ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การพิจารณาว่าองค์กรนั้นประกอบกิจการที่ไม่ได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอันจะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องนำบทบัญญัติ หมวด 11 ค่าชดเชย มาบังคับใช้ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ ต้องคำนึงถึงลักษณะการประกอบกิจการแท้จริงและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกิจการที่ระบุในข้อบังคับประกอบด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1557/2559

 

คำพิพากษาย่อสั้น

 

การพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการที่ไม่ได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอันจะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องนำบทบัญญัติ หมวด 11 ค่าชดเชย มาบังคับใช้ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่ ต้องคำนึงถึงลักษณะการประกอบกิจการแท้จริงและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกิจการที่ระบุในข้อบังคับประกอบด้วย

 

การจัดตั้งกิจการของจำเลยที่ 1 มีที่มาจาก พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 หมวด 7 องค์กรเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ส่วนที่ 2 สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ มาตรา 230 ถึงมาตรา 237 ที่บัญญัติให้บริษัทหลักทรัพย์รวมกันจัดตั้งเป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกันได้ โดยต้องมีข้อบังคับ ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล

 

และให้นำ พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการ การควบคุม การเลิก และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 หมวด 3 การดำเนินกิจการของสมาคมการค้า มาตรา 22 (1) บัญญัติห้ามมิให้สมาคมการค้ากระทำการประกอบวิสาหกิจโดยสมาคมการค้านั้นเอง หรือเข้าดำเนินการในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก หรือเข้ามีส่วน ถือหุ้น เป็นหุ้นส่วน หรือร่วมทุนในการประกอบวิสาหกิจกับบุคคลใด ๆ เว้นแต่เป็นการถือตราสารหนี้หรือเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่สมาคมการค้า มาตรา 23 บัญญัติห้ามมิให้สมาคมการค้าแบ่งปันผลกำไรหรือรายได้ให้แก่สมาชิก

 

และมาตรา 4 ให้นิยาม "ผู้ประกอบวิสาหกิจ" หมายความว่าบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจทางการค้า อุตสาหกรรมหรือการเงิน และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจอื่นในทางเศรษฐกิจที่รัฐมนตรีจะได้กำหนดในกฎกระทรวง การฝ่าฝืนมีโทษปรับตามมาตรา 48 แสดงว่าตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 230 ถึงมาตรา 237 ประกอบ พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 กำหนดให้กิจการสมาคมเช่นจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเพื่อกิจการที่ไม่แสวงหากำไรเท่านั้น กล่าวคือไม่สามารถแบ่งปันผลกำไรหรือรายได้ให้แก่สมาชิก

 

ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 5 กำหนดวัตถุประสงค์ตาม (1) ถึง (8) ไม่ปรากฏว่าได้ระบุวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไว้ ส่วนวัตถุประสงค์ตาม (2) ที่ว่าส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้

 

มีความหมายว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือส่งเสริมและพัฒนาการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ซึ่งไม่ได้กำหนดเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ

 

ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ 6 มุ่งเน้นควบคุมดูแลจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ส่วนข้อ 10 ข้อ 116 ถึงข้อ 118 กำหนดให้จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าสมาชิกหรือค่าโอนสิทธิ ค่าบำรุง ค่าบริการ และค่ายื่นคำขอขึ้นทะเบียนข้อมูลตราสารหนี้ได้ก็เพื่อหารายได้ดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา ไม่มีข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อใดที่กำหนดให้นำรายได้ไปแบ่งปันเป็นผลกำไรแก่สมาชิกหรือผู้ใด ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินรายได้สนับสนุนจากกระทรวงการคลังซึ่งใช้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ข้างต้น และรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายไม่มีการแบ่งให้แก่สมาชิกของจำเลยที่ 1

 

แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน เป็นการประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจซึ่งมิให้นำบทบัญญัติ หมวด 11 ค่าชดเชย มาใช้บังคับตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

 

คำพิพากษาย่อยาว

 

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามเดิม

 

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นค่าจ้างกับดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม 725,602 บาท ค่าชดเชยและค่าชดเชยพิเศษรวมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม 25,463,767 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายในมูลละเมิด 500,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นค่าชดเชยกับดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม 3,356,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2

 

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง

 

จำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาต

 

อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยที่ 33/2555 ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการที่ไม่ได้แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอันจะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องนำบทบัญญัติ หมวด 11 ค่าชดเชย มาบังคับใช้ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ ต้องคำนึงถึงลักษณะการประกอบกิจการแท้จริงและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกิจการที่ระบุในข้อบังคับประกอบด้วย

 

การจัดตั้งกิจการของจำเลยที่ 1 มีที่มาจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หมวด 7 องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ส่วนที่ 2 สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ มาตรา 230 ถึงมาตรา 237 ที่บัญญัติให้บริษัทหลักทรัพย์รวมกันจัดตั้งเป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกันได้

 

โดยต้องมีข้อบังคับ ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล และให้นำกฎหมายว่าด้วยสมาคมการค้าซึ่งคือพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการ การควบคุม การเลิก และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในส่วนนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 หมวด 3 การดำเนินกิจการของสมาคมการค้า มาตรา 22 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้สมาคมการค้ากระทำการใดๆดังต่อไปนี้

 

(1) ประกอบวิสาหกิจโดยสมาคมการค้านั้นเอง หรือเข้าดำเนินการในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก หรือเข้ามีส่วนถือหุ้น เป็นหุ้นส่วน หรือร่วมทุนในการประกอบวิสาหกิจกับบุคคลใดๆ เว้นแต่เป็นการถือตราสารหนี้ หรือเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่สมาคมการค้า

 

(2)..." มาตรา 23 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้สมาคมการค้าแบ่งปันผลกำไรหรือรายได้ให้แก่สมาชิก..." และมาตรา 4 ให้นิยาม "ผู้ประกอบวิสาหกิจ หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบธุรกิจทางการค้า อุตสาหกรรมหรือการเงิน และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจอื่นในทางเศรษฐกิจที่รัฐมนตรีจะได้กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งการฝ่าฝืนมีโทษปรับตามมาตรา 48 เช่นนี้

 

แสดงว่าตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 230 ถึงมาตรา 237 ประกอบพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 กำหนดให้กิจการสมาคมเช่นจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเพื่อกิจการที่ไม่แสวงหากำไรเท่านั้น กล่าวคือไม่สามารถแบ่งปันผลกำไรหรือรายได้ให้แก่สมาชิก ซึ่งจำเลยที่ 1 จัดทำข้อบังคับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ข้อ 5 กำหนดวัตถุประสงค์ของสมาคมดังต่อไปนี้

 

(1) เป็นศูนย์รวมของข้อมูลด้านตลาดตราสารหนี้และให้บริการข้อมูลตราสารหนี้ (2) ส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ (3) ส่งเสริม พัฒนา และกำหนดมาตรฐานและวิธีปฏิบัติในการประกอบธุรกิจตราสารหนี้ (4) กำกับดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ จรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติในตลาดตราสารหนี้ (5) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับตราสารหนี้ รวมถึงรับปรึกษาและให้ความเห็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเผยแพร่ข่าวสารประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ (6) ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสมาชิก (7) ประนีประนอมและแก้ไขข้อพิพาทระหว่างสมาชิกหรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกอันเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจด้านตราสารหนี้ (8) บำเพ็ญสาธารณประโยชน์และกระทำกิจการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ไม่ปรากฏว่าได้ระบุวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไว้

 

ส่วนวัตถุประสงค์ตามข้อ 2 ที่ว่าส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ ก็มีความหมายว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือส่งเสริมและพัฒนาการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและผู้มีส่วนร่วมในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งไม่ได้กำหนดเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ข้อบังคับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ส่วนที่ 6 มุ่งเน้นควบคุมดูแลจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ส่วนที่ข้อบังคับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ข้อ 10 ข้อ 116 ถึงข้อ 118 กำหนดให้จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าสมาชิกหรือค่าโอนสิทธิ ค่าบำรุง ค่าบริการ และค่ายื่นคำขอขึ้นทะเบียนข้อมูลตราสารหนี้ได้ ก็เพื่อหารายได้ดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา ไม่มีข้อบังคับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยข้อใดที่กำหนดให้นำรายได้ไปแบ่งปันเป็นผลกำไรแก่สมาชิกหรือผู้ใด

 

ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงตามงบรายได้และรายจ่าย ที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินรายได้สนับสนุนจากกระทรวงการคลังซึ่งใช้พื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ข้างต้นด้วย

 

ประกอบกับศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะการประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 ว่ารายได้ที่มากกว่ารายจ่ายไม่มีการแบ่งให้แก่สมาชิก แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน เป็นการประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจซึ่งมิให้นำบทบัญญัติ หมวด 11 ค่าชดเชย มาใช้บังคับตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

 

พิพากษายืน

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541

 

พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

 

พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 มาตรา 48

 

พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 มาตรา 4

 

พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 มาตรา 23

 

พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 มาตรา 22

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4

 

ข้อมูลจาก: ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา



06/Sep/2016

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา