ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน กับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

(1) สถานการณ์โดยทั่วไป

 

กล่าวได้ว่าการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (AEC)ในปี 2558 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมาชิกอาเซียนทุกประเทศต้องเปิดเสรีทางระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนข้ามชาติระหว่างอาเซียน รวมทั้งก่อให้เกิดการเปิดทางให้แรงงานไทยหลายๆสาขาอาชีพเคลื่อนย้ายไปทำงานในอาเซียนได้อย่างเสรี

 

โดยในระยะแรกของเออีซี ได้เปิดเสรีให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปมาระหว่างอาเซียนเพียง 8 อาชีพเท่านั้นคือ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักบัญชี วิศวกร ช่างสำรวจ สถาปนิก และการบริการท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งทั้ง 8 อาชีพดังกล่าวมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในการเคลื่อนย้าย เช่น ในประเทศไทย แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ก็ต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตการทำงานของแพทยสภา หรือต้องพูดภาษาไทยได้ในระดับหนึ่งเพื่อสะดวกในการสื่อสารกับคนไข้ หรือนักบัญชีต้องผ่านการรับรองของสภาวิชาชีพบัญชีที่เป็นหน่วยงานในการพิจารณาอนุญาตให้นักบัญชีขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ให้มีสิทธิทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของหน่วยงานองค์กร สถานประกอบการต่างๆ ซึ่งประเทศอื่นๆในอาเซียนก็คงกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเช่นกัน

 

สำหรับการเปิดเสรีอาเซียนในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีนั้นจะเข้ามาได้ 2 รูปแบบ คือ (1) Free Flow ใน 8 สาขาวิชาชีพที่แต่ละประเทศได้จัดทำระเบียบหลักเกณฑ์ร่วมกันไว้ (2) กลุ่มแรงงานที่เข้ามาอยู่ในรูปแบบของบริษัท โดยในอนาคตกำหนดให้ต่างชาติเป็นเจ้าของในกิจการได้ในสัดส่วนการถือหุ้น 70 % จากปัจจุบันอยู่ที่สัดส่วน 41 % ซึ่งการจัดตั้งบริษัทจะมีแรงงานแฝงเข้ามาด้วย

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดกลุ่มบุคคลที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ บุคคลที่สามารถเข้าถึงโอกาสในการเปิด AEC ได้แก่ 1.ผู้มีการศึกษาสูง 2.ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง 3.เจ้าของกิจการ ส่วนแรงงานส่วนใหญ่อีกกว่า 50 – 60% นั้น โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบจะไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิด AEC แม้แต่น้อย

 

(2) ผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้นต่อแรงงานในประเทศไทย ภายหลังการเปิด AEC

 

(2.1) แรงงานในระบบในระดับล่างจะตกงานมากขึ้น กล่าวคือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้นักลงทุนชาวไทยย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการจ้างแรงงานไทยภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ อาจต้องหยุดชะงักลง หรือมีการไปจ้างทำการผลิตในต่างประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า (Outsourcing) ซึ่งสามารถกระทำได้ง่ายมากขึ้น

 

เนื่องจากมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกันระหว่างชาติที่เป็นสมาชิก (ไม่มีการกีดกันการลงทุน) และหากเหตุการณ์เช่นนี้บานปลายไปเรื่อยๆ วันหนึ่งข้างหน้าประเทศไทยจะประสบปัญหาเหมือนอย่างที่สหรัฐอเมริกาพบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทำให้คนอเมริกันตกงานหางานทำไม่ได้ เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมจะนิยมไปจ้างแรงงานราคาถูกที่อยู่ในประเทศอื่นดำเนินการแทน และจะเป็นปัญหาระยะยาวของไทยในวันข้างหน้าหากละเลยประเด็นเช่นนี้ไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในไทยบางประเภทมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า เช่น พวกสิ่งทอ รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เมื่อนายทุนไปจ้างทำของในประเทศอื่นก็จะทำให้โรงงานในประเทศไม่สามารถเปิดทำงานและแรงงานไม่มีงานทำดังเช่นปกติ ซึ่งสามารถนำไปสู่วิกฤตการณ์การว่างงานในอัตราส่วนที่สูงและเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

 

(2.2) อำนาจในการต่อรองของแรงงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือจะลดลง เพราะเมื่อนายจ้างมีโอกาสมากขึ้นในการเลือกจ้างแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น อำนาจในการต่อรองของแรงงานย่อมลดลงโดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพที่มีการเปิดเสรี ตลาดแรงงานเปิดกว้างมากขึ้น การแข่งขันย่อมสูงขึ้นเป็นภาวะกดดันให้แรงงานต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพดีขึ้น เพราะผู้ประกอบการสามารถย้ายฐานการผลิตไปใช้แรงงานที่สอดคล้องกับการผลิตมากกว่า และเมื่อไปลงทุนในอาเซียนสามารถนำนักวิชาชีพไปทำงานได้สะดวกขึ้นกว่าการใช้แรงงานในประเทศที่ไปลงทุน

 

(2.3) จะเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมากขึ้น เพราะการรวมตัวของอาเซียนจะทำให้เกิดการย้ายทุนเสรี ในขณะเดียวกันทุนการเคลื่อนย้ายเสรีจะพยายามสร้างประโยชน์จากแรงงานที่ติดอยู่กับพื้นที่ เพราะแรงงานเหล่านี้จะถูกล็อกไม่ให้เคลื่อนที่ เนื่องจากกฎหมายต่างๆไม่เอื้อ และรวมทั้งรัฐบาลก็พยายามที่จะให้ประโยชน์กับทุนที่เข้ามาหาประโยชน์ เช่นการลงทุนที่ไม่ต้องเสียภาษี มีสิทธิประโยชน์ต่างๆมากมาย ซึ่งจะทำให้แรงงานที่ติดอยู่กับพื้นที่ก็จะถูกขูดรีดมากขึ้น ในขณะที่ทุนก็มีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยการอ้างว่าจะย้ายฐานการผลิต เป็นต้น

 

(3) แรงงานข้ามชาติกับการเปิดประชาคมอาเซียน

 

เวลาที่พูดถึงแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานข้ามพรมแดนโดยเฉพาะ พบว่า งานส่วนใหญ่ที่แรงงานข้ามชาติทำอยู่ตอนนี้ได้แก่ ก่อสร้าง ประมง ประมงต่อเนื่อง การเกษตร ปลูกพืชสวน ปศุสัตว์ หรือเป็นแรงงานที่ทำงานในบ้าน ทำงานเก็บขยะ พนักงานบริการในร้านอาหาร งานในโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานในการขนส่งสินค้า ขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานในมิติของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอนุญาตให้เคลื่อนย้ายแรงงานได้เพียง 8 อาชีพ ซึ่งจะเห็นว่าไม่รวมถึงแรงงานข้ามแดนส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้

 

กรณีแรงงานข้ามแดนในประเทศไทย พบว่ามีหลายประเภททั้งที่ขออนุญาตทำงานรายปี (มี work permit) จากพม่า ลาว กัมพูชา ประมาณ 8 แสนกว่าคน อีกส่วนหนึ่งที่ไปพิสูจน์สัญชาติซึ่งได้หนังสือเดินทางชั่วคราว 6 แสนกว่าคน แต่จากการประมาณการตัวเลขของของคนทำงานเรื่องแรงงานย้ายถิ่นคาดการณ์ว่า น่าจะมีแรงงานประมาณล้านกว่าคน ที่อาจจะเคยมีสถานะภาพแต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว หรือไม่เคยมีสถานภาพเลย ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ถาวรที่สุดในประเทศไทย เพราะภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการอยู่

 

สิ่งหนึ่งที่เจอไม่ว่าแรงงานข้ามแดนจะมีสถานภาพที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ส่วนใหญ่ไม่มีการรับการประกันว่าจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ ตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดอยู่ที่ 300 บาท แต่ค่าจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมเช่นแม่สอด คนงานได้ค่าจ้างต่อการทำงาน 12 ชั่วโมง เพียง 65 บาท ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ได้โดยการทำงานล่วงเวลา ซึ่งคล้ายกับแรงงานไทยในนิคมอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งทั่วประเทศ

 

น่าสนใจตรงที่อาเซียนมีปฏิญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ แต่ปฏิญญานี้ไม่ได้กำหนดมาตรฐานสิทธิแรงงานขั้นต่ำเอาไว้ รวมถึงครอบคลุมเฉพาะแรงงานที่ถูกกฎหมาย มีหนังสือเดินทางเข้าเมืองอย่างถูกต้องเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะการย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขงที่มีการข้ามมาทางชายแดนโดยไม่เอกสาร หรือ ข้ามมาทำงานตามฤดูกาลเพียงไม่กี่วัน  เนื่องจากข้ามแดนมาอย่างถูกกฎหมายจะมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ต้องจ่ายให้กับบริษัท หรือเวลาถูกโกงก็ไม่ได้รับเงินคืนเพราะไม่มีหลักประกัน

 

ในส่วนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คำถามสำคัญอยู่ว่า ตัวแนวคิดของการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้จะเป็นการให้ประโยชน์เฉพาะกับนายทุนกับภาคธุรกิจแทนที่จะเป็นคนส่วนใหญ่ในภูมิภาคหรือไม่ เพราะถึงจะมีการระบุถึงจุดมุ่งหมายในการรวมตัวเพื่อการขจัดความยากจน แต่ไม่แน่ใจว่าจะขจัดได้อย่างไรเมื่อไม่ได้คุ้มครองคนยากจนส่วนใหญ่ที่อยู่ในการทำงาน

 

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้านหนึ่งถูกนำเสนอว่าจะเป็นโอกาสจูงใจแรงงานที่มีฝีมือ และเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศ แต่อีกด้านก็มองว่าเป็นการคุกคามแนวโน้มการย้ายถิ่น และมาตรฐานด้านแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้จะเห็นนักลงทุนจากหลายประเทศทั้ง ไทย มาเลเซีย สิงค์โปร หรือแม้กระทั่งยุโรปและอเมริกาก็หันเหการลงทุนไปที่พม่า เพื่อหาโอกาสในการลงทุน ส่วนประเทศที่เคยคว่ำบาตรและไม่เคยลงทุนในพม่ามาก่อนก็ยกเลิกการคว่ำบาตรโดยที่ไม่คุยกับประชาสังคม หรือกลุ่มที่ทำเรื่องประชาธิปไตย หรือเรื่องผู้หญิง

 

สิ่งที่เป็นห่วงคือการฉกฉวยโอกาสฉับพลันที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยที่ไม่คำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่าพม่าในขณะนี้ไม่มีการคุ้มครองแรงงาน จะทำให้เกิดการแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุด ที่ทำให้เกิดการกดขี่ค่าแรง สิทธิแรงงานจะถูกละเมิด รวมถึงการเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบ เมื่อไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย หรือธรรมาภิบาล หรือไม่มีการปกป้องทรัพยากร จะส่งผลทำลายการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของประชาชนในภูมิภาค ซึ่งไม่รวมเรื่องแรงงานเท่านั้น มันมีอีกหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่จะเข้าไปลงทุนในพม่า คำถามคือการใช้ทรัพยากรแบบนี้ เมื่อมันไม่ได้แบ่งปันหรือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนส่วนใหญ่ ก็ขจัดความยากจนไม่ได้อย่างแท้จริง

 

หรือกรณีประเทศไทย พบว่าเอกสารเผยแพร่ของภาคอุตสาหกรรมไทยที่จัดเตรียมไว้รับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนระบุอย่างชัดเจนว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราค่าแรงต่ำ ค่าจ้างแรงงานของไทยยังไม่สูงเท่าใดนัก ทำให้ภาคการผลิตของไทยมีความสามารถด้านการแข่งขันแรงงาน นี่คือจุดแข็งของภาคอุตสาหกรรม แต่ในอีกมิติหนึ่งมันคือการคุกคามสิทธิแรงงาน เพราะฉะนั้นมันจึงท้าทายในประเด็นนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะใช้ได้จริงหรือไม่

 

ถ้าภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจมีแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้ จะมีผลอย่างไรในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีการวิเคราะห์เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน พบว่าหลายกลุ่มที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานไทย ชี้ว่าอาจจะนำไปสู่มีการขยายการเลือกปฏิบัติในส่วนสภาพของแรงงานและสิทธิของแรงงานมากขึ้น เนื่องจากมีการแยกประเภทออกเป็นกลุ่มแรงงานต่างๆ เช่น แรงงานมีฝีมือ แรงงานไร้ฝีมือ ผนวกกับกรอบของประชาสังคมและเศรษฐกิจอาเซียน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ ฉะนั้นการพัฒนาหรือเสริมสร้างแรงงานที่ถูกเรียกว่าทักษะต่ำหรือไร้ฝีมือจึงถูกละเว้น ยิ่งจะทำให้แรงงานกลุ่มนี้อยู่ในจุดที่ต่ำสุดต่อไป ทั้งที่สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ควรเป็นสิทธิที่พึงได้รับอย่างทั่วถึงทุกคน

 

(4) ทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน กับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

 

จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมา ดังนั้นทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ควรจะต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้

 

(4.1) การสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานไทย เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองและให้การศึกษากับคนงานให้รับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน ปี 2558 ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของแรงงานไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะความเป็นธรรมในด้านสิทธิแรงงาน วัฒนธรรมและผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม

 

(4.2) รัฐบาลไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการจ้างงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะการเปิดเสรีอาเซียนจะทำการจ้างงานแรงงานประจำในโรงงานหรือสถานประกอบการลดลง แต่กลับจ้างแรงงานยืดหยุ่นหรือแรงงานนอกระบบขึ้น แรงงานในลักษณะนี้จะเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวหรือจ้างตามฤดูกาล แต่พบว่าทุกวันนี้ระบบสวัสดิการและการคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิและบริการของแรงงานกลุ่มนี้ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน คำถาม คือ ในอนาคตจะมีการจัดระบบสวัสดิการของแรงงานเหล่านี้อย่างไร และจะให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างไร หรือแรงงานของไทยที่จะส่งออกไปนอกประเทศ จะมีนโยบายที่ชัดเจนอย่างไร เช่น  ระบบประกันสังคมจะเป็นอย่างไร

 

เพราะถ้ารวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน หมายความว่าแรงงานจะมีการเคลื่อนย้าย แล้วแรงงานที่เคลื่อนย้ายไปประเทศอื่นจะเข้าถึงสิทธิประกันสังคมอย่างไร รวมถึงต้องคิดด้วยว่าจะจัดการปฏิรูประบบคุ้มครองแรงงานอย่างไร หรือการจัดการระบบการศึกษาที่เอื้อต่อคนทำงานที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อยกระดับตัวเองให้สามารถเข้าไปสู่การจ้างงานแรงงานแบบใหม่ๆ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายแรงงานให้มีมิติในการมองถึงความเป็นธรรมต่างๆ เหล่านี้ด้วย

 

(4.3) การพัฒนาทักษะฝีมือและความสามารถทางด้านภาษาสากลหรืออย่างน้อยหนึ่งในภาษาอาเซียนที่แรงงานควรจะต้องสื่อสารได้ กล่าวคือการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนเปิดโอกาสให้มีการเปิดเสรีการลงทุนทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีความได้เปรียบในเรื่องภาษาได้เคลื่อนย้ายตามบริษัทแม่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือแม้แต่บริษัทที่มีอยู่เดิม อาจจะเปลี่ยนไปจ้างแรงงานต่างชาติที่มีฐานค่าจ้างถูกกว่าในระดับฝีมือที่ใกล้เคียงกัน

 

ในที่นี้หมายถึงแรงงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือที่ไม่ได้อยู่ในกรอบการเคลื่อนย้ายเสรีโดยตรงก็ได้ แม้ประเทศไทยจะประกาศปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2556 นี้ก็ตาม แต่ในเชิงการตลาดไม่ได้หมายความว่าแรงงานไทยจะมีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้นตามค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

 

(4.4) การเสริมสร้างความสัมพันธ์ในด้านทัศนคติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและลดข้อขัดแย้งต่างๆของแรงงานกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ ที่ต้องมาทำงานร่วมกับแรงงานไทยที่มีวัฒนธรรมหรือรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน

 

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

สิงหาคม 2556



22/Nov/2013

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา