ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 48/2560
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งฝ่ายการผลิต เริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙ ต่อมาวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๗ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากสถิติการลาป่วยย้อนหลังตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ – ๒๕๕๖ มีจำนวนมาก มีผลทำให้โจทก์เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในหน้าที่การงานและมีผลการทำงานตกต่ำตลอดมา จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นไปตามข้อบังคับการทำงานหมวดที่ ๑๑
ศาลแรงงานภาค ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่าแม้โจทก์ลาป่วย ลากิจบ่อยครั้งจนเคยได้รับหนังสือเตือนจากจำเลย แต่กรณีดังกล่าวมิได้เข้าลักษณะเป็นผู้หย่อนสมรรถภาพ หรือไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนจนมิอาจปฏิบัติหน้าที่การงานของตนให้แก่จำเลยได้ เพียงแต่โจทก์ประพฤติตนบกพร่องไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่และขาดความรับผิดชอบเท่านั้น จึงพิพากษาให้จำเลย จ่ายเงินจำนวน ๒๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน เห็นว่า คดีนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุหย่อน สมรรถภาพในหน้าที่การทำงานหรือไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนตามข้อบังคับการทำงานหมวดที่ ๑๑ ซึ่งการหย่อนสมรรถภาพในหน้าที่การทำงานนั้นต้องพิจารณาถึงตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ ความสามารถ ในการทำงาน และการหย่อนลงของความสามารถมาประกอบ
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นพนักงานเดินเครน จึงต้องอุทิศเวลาและความสามารถในการทำงานตามที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมอบหมายให้สำเร็จ ลุล่วงอย่างเต็มความสามารถ แต่โจทก์กลับลาป่วยและลากิจบ่อยครั้งทำให้สถิติการหยุดงานหรือขาดงาน จนเคยได้รับหนังสือเตือนจากจำเลย อันมีผลให้จำเลยไม่ได้รับการทำงานตอบแทนจากโจทก์ในเวลาทำงานปกติ แม้จะเป็นการลาตามสิทธิซึ่งโจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการลาบ่อยครั้งจนเกินสมควร
อีกทั้งโจทก์ยังได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๖ ในระดับที่ต้องปรับปรุง (เกรดซี) ติดต่อกัน จึงย่อมแสดงความสามารถในการทำงานของโจทก์ที่ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่องตลอดมา
ประกอบกับจำเลยเองก็ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์โดยทันทีหลังจากที่มีผลการประเมินดังกล่าว แต่กลับยังได้ให้โอกาส โจทก์ในการแก้ไขฟื้นฟูความสามารถตามโครงการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นการหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน
จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ มิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างดังกล่าว ที่ศาลแรงงานภาค ๒ พิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...