ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ข้อกําหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. ๒๕๕๘

ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
ว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง
พ.ศ. ๒๕๕๘


อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔๙ วรรคสอง (๖) และมาตรา ๒๕๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๘ ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ข้อกำหนดนี้เรียกว่า “ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. ๒๕๕๘”

ข้อ ๒ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในข้อกำหนดนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“คำร้อง” หมายความว่า คำร้องขออนุญาตฎีกาตามมาตรา ๒๔๗
“ผู้ร้อง” หมายความว่า คู่ความผู้ยื่นคำร้อง
“ศาลชั้นต้น” หมายความว่า ศาลซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในชั้นต้น
“องค์คณะผู้พิพากษา” หมายความว่า องค์คณะผู้พิพากษาตามมาตรา ๒๔๘ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยคำร้อง

ข้อ ๔ ในกรณีจำเป็นต้องมีวิธีการใดในทางธุรการเพื่อให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นไปโดยเรียบร้อย ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้กำหนดวิธีการนั้น

ข้อ ๕ ให้ประธานศาลฎีการักษาการและมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติรวมทั้งออกระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือคำแนะนำเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้

หมวด ๑
การยื่นคำร้อง

ข้อ ๖ การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นโดยต้องแสดงถึง
(๑) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้ง และ
(๒) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๙ หรือในข้อกำหนดนี้ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย

ข้อ ๗ ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาโดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาและต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับคำฟ้องฎีกานั้นด้วย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

ถ้าผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปยังศาลฎีกากรณีเช่นว่านี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งไม่รับคำร้องและไม่รับฎีกาโดยสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดหากมี ให้แก่ผู้ร้อง

ข้อ ๘ ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจคำร้องและคำฟ้องฎีกาและมีคำสั่งตามมาตรา ๑๘ หากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องและคำฟ้องฎีกาดังกล่าวพร้อมสำนวนความไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป
กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นถูกต้อง ให้มีคำสั่งไม่รับคำร้องและไม่รับฎีกา หรือถ้าไม่มีคำร้องก็ให้สั่งไม่รับฎีกาและสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดหากมี ให้แก่ผู้ร้อง

ข้อ ๙ ในกรณีมีการขอขยายระยะเวลาใด ๆ เช่น การยื่นคำร้องหรือคำฟ้องฎีกา หรือการชำระหรือวางเงินตามข้อ ๗ หากศาลชั้นต้นเห็นสมควรอนุญาตให้ขยาย ให้ศาลชั้นต้นสั่งตามที่เห็นสมควร หากจะไม่อนุญาตให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องขอขยายระยะเวลาพร้อมสำนวนความไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วต่อไป

ข้อ ๑๐ เมื่อศาลชั้นต้นได้ตรวจคำร้องและคำฟ้องฎีกาตามข้อ ๘ แล้ว ให้รีบส่งสำเนาคำร้องและคำฟ้องฎีกานั้นให้คู่ความอีกฝ่ายแล้วส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาและสำนวนความไปยังศาลฎีกาโดยเร็ว ทั้งนี้ ไม่จำต้องรอคำคัดค้านของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ในกรณีที่คู่ความอีกฝ่ายได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาด้วย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเกี่ยวแก่คำร้องดังกล่าวให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วจึงส่งคำร้องและคำฟ้องฎีกาของคู่ความทุกฝ่ายไปยังศาลฎีกาในคราวเดียวกัน

ถ้ามีการยื่นคำคัดค้านภายหลังที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ก็ให้ส่งคำคัดค้านนั้นไปยังศาลฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย

ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างฎีกา ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องนั้นไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาและห้ามมิให้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงอำนาจในการสั่งงดการบังคับคดีหรือถอนการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

หมวด ๒
การพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง การรับฎีกาและการแก้ฎีกา


 

ข้อ ๑๑ การขอแก้ไขคำร้องหรือคำฟ้องฎีกาให้กระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๒๔๗ วรรคสองหรือตามที่ศาลมีคำสั่งให้ขยายออกไป

ข้อ ๑๒ การพิจารณาคำร้องตามมาตรา ๒๔๘ องค์คณะผู้พิพากษาพึงพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับสำนวนหรือตามระเบียบของประธานศาลฎีกา

ข้อ ๑๓ ปัญหาสำคัญอื่นตามมาตรา ๒๔๙ วรรคสอง (๖) ได้แก่ กรณีดังต่อไปนี้

(๑) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งในสาระสำคัญ
(๒) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย

ข้อ ๑๔ ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า ปัญหาตามคำร้องทั้งหมดหรือบางข้อเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาและสั่งรับฎีกาทั้งหมดหรือบางข้อไว้พิจารณาแล้วส่งให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟัง

จำเลยฎีกาอาจยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่งและภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยฎีกายื่นคำแก้ฎีกาหรือนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำแก้ฎีกาได้สิ้นสุดลง ให้ศาลชั้นต้นส่งคำแก้ฎีกาไปยังศาลฎีกาหรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคำแก้ฎีกาเมื่อศาลฎีกาได้รับคำแก้ฎีกาหรือแจ้งความเช่นว่าแล้ว ให้นำคดีลงสารบบความโดยพลัน

การขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา ให้ยื่นภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง และให้นำความในข้อ ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๑๕ ในกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า คำร้องมิได้ปฏิบัติตามข้อ ๖ หรือปัญหาตามคำร้องทั้งหมดมิใช่ปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ให้มีคำสั่งยกคำร้องและไม่รับฎีกาแล้วส่งสำนวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว

คำสั่งที่ไม่อนุญาตตามวรรคหนึ่งให้แสดงเหตุผลโดยย่อและให้องค์คณะผู้พิพากษามีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่ผู้ร้องได้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๑๖ ในกรณีที่มีคู่ความหลายฝ่ายต่างยื่นคำร้อง ให้วินิจฉัยโดยทำเป็นคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

หมวด ๓
การพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลฎีกา


ข้อ ๑๗ องค์คณะผู้พิพากษาที่พิจารณาสั่งอนุญาตให้ฎีกาคดีใด อาจเป็นองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีนั้น
ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘
วีระพล ตั้งสุวรรณ
ประธานศาลฎีกา



04/Jun/2017

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา