ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
สมัยเด็กครูถวิลกับข้าพเจ้าเคยเรียนหนังสือ ป.4 มาด้วยกัน อยู่วัดกินข้าววัดด้วยกันมา พอโตขึ้น ครูถวิลก็ไปเป็นครูใหญ่ ส่วนข้าพเจ้าก็ไปเป็นอัยการแผ่นดิน แยกย้ายกันไป
ข้าพเจ้ากลับมาบ้านเกิดบ้านนอกคอกนาอีกครั้งหนึ่ง เช้าวันนี้อากาศแจ่มใสดีมาก ตะวันสีแดง คอยๆ ลอยขึ้นที่ขอบฟ้า ข้าพเจ้านั่งจิบกาแฟที่ข้างบ่อน้ำหลังบ้าน ครูถวิลเข้ามานั่งคุยกับข้าพเจ้า ในฐานะเพื่อนเก่า
“พี่ร่วม ขอปรึกษากฎหมายหน่อยซี”
“เอาเลย”
“คือ ครูสมศรีลูกน้องผม มีแฟนเป็นผู้รับเหมาชื่อแสวง มีลูกชายอายุสามขวบหนึ่งคน คุณแสวงไปมีเมียอีกคนชื่อสวย เป็นนางพยาบาลอยู่ที่จังหวัด คุณแสวงแกซื้อบ้านหนึ่งหลังกับเปิดร้านขายยาให้กับนางพยาบาลด้วย
ครูสมศรีถามผมว่า ถ้าเกิดแฟนเขาตายลง ร้านขายยากับบ้านหลังนั้นจะเป็นของใคร ผมก็ตอบไม่ได้ ผมไม่ได้เรียนกฎหมาย พี่ร่วมช่วยบอกผมด้วย ผมจะได้ไปเล่าให้ครูสมศรีฟัง...”
ข้าพเจ้ายกแก้วกาแฟขึ้นจิบก่อนจะอธิบายกฎหมายให้เพื่อนเก่าฟัง...
“ถวิล... ต้องแยกออกเป็นสองอย่างระหว่างทรัพย์สินของเมียหลวงกับเมียน้อย เมียหลวงตามกฎหมายนั้นตั้งแต่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง พ.ศ. 2478 มาจนถึง พ.ศ. 2519 ประมาณ 40 กว่าปีแล้ว กฎหมายเขาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไว้สามอย่างด้วยกัน คือ... สินเดิม สินส่วนตัว กับ สินสมรส...
สินเดิม คือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาก่อนจะสมรส เช่น นายดำสามีมีบ้านที่ดินมาก่อนจะแต่งงานกับนางเหลือง นางเหลืองมีรถยนต์ 1 คันมาก่อนจะแต่งงานกับนายดำ อย่างนี้บ้านที่ดินเป็นสินเดิมของนายดำ ส่วนรถยนต์เป็นสินเดิมของนางเหลือง
“เข้าใจครับ”
สินส่วนตัว คือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดใช้เป็นของใช้ส่วนตัวของเขา เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ประกอบอาชีพ เช่น กระเป๋ายารักษาโรคของนางพยาบาล เลื่อยตัดไม้ของช่างไม้ที่เขา ใช้เป็นส่วนตัว พวกนี้เป็นสินส่วนตัวทั้งนั้น...
อีกอย่างคือ สินสมรส คือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาระหว่างที่สมรสกันถือว่าเป็นทรัพย์สินร่วมกัน
“แล้ว...”
“เดี๋ยวก่อน... แต่ทุกวันนี้ไม่มี สินเดิม แล้ว มีแต่ สินสมรส กับ สินส่วนตัว...”
“อ้าว!”
“เพราะกฎหมายยกเลิกสินเดิมแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2519”
ข้าพเจ้าพยักหน้าให้เขาถามต่อ
“แล้วร้านขายยากับบ้านของนางพยาบาลล่ะครับจะเป็นของใคร ถ้าแฟนของครูสมศรีตาย...”
“ขออธิบายหลักกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาก่อน”
“ได้ครับพี่”
“สำหรับสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อสามีของครูสมศรีตายลง มรดกของคนตายให้แบ่งดังนี้
- สินส่วนตัวของฝ่ายใด ต่างก็แยกออกไป ของใครของมัน
- สินสมรสที่เขาได้มาระหว่างสมรส ให้แบ่งออกคนละครึ่งระหว่างสามีภริยา สมมติว่ามีสินสมรสอยู่ 1 ล้าน แบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาคนละครึ่ง ก็ได้คนละ 5 แสน สรุปว่าคุณแสวงสามี (ผู้ตาย) ได้ 5 แสน ครูสมศรี (ภริยาผู้ตาย) ได้ 5 แสน 5 แสนบาทของผู้ตายก็คือมรดกของผู้ตายนั่นเอง...”
“แล้วมรดกของผู้ตาย 5 แสนจะแบ่งกันยังไง...”
“ก็แบ่งไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ผู้ตายมีพ่อแม่ลูก พ่อแม่ลูกก็ได้แบ่งคนละส่วนเท่าเท่ากัน
“ขอโทษพี่ร่วม... คุณแสวงแกมีพ่อแม่ ลูกอีกหนึ่งคน ครูสมศรีภริยาด้วย ถ้าคุณแสวงตายลงจะแบ่งกันยังไงครับ ผมงง”
“ถวิลอย่างง นี่เป็นคำถามที่ดี นอกจากครูสมศรีจะได้แบ่งสินสมรสไปครึ่งหนึ่งแล้ว 5 แสน... ครูสมศรียังมีสิทธิได้ส่วนแบ่งมรดกของคุณแสวงอีกนะ”
“ได้อีก”
“ใช่! ภริยามีสิทธิได้รับมรดกของสามีผู้ตายอีกด้วย ตามส่วนแบ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ถ้าผู้ตายมีลูก ภริยาได้แบ่งมรดกเท่ากับลูกหนึ่งคน ถ้าไม่มีลูกมีแต่พ่อแม่ภริยา ก็ได้แบ่งมรดกครึ่งหนึ่ง ถ้ามีแต่พี่น้องลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย ภริยาก็ได้แบ่งถึงสองในสามส่วนของมรดก... กฎหมายเขาเขียนไว้หมดแล้ว...”
ครูถวิลยื่นถ้วยกาแฟร้อนให้ข้าพเจ้า
“พี่ร่วม แล้วบ้านกับร้านขายยาของนางพยาบาลที่คุณแสวงให้จะเป็นของใคร ถ้าคุณแสวงตาย...”
“นี่คือปัญหาทรัพย์สินระหว่างสามีกับภริยานอกกฎหมาย ระหว่างคุณแสวงกับนางพยาบาล หลักกฎหมายก็คือทรัพย์สินระหว่างสามีกับภริยานอกกฎหมายนั้น เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างคนทั่วๆ ไป ไม่ใช่ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคุณแสวงกับนางพยาบาลไม่ใช่สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าคุณแสวงกับนางพยาบาลเขาลงทุนทำมาหากินด้วยกัน สร้างบ้านสร้างร้านขายยาด้วยกัน ทั้งสองต่างก็เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สินเหล่านั้น ทั้งสองคนก็เป็นเจ้าของทรัพย์สินเหล่านั้นคนละครึ่ง”
“หมายความว่าขณะที่คุณแสวงตาย ดูว่าทรัพย์สินอะไรที่เป็นมรดกของคุณแสวง ก็เอามาแบ่งกันระหว่างครูสมศรีกับทายาทของคุณแสวง...”
“ถูกต้อง”
“ส่วนบ้านและร้านขายยาของนางพยาบาลก็ดูว่าถ้าเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างคุณแสวงกับนางพยาบาลก็ต้องแบ่งให้นางพยาบาลครึ่งหนึ่ง ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งก็เป็นมรดกของคุณแสวง”
“ถูกแล้ว เพราะอีกครึ่งหนึ่งเป็นของนางพยาบาล ไม่ใช่ของนายแสวง...”
“ขอโทษพี่ร่วม... แล้วถ้าเกิดบ้านกับร้านขายยาเป็นของคุณแสวงคนเดียวแล้วคุณแสวงยกให้นางพยาบาลก่อนตายล่ะ... บ้านกับร้านขายยาจะเป็นมรดกของคุณแสวงไหมพี่...”
“ก็ต้องดูว่าขณะที่คุณแสวงตาย คุณแสวงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและร้านขายยารึเปล่าล่ะ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของคุณแสวง... เพราะสมบัติเหล่านั้นได้ตกไปเป็นของคนอื่นไปแล้วก่อนที่คุณแสวงจะถึงแก่ความตาย”
“ขอบคุณมากนะพี่ร่วม ผมตาสว่างขึ้นเยอะเลย ผมจะไปเล่าให้ครูสมศรีฟังตาม ที่พี่บอก...”
ครูถวิลกลับไปแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกสบายใจที่ได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนเก่าและให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชน...
HUG Magazine ปีที่ 8 ฉบับที่ 2
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...