ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของตนเองมาเกินสิบปี ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2558

 

คำพิพากษาย่อสั้น

 

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์รวมทั้งทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของจำเลย โดยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว

 

เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ด้วยไม่

 

คำพิพากษาย่อยาว

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนต้นไม้ของจำเลยที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9495 ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ประมาณ 72 ตารางวา ของโจทก์ออกไปทั้งหมดแล้วให้จำเลยปรับปรุงดินบริเวณดังกล่าวให้คงสภาพเดิม และห้ามจำเลยพร้อมทั้งบริวารรบกวน หรือยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของโจทก์อีก และให้จำเลยเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุโขทัย สาขากงไกรลาศ รังวัดเพื่อแบ่งแยกในนามเดิมของโฉนดที่ดินเลขที่ 9495 ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 3,200 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนต้นไม้ของจำเลยออกจากที่ดินของโจทก์และปรับปรุงที่ดินของโจทก์ให้แล้วเสร็จและอยู่ในสภาพเดิม

 

จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9495 ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ทางด้านทิศตะวันตกในส่วนที่ติดกับที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 16271 ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ 72 ตารางวา ตามเนื้อที่ภายในเส้นสีแดงแผนที่สังเขปเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

 

ให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 9495 ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ให้แก่จำเลยเพื่อจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามคำขอท้ายคำฟ้องแย้งภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์ในการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน

 

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9495 ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เฉพาะส่วนทางด้านทิศตะวันตกที่จำเลยครอบครองอยู่ เนื้อที่ 72 ตารางวา ในกรอบสีเขียวตามแผนที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยด้วยการครอบครองปรปักษ์ ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์

 

โจทก์อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้จำเลยรื้อถอนต้นไม้ของจำเลยที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9495 ตำบลไกรใน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ 72 ตารางวา ในกรอบสีเขียวตามแผนที่พิพาท แล้วให้จำเลยปรับปรุงดินบริเวณดังกล่าวให้คงสภาพดังเดิม และห้ามจำเลยพร้อมทั้งบริวารรบกวนหรือยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของโจทก์อีกต่อไป

 

ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ปีละ 3,200 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 13 พฤศจิกายน 2555) จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนต้นไม้ของจำเลยออกจากที่ดินของโจทก์และปรับปรุงที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท

 

จำเลยฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลย ถือเป็นการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายได้หรือไม่ เห็นว่า

 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติว่า "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์"

 

คดีนี้จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์โดยทำคันนาเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตระหว่างที่ดินโจทก์และจำเลยดังกล่าวและปลูกต้นไม้รวมทั้งทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของจำเลย โดยครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว

 

ดังนี้เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่

 

ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า การครอบครองปรปักษ์จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อฝ่ายจำเลยอ้างในคำให้การและคำแก้อุทธรณ์โจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงไม่อาจมีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

 

ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น และเนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า จำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ และคดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันจำนวน 200,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ยังมิได้วินิจฉัยดังกล่าวอาจเป็นผลให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 เปลี่ยนแปลงไป ทั้งอาจมีกรณีจำกัดสิทธิของคู่ความในการฎีกา

 

ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้นศาลเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (3) ประกอบด้วยมาตรา 247

 

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้รวมสั่งเมื่อได้มีคำพิพากษาใหม่

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382



28/May/2016

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา