‘ปิดงานมิตซูแอร์’ : ความเกลียดกลัวสหภาพแรงงาน คัดออกเพื่อถางทางเดินทุนให้ราบเรียบ
บทความนี้เขียนขึ้นมาอย่างเร่งด่วนท่ามกลางที่กระแสสังคมโดยเฉพาะทาง social media โหมกระหน่ำโจมตีสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทย ภายหลังที่บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้สิทธิปิดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการอื่นใดกับสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 1,800 คน นับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่แต่ละฝ่ายต่างยื่นข้อเรียกร้องต่อกันและไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ในที่สุด
สิ่งสำคัญในเรื่องนี้ คือ การรับรู้ข้อมูลแบบจิ๊กซอว์และนำมาสู่การ “จับแพะชนแกะแบบผิดฝาผิดตัว” นี้ไม่นับเรื่องข้อจำกัดในการสื่อสารของฝ่ายผู้ใช้แรงงานโดยตรงเมื่อเทียบกับฝ่ายบริษัทฯ เหล่านี้ยิ่งนำไปสู่อคติ ความเกลียดชิงชังสหภาพแรงงานมากยิ่งขึ้น และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนแต่อย่างใด
“การปิดงาน” ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกที่นี่ อย่างน้อยได้เกิดขึ้นกับสหภาพแรงงานแห่งอื่นๆ ในรอบ 9 ปีมาแล้ว เท่าที่ทราบนับตั้งแต่
- ปี 2559 สหภาพแรงงานไมย์เออร์ อลูมิเนียม (121 คน) สหภาพแรงงานอ๊อฟโรดประเทศไทย , สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย (เฉพาะลูกจ้างบริษัทนิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีล โปรเซสซิ่ง ประเทศไทย)
- ปี 2558 สหภาพแรงงานซันโคโกเซประเทศไทย (663 คน)
- ปี 2557 สหภาพแรงงานสแตนเลย์ประเทศไทย (44 คน) , สหภาพแรงงานเพื่อนแรงงานไทย เป็นลูกจ้างบริษัทที.เอ. ออโตโมทีฟ พาร์ท (180 คน)
- ปี 2556 สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กพี แมนูแฟคเจอริ่ง (500 คน)
- ปี 2554 สหภาพแรงงานฟูจิตสึ เจเนอรัลประเทศไทย
- ปี 2553 สหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย จนต้องเดินเท้าจากจังหวัดระยองมากระทรวงแรงงาน
- ปี 2552 สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย
- ปี 2551 สหภาพแรงงานอัลมอนด์ (300 คน)
กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เป้าหมายสำคัญของการปิดงาน ไม่ใช่อื่นใดเลยนอกจากเพื่อบีบให้สหภาพแรงงานยอมลดสภาพการจ้างและสวัสดิการที่เคยมีมา รวมถึงอำนาจของสหภาพแรงงานในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองที่เคยมีมาก่อนตามที่กรอบกฎหมายแรงงานสัมพันธ์กำหนดไว้
ดิฉันตระหนักดีว่า การที่ใครซักคนลุกขึ้นมาต่อสู้ในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง ยืนหยัดในศักดิ์ศรีความเป็นแรงงาน มีบทเรียนราคาแพงในตอนจบเสมอมา แม้ศักดิ์ศรีแรงงานกินไม่ได้ ไม่ช่วยให้ท้องอิ่มหรือเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น แต่อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ช่วยยืนยันความเป็นมนุษย์บนโลกพิกลพิการใบนี้ที่พวกเราต้องอยู่ร่วมกันต่อไป
บทความนี้นำเสนอใน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
(1) บทนำ : อธิบายขั้นตอนการปิดงานว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อความเข้าใจในหลักการที่ตรงกัน
(2) ตอนที่ 1 : “แอร์มิตซูบิชิ” ที่ 1 ในเอเชียกับกำไร 8,986 ล้านบาทในปี 2560 ชี้ให้เห็นผลประกอบการของบริษัทที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขโบนัสที่สหภาพแรงงานเสนอ การปันผลให้ผู้ถือหุ้นถึง 7 พันล้านบาทกับตัวเลขที่สหภาพแรงงานเสนอ จึงไม่ใช่การปล้นบริษัทหรือคนงานไม่รู้จักพออย่างที่เป็นข่าวในทุกวันนี้
(3) ตอนที่ 2 : ก่อน “ปิดงาน” บริษัทบ่ายเบี่ยงการเจรจา กดดันสหภาพแรงงานให้รับข้อเรียกร้องของบริษัทเท่านั้น ถึงจะยอมเจรจาข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ฉายภาพกระบวนการเจรจาทุกขั้นตอนอย่างละเอียดและความกดดันที่สหภาพแรงงานเผชิญ
(4) ตอนที่ 3 : “ปิดงาน” ฤาเป็นคำสั่งจากบริษัทแม่ เดินตามแนวนโยบายอาเบะโนมิกส์ “ถางทางเดินทุนให้ราบเรียบ” วิเคราะห์ให้เห็นว่าการที่บริษัทตัดสินใจเลือกใช้วิธีปิดงาน สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทแม่
(5) ตอนที่ 4 : “บทสรุปของการปิดงาน” ความเกลียดกลัวสหภาพแรงงานและการคัดออก ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทมีกระบวนการต่างๆ นานาในการแบ่งแยกสมาชิกสหภาพแรงงานออกเป็น 2 กลุ่ม ผ่านการนำจำนวนโบนัสที่บริษัทพร้อมจ่ายทันทีกว่า 7.2 เดือน + เงินพิเศษ 20,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่าให้เลิกข้องเกี่ยวกับสหภาพแรงงานในทุกกรณี และต้องยอมรับข้อเรียกร้องของบริษัททั้ง 3 ข้อเท่านั้น
16/Jan/2018