ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ได้นัดไต่สวน คำร้องหมายเลข คค.1/2556 ที่บริษัทสตาร์บัคส์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ประกอบการร้านกาแฟยี่ห้อสตาร์บัคส์ ขอให้ศาลออกหมายจับกุมและกักขังนายดำรงค์ มัสแหละ หรือบัง และนายดำรัส มัสแหละ สองพี่น้องเจ้าของร้านกาแฟรถเข็นสตาร์บัง จำเลยที่ 1-2 เนื่องจากเห็นว่าทั้งสองยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิจารณาคดี ที่สตาร์บัคส์ฯ ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีอาญาของศาลที่ห้ามไม่ให้ใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบ หลังพบว่าจำเลยยังใช้เครื่องหมายดังกล่าวอยู่
โดยร้านนี้เป็นร้านที่เกิดกรณีฟ้องร้องจากบริษัทสตาร์บัคส์ คอร์ปอเรชั่น เจ้าของร้านกาแฟ สตาร์บัคส์ ดำเนินคดีฟ้องในข้อหาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าซึ่งผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม.109,110
ซึ่งในวันนี้หลังจากศาลเรียกให้ไปไกล่เกลี่ยอีกครั้ง นายดำรงค์ มัสแหละ ก็ยอมเปลี่ยนป้ายโลโก้พร้อมชื่อใหม่เป็น "น้ำตาบัง (BUNG'S TEARS)"
ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 14 วรรคแรก กำหนดว่าให้คำสั่งอนุญาตคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลออกให้มีผลโดยทันที ซึ่งคดีนี้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าเลียนตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง
ด้านตัวแทนประชาสัมพันธ์สตาร์บัคส์ได้ส่งคำชี้แจงผ่านสื่อมวลชนโดยระบุว่า สตาร์บัคส์ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิในเครื่องหมายการค้าและมีความจำเป็น ที่ต้องดำเนินการตามความเหมาะสม หากมีผู้ใดละเมิดเครื่องหมายการค้าของเรา เพื่อปกป้องลูกค้าและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับชื่อเสียงและแบรนด์ของเรา รวมถึงลักษณะบ่งเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ในเครื่องหมายการค้าของสตาร์บัคส์
ทั้งนี้ประเด็นลิขสิทธิ์ยังคงเป็นที่ถกเถียงในระดับนานาชาติ สิ่งที่สตาร์บังกระทำนั้นถือเป็นความผิดหรือไม่ ???
หากอ้างอิงจาก “คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม” ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีการระบุไว้ว่า “พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้ให้ความคุ้มครองแก่งานลิขสิทธิ์ โดยกำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ทางสติปัญญาของคน เพื่อเป็นการตอบแทนความคิดสร้างสรรค์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ และก่อให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ต่อไป ขณะเดียวกันกฎหมายก็ต้องการให้สังคมได้ใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นๆ ด้วย”
ลิขสิทธิ์จึงเกิดขึ้นเพื่อเครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้คิดค้นสิ่งนั้น แต่ในอีกมุมการบังคับใช้ก็ควรเป็นไปในลักษณะที่สังคมยังคงได้ใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์นั้นด้วย เพราะลิขสิทธิ์เกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมไม่ใช่เพื่อการครอบครอง และจำกัดสิทธิผู้อื่น
เมื่อมาถึงกรณีของสตาร์บังที่ทำเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าไว้ดังนี้
“บทลงโทษในการเลียนแบบเครื่องหมายการค้า มาตรา 109 บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ในมุมของสตาร์บัคส์การดำเนินการด้านโลโก้สินค้าเป็นมาตรฐานที่ดำเนินการในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีทั้งที่ชนะ และแพ้คดีแตกต่างกันไป โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จในปี 2006 สตาร์บัคส์ชนะคดี Xingbake ซึ่งเป็นร้านกาแฟขนาดใหญ่ในประเทศจีน ขณะที่ในปี 2005 สตาร์บัคส์แพ้คดีให้แก่ Starpreya ซึ่งเป็นเพียงร้านกาแฟขนาดเล็กในประเทศเกาหลีใต้
ทั้งนี้แบรนด์ระดับโลกอื่นอย่าง McDonald ก็มีการฟ้องและแพ้คดีให้แก่ McCurry ในมาเลเซีย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หากเป็นกรณีที่บริษัทใหญ่ฟ้องร้องเอาเงินจากผู้ประกอบขนาดเล็กก็มักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมนัก โดยประเด็นการล้อเลียน หรือที่เรียกกันว่า parody logo ของสตาร์บัคส์นั้นมีเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
รู้จัก “สตาร์บัง”
สรุปจากข่าวมติชน ข่าวสด ผู้จัดการ วันที่ 4 และ 22 พฤศจิกายน 2556
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...