ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
จากกรณีนางนุชนารถ ราชภุชงค์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และนายนนท์ชัย ราชภุชงค์ สามี ได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อดังแห่งหนึ่งของนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ย่านถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
และได้เข้าเรียกร้องกับบริษัทขอคืนรถยนต์กระบะตอนเดียว ที่ซื้อด้วยเงินดาวน์ กว่า 1 แสนบาท และได้นำรถยนต์คันนี้ไปประท้วง ขอคืนรถและเรียกเงินดาวน์คืน ที่หน้าบริษัทเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่บริษัทผู้จำหน่ายรับเพียงซ่อมแซมให้เท่านั้น โดยปฏิเสธที่จะรับคืนรถและคืนเงินดาวน์ หลังจากนั้นผู้ซื้อได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ บริษัทผู้ผลิต และบริษัทไฟแนนซ์ผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้นางนุชนารถ เช่าซื้อ
ต่อมาศาลชั้นต้นได้พิจารณายกฟ้อง ขณะที่นางนุชนารถได้ยื่นอุทธรณ์ และขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 คือบริษัทไฟแนนซ์ที่ให้เช่าซื้อเนื่องจากเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง มีสถานะเป็นเพียงบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ ที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากบริษัทผู้จัดจำหน่าย
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า (26 มี.ค.) ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภค ได้รับอุทธรณ์ และพิจารณาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยสาระสำคัญของคำพิพากษา สรุปความได้ว่า ที่จำเลยที่ 1 (ตัวแทนจำหน่าย) และที่ 2 (บริษัทผู้ผลิต) โฆษณาไว้จึงเป็นการชำรุดบกพร่อง ที่เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ของโจทย์ในอันมุ่งจะใช้เป็นปกติ
โจทย์จึงชอบที่จะบอกเลิกสัญญาโดยคืนรถยนต์แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยหาจำต้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนชิ้นส่วนบกพร่องนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472
"พิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับคืนรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์ และร่วมกันชำระเงิน 191,868 บาท แก่โจทย์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดี เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทย์ และร่วมกันชำระเงินค่าเช่าซื้อที่โจทย์ชำระแก่จำเลยที่ 3 ไปโดยหักเป็นค่าใช้ทรัพย์เดือนละ 5 พันบาท นับแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อไป จนกว่าโจทก์จะส่งมอบรถยนต์แก่จำเลยที่ 1 หรือที่ 2
และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือแก่จำเลยที่ 3 ในนามโจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล ที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดในนามโจทย์ มาวางต่อศาลและชำระค่าทนายความรวม 8 พันบาท"
สำหรับกรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 พ.ย.57 หลังจาก นายนนท์ชัย ราชภุชงค์ นำรถยนต์กระบะตอนครึ่ง ที่ซื้อมาเพียง 3 เดือน และส่งซ่อมแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ทางศูนย์แก้ปัญหาให้ไม่ได้ จึงนำมาจอดหน้าศูนย์บริการของบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง ใน จ.นครศรีธรรมราช เป็นรถยนต์กระบะเครื่องยนต์เบนซิน ติดตั้งระบบแก๊สเอ็นจีวีจากโรงงานผู้ผลิต
หลังประสบปัญหาใช้ระบบแก๊สไม่ได้ บางครั้งทั้งระบบแก๊ส และน้ำมันทำงานพร้อมกัน และเข้าเกียร์ถอยหลังไม่ได้ จึงมาเจรจากับบริษัท จนในที่สุดได้ยื่นฟ้องศาลและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษา ให้บริษัทผู้จำหน่ายและผู้ผลิตรับคืนรถยนต์คันนี้
Sanook! News 27 มีนาคม 2559
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...