ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
นับเป็นความก้าวหน้าล้อกับไทยแลนด์ยุค 4.0 ในเรื่องการอำนวยความสะดวก ประหยัดเงินและเวลาในการฟ้องคดีของประชาชนของศาลยุติธรรม ที่นำระบบการยื่นและส่งคำคู่ความหรือที่เรียกว่าการฟ้องคดีโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing ) ที่เปิดให้ทนายความสามารถยื่นฟ้องคดีผ่านระบบรับ-ส่งอิเล็กทรอนิกส์มาใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลนำร่องเปิดให้บริการในขณะนี้ มีอยู่ 3 ศาลได้แก่ ศาลแพ่ง, ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรี ในคดีที่เข้าข่ายการยื่นฟ้องแบบ e-Filing จะเป็นคดีแพ่ง เช่น ซื้อขาย เช่าทรัพย์ จำนอง จำนำ ค้ำประกัน กู้ยืมเงิน เช่าซื้อ และบัตรเครดิต
ทนายความที่จะสามารถยื่นฟ้องคู่ความผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้นั้น ตัวทนายความจะต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานระบบ ทางเว็บไซต์ e-Filing.coj.go.th สามารถใช้งานได้ทั้งสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ โดยเป็นการลงทะเบียนครั้งเดียวสามารถใช้งานได้ 3 ปี และเมื่อครบ 3 ปี ระบบจะให้ทนายความอัพเดตข้อมูลส่วนตัวเพื่อต่ออายุ และเมื่อลงทะเบียนแล้วทนายความจะได้รับ username และ password และจะสามารถยื่นคำฟ้องได้ทันที โดยไม่ต้องเดินทางมายืนยันตัวตนที่ศาลก่อน แต่จะต้องยืนยันตัวตนในครั้งต่อมาเช่นในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ส่วนค่าธรรมเนียมศาลแพ่ง ทนายความก็ยังสามารถชำระโดยผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้
หลังจากที่มีการยื่นฟ้องแล้ว ผู้พิพากษาจะมีคำสั่งผ่านระบบ e-Filing ทางทนายความจะได้รับการยืนยันการยื่นฟ้องดังกล่าวผ่าน sms หรือ e-mail
นายธนารักษ์ เนาวรัตน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อธิบายว่า หลังจากเริ่มใช้ระบบe-Filing มาได้วันที่ 15 พฤษภาคม มียอดทนายความที่ลงทะเบียน 200 กว่าคน ระยะเวลาที่เราจะต้องทำความเข้าใจกับทนายความ ยังต้องใช้เวลาจากการประเมิน คาดว่า ยอดผู้ลงทะเบียนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ระบบนี้มีประโยชน์มาก จะเห็นได้ว่าหลักการระบบดังกล่าวใช้มานานในต่างประเทศ อย่างสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ใช้มา 10 ปีแล้ว ระบบนี้เป็นการลดเวลาค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาล บางเรื่องสามารถยื่นฟ้องได้นานทั้งที่ลงทะเบียนครั้งเดียว ประกอบกับสภาพอากาศช่วงนี้ฝนตกน้ำท่วมสามารถทำการยื่นฟ้องที่บ้านหรือสำนักงานได้อย่างสะดวก ไม่มีภาระ มีแต่ประโยชน์ และเป็นการเริ่มต้นของวงการศาลยุติธรรมไทยเพราะเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้ามาของระบบดิจิทัลเกือบทุกรูปแบบ และต่อไปการใช้กระดาษจะเป็นภาระจัดเก็บ เป็นปัญหามาทุกปี บางศาลต้องไปเช่าตู้คอนเทนเนอร์คอยจัดเก็บ
“ระบบนี้เป็นระบบที่ออกแบบจากความยากให้ง่ายขึ้น ช่วงแรกอาจมีความกล้าๆ กลัวๆอยู่บ้างว่าจะเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องหรือไม่ แต่เรายืนยันว่า ในแง่กฎหมายไม่มีปัญหา เราก็ดูแบบอย่างในการทำธุรกรรมภาครัฐเป็นหลัก ทั้งหลักการยืนยันตัวตน และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือที่มีการยืนยันตัวตนหลายชั้น และเรามีอนุกรรมการของศาลยุติธรรมระดับศาสตราจารย์หลายท่านที่มีความน่าเชื่อถือคอยตรวจสอบเรื่องการลงลายมือชื่อ
“ปัจจุบันหลังจากเปิดบริการมาไม่กี่สัปดาห์มีการยื่นฟ้อง e-Filing ประมาณ 30 คดี และคาดว่าต่อไปจะมีมากขึ้น จากการยื่นฟ้องทั้ง 30 คดีดังกล่าวยังไม่พบว่ามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นทางเทคนิคหรือระบบแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นทนายความ เจ้าหน้าที่ หรือผู้พิพากษา เนื่องจากมีการอบรมฝึกฝน” ประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เผย และว่า
ส่วนเรื่องการขยายผล เราจะเลือกศาลที่มีระบบการจัดเก็บคล้ายๆ กัน คือศาลแขวงทั่วกรุงเทพฯ และศาลจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ และไม่น่าจะเกินเดือนกันยายนนี้จะขยายได้อีก 14 ศาล ส่วนจะกระจายไปทั่วประเทศ ตามศาลรายภาคต่างๆ จะพยายามทำให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
ส่วนการจะนำระบบ e-Filing ขยายไปใช้ในคดีอาญานั้น นายธนารักษ์แสดงความเห็นส่วนตัวว่า ประเทศไทยมีวิธีการพิจารณาการฟ้องคดีอาญา จะต้องส่งตัวจำเลยมาพร้อมกับคำฟ้อง ฉะนั้นการยื่นฟ้องจะติดข้อกฎหมาย การจะใช้ระบบ e-Filing ได้ จะต้องมีการแก้ไขตรงนี้ รวมทั้งผมมองว่าปัจจุบันนี้เราสามารถใช้การยื่นฟ้องระบบ e-Filing ในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ที่ต้องมีการให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องได้ เนื่องจากเป็นคดีที่ยังไม่ได้มีการประทับรับฟ้อง และไม่มีจำเลยมาแสดงตัว เช่น คดีเช็ค ความผิดส่วนตัว ที่ยังไม่ต้องมีตัวจำเลย โดย e-Filing นอกจากให้ความสะดวกแก่คู่ความดังกล่าวแล้ว ระบบนี้ยังจะก้าวสู่ระบบ Electronic Court (e-Court) อย่างเต็มรูปแบบของศาลยุติธรรมไทยในอนาคต หากมีการจัดทำระบบบันทึก (e-Hearing) เเละระบบบริหารจัดการข้อมูลคดี (CIS) เสร็จสมบูรณ์ในภายหลังต่อไป นายธนารักษ์ระบุ
ด้าน นายสมบัติ วงศ์กำแหง อุปนายกฝ่ายบริหารสภาทนายความ เผยว่า หลังจากที่มีการอบรมระบบ e-Filing กับทนายความมาเมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ เท่าที่ทราบคนที่รู้จักยังไม่เคยมีการใช้ระบบดังกล่าว ตอนนี้เป็นแค่ศาลนำร่อง เป็นการเปิดให้เฉพาะทนายความฟ้องคดีให้ประชาชน ยังไปฟ้องคดีเองไม่ได้ จึงเป็นการอำนวยความสะดวกเฉพาะทนายที่สามารถยื่นฟ้องได้โดยไม่ต้องผ่านการจราจรและสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนตกน้ำท่วมในขณะนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์แน่นอน รวมถึงสะดวกในการชำระค่าธรรมเนียมในชั้นยื่นฟ้อง
แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ขยายผลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ส่วนแง่ของความไม่สะดวก เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้น ในลักษณะขององค์กรหรือบริษัทใหญ่ที่ฟ้องคดีกันเยอะในศาลแพ่งยังไม่สามารถชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในนามขององค์กร ต้องไปผูกที่ตัวทนายความเท่านั้น ทนายความจะต้องจ่ายผ่านบัตรเครดิตของตัวเอง ไม่สามารถผ่านบัตรเครดิตขององค์กร โครงการนี้ในหลักการถือว่าดี เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ทนายความได้คล่องตัวรวดเร็วขึ้น แต่ถ้าระบบมันใช้ได้แล้วควรขยายให้มากกว่านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือเมื่อมีการใช้หักเงินผ่านระบบ มักจะมีปัญหาตามมาในเรื่องความปลอดภัย จะต้องมีต้องดูว่าระบบวางมาตรการรักษาความปลอดภัยแค่ไหน แฮกเกอร์จะเข้าไปได้หรือไม่ อย่างตอนนี้ในสังคมโลกที่มีระบบที่กล่าวกันว่าดีก็มีการแฮกเกอร์ได้ มีการเรียกค่าไถ่ปรากฏขึ้นมา
“กระบวนการหลังจากยื่นฟ้องระบบอิเล็กทรอนิกส์มา ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำให้การ การฟ้องแย้ง การยื่นบัญชีพยานต่างๆ จะต้องกลับไปทำที่ศาลทั้งหมด เพราะยังไม่ได้ขยายในส่วนนั้น การแก้ไขคำฟ้องถ้าระบบคอมพิวเตอร์ผิดพลาด จะต้องไปดูกันว่ามีการแก้ไขตรงไหนอย่างไร จะต้องไปแสดงต่อศาลอยู่ดี ซึ่งเมื่อลองเปรียบเทียบไปถึง พ.ร.บ.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ยกเลิกระบบการใช้กระดาษที่ไม่ต้องใช้ลายเซ็น และประกาศใช้มาก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาวงการค้าบ้านเราได้ เพราะพอส่งเข้ามาสู้คดีก็ยังต้องมีการถกเถียงกันเรื่องต้นฉบับของลายเซ็น ต้องต่อสู้กันในเรื่องนี้อีก
“ถ้ามองว่าจะใช้ระบบดังกล่าวดำเนินคดีทั้งหมด อันนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกยาวพอสมควร แต่ไม่ใช่ว่าไปไม่ได้ ความพร้อมของสังคมเราตอนนี้ยังไม่พร้อมอยู่ตรงนั้น แต่การเริ่มต้นที่นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยอำนวยความสะดวกบ้างในขั้นตอนต่างๆ ผมเห็นด้วยในหลักการถือเป็นนิมิตหมายที่ดี” อุปนายกฝ่ายบริหารสภาทนายความระบุ
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...