม้โจทก์ยังไม่เรียกให้ลูกจ้างทั้งสิบแปดเข้าทำงาน โดยให้รออยู่ที่พัก ไม่ต้องเข้ามารายงานตัวที่บริษัท ไม่ต้องลงเวลาทำงาน ไม่มอบหมายงานให้ทำ แต่โจทก์ก็ยังคงจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการตามระเบียบของบริษัท และแม้ลูกจ้างมีอิสระที่จะไปไหนก็ได้ แต่ถ้าโจทก์โทรศัพท์แจ้งให้ลูกจ้างเข้าทำงาน ลูกจ้างต้องเข้าทำงานตามที่โจทก์กำหนด
พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์มีคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของลูกจ้างทั้งสิบแปดในวันทำงานตามปกติ
ดังนั้น การที่โจทก์ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างทั้งสิบแปด โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในช่วงที่รอเรียกตัวเข้าทำงานดังกล่าวอันเป็นวันทำงานตามปกติ จึงเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่าโจทก์ได้จัดให้ลูกจ้างทั้งสิบแปดหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายแล้ว
โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 64 ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยมานั้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
(วาสนา หงส์เจริญ - นิยุต สุภัทรพาหิรผล - สุนันท์ ชัยชูสอน )
ศาลแรงงานภาค 2 - นายธวัชชัย ถาวรสุจริตกุล
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...