ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 จะกำหนดว่ามีกรณีใดบ้างที่ลูกจ้างฝ่าฝืน นายจ้างสามารถไล่ออกได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย 7 เรื่องเหล่านั้น ได้แก่ (1) ทุจริตต่อหน้าที่ (2) กระทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง (3) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (4) ประมาททำให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง (5) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง (6) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน (7) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล
แต่สำหรับในกรณีที่ 5 เรื่อง “ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง” ก็มีหลายกรณีจำนวนมาก ที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้วว่า แม้เป็นการฝ่าฝืนจริง แต่ไม่ร้ายแรง นายจ้างยังไม่สามารถไล่ออกไม่ได้
ทั้งนี้การกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามลักษณะแห่งการกระทำเป็นเรื่องๆ ไป และถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างเพราะมีเหตุจำเป็นและยังห่างไกลจากความเสียหาย ถือว่าไม่เป็นกรณีร้ายแรง (2530/2525)
อีกทั้งนายจ้างต้องได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน (2562/2527)
ได้แก่
1. นายจ้างมีข้อบังคับห้ามมิให้ลูกจ้างเล่นแชร์ ดื่มสุรา แม้การเล่นแชร์และดื่มสุราส่งเสียงดังนอกเวลาทำงาน ชกต่อยเพื่อนร่วมงานด้วยเหตุเมาสุรา จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ แต่ไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น ถือว่าไม่เป็นกรณีร้ายแรง (2448/2523 และ 14/2525 และ 2388/2526)
หรือดื่มสุราแล้วมึนเมาก่อนเริ่มเข้าทำงาน และหลับไปในขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งโดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอก หรือทรัพย์สินอื่นๆ ได้ แม้จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ก็เป็นเพียงการบกพร่องต่อหน้าที่ (1227/2535)
แต่ถ้าเป็นอาชีพที่ห้ามดื่มสุราเลยแล้วนายจ้างจะเสียหาย เช่น รปภ. ถือเป็นการฝ่าฝืนกรณีร้ายแรง (1416/2525) หรือเข้าทำงานในอาการมึนเมาสุรา อาละวาดเตะข้าวของในห้องทำงาน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง (3613/2537)
2. นายจ้างสั่งลูกจ้างไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลในเวลาใกล้จะเลิกงาน โดยไม่ได้บอกว่าให้ไปพบด้วยเรื่องอะไร มีความจำเป็นเร่งด่วนประการใด และหากไม่ไปพบจะเกิดความเสียหายอย่างไร ลูกจ้างไม่ไปพบตามคำสั่ง และขอผัดไปพบในวันรุ่งขึ้น (368/2536)
3. นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานต่างจังหวัดโดยไม่ให้ลูกจ้างมีโอกาสปรับตัว การฝ่าฝืนคำสั่งนี้ ไม่เป็นกรณีร้ายแรง (3301/2525)
4. ลูกจ้างขาดงานเพียง 2 วัน เพราะเจ็บป่วย ไม่เป็นกรณีร้ายแรง (2183/2526)
5. ลูกจ้างดื่มสุราแล้วเข้าไปในโรงงาน แต่ไม่ได้ทำงานในสภาพมึนเมาหรือกระทำการอื่นใดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง (2919/2527)
6. ลูกจ้างทะเลาะวิวาทชกต่อยกัน หรือตบตีกัน แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บมาก หรือด่ากันเองในเวลาปฏิบัติงาน ยังไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานกรณีร้ายแรง (3524/2529,916/2530,4753/2530 , 4551/2532)
7. ลูกจ้างมาทำงานสายและกระทำการอันไม่สมควรต่อผู้บังคับบัญชา ไม่เป็นกรณีร้ายแรง (281/2524)
8. ลูกจ้างมาประชุมไม่ทันกำหนดเวลานัด แต่ไม่ปรากฏว่าได้ก่อความเสียหายแก่นายจ้างอย่างไร มิใช่ความผิดร้ายแรง (2603/2529)
9. ลูกจ้างไม่ลงนามรับทราบคำเตือน และนำคำเตือนไปวางไว้บนโต๊ะทำงานของผู้จัดการโรงงาน แม้จะมีลักษณะท้าทาย ก็มิใช่กรณีร้ายแรง (3999/3524)
10. ลูกจ้างไม่ลงเวลามาและกลับ ไม่เป็นกรณีร้ายแรง (1701/2528)
11. ลูกจ้างยื่นใบลาป่วยช้าไป 3 วัน เป็นการผิดระเบียบของนายจ้าง แต่มิใช่กรณีร้ายแรง (4981/2528)
12. ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ไปกินข้าวเป็นเวลา 15 นาที ไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น มิใช่กรณีร้ายแรง (1680/2525)
13. ลูกจ้างเล่นหวย แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้นายจ้าง และนายจ้างก็มิได้เสียงาน ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรง (3210/2533 , 6232/2533) แต่ถ้าเล่นการพนันที่ผิดกฎหมายอาญา แล้วทำให้นายจ้างเสียชื่อเสียง ถือว่าร้ายแรง (1322/2532)
14. ลูกจ้างสูบบุหรี่ แต่อยู่ห่างโกดังและที่ยืนอยู่ก็มีนํ้านองพื้น ยากที่จะเกิดเหตุไฟไหม้ได้ ไม่เป็นกรณีร้ายแรง (1269/2526)
15. ลูกจ้างหญิงตบตีกันเองในระหว่างทำงาน เพราะกรณีเล่นหวยแล้วมีปัญหากัน ไม่จ่ายเงิน ไม่เป็นกรณีร้ายแรง (2562/2527)
16. ลูกจ้างหลบงานไปนอนในเวลาทำงานประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วกลับมาทำงานใหม่ ไม่เป็นความผิดร้ายแรง (2127/2530)
17. หัวหน้างานกับลูกจ้าง ต่างฝ่ายต่างต่อยกัน แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อมีผู้มาห้ามจึงเลิกรากัน หรือด่ากันด้วยคำหยาบคาย เช่น อีตอแหล ต่อหน้าลูกจ้างอื่นในสถานที่ทำงาน แม้จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง แต่มิใช่กรณีที่ร้ายแรง (3479/2525,3184/2540) แต่ถ้าทำร้ายกันในระหว่างที่มีการประชุมพนักงานเกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียง ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง (2030/2528)
18 สิงหาคม 2560
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...