ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การกระทำของลูกจ้างที่ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในเหตุเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้พิจารณาความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2559 นายธนู บุญแต่ง โจทก์ บริษัทโตโยต้า โกเซ รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย

 

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานในกรณีพนักงานลืมตอกบัตร ทั้งต้องดูแลควบคุมให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดตรงตามที่ขออนุมัติ กลับจงใจลงลายมือชื่อรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานของ ท. อันเป็นความเท็จ

 

เช่นนี้การกระทำของโจทก์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่ในความหมายของการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาแก่ ท. เพราะผลจากการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้มีการตรวจสอบและโจทก์แก้ไขเอกสารเสียก่อน ท. ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำของโจทก์ก็หาทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตไปได้

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,851.20 บาท เงินโบนัส 71,605 บาท เงินรางวัลพนักงานดีเด่นและพนักงานปฏิบัติงานนานประจำปี 2554 จำนวน 14,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 147,210 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุก 7 วัน นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,890,372 บาทแก่โจทก์

 

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำงานในตำแหน่งหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานกรณีพนักงานลืมตอกบัตร

 

โจทก์เป็นผู้กำหนดให้พนักงานทำงานในวันหยุดและทำงานล่วงเวลา ในวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2554 โจทก์กำหนดให้นางสาวทิพวัลย์ ทำงานในวันหยุดดังกล่าวด้วย แต่นางสาวทิพวัลย์ไม่มาทำงาน โจทก์ทราบว่านางสาวทิพวัลย์ไม่มาทำงานโดยเป็นผู้สอบถามนางสาวทิพวัลย์ถึงเหตุผลที่ไม่มาทำงาน แต่โจทก์ลงลายมือชื่อรับรองในบัตรตอกเวลาทำงานและลงลายมือชื่อรับรองอนุมัติการทำงานในแบบขออนุมัติทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดของนางสาวทิพวัลย์อันเป็นการยืนยันว่านางสาวทิพวัลย์มาทำงานในวันหยุดคือในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ตั้งแต่เวลา 20 นาฬิกา ถึงเวลา 6 นาฬิกาของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2554 เพื่อให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแก่นางสาวทิพวัลย์

 

ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 นางสาวสุกัญญา และนางสาวน้ำเพชร กับลูกจ้างซึ่งมาทำงานในวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2554 โต้แย้งว่านางสาวทิพวัลย์ไม่ได้มาทำงานในวันดังกล่าวและเข้าชื่อร้องเรียนให้ฝ่ายบุคคลโยกย้ายโจทก์ด้วยเหตุมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตขาดคุณสมบัติการเป็นผู้นำ

 

โจทก์จึงแก้ไขเอกสารให้ถูกต้องก่อนส่งไปเบิกจ่ายเงินโดยอ้างว่าพลั้งเผลอไป

 

จำเลยดำเนินการสอบสวนการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์

 

ระหว่างการสอบสวนจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปรับผิดชอบดูแลในส่วนงานแพ็คกิ้งอะไหล่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกับลูกจ้างในฝ่ายควบคุมคุณภาพที่ร้องเรียนโจทก์

 

ผลการสอบสวนได้ความว่าโจทก์กับนางสาวทิพวัลย์มีความสนิทสนมกันมาก มีการติดต่อทางโทรศัพท์กันทั้งในและนอกเวลาทำงานเดือนละกว่า 30 ถึง 50 ครั้ง

 

จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามหนังสือลงวันที่ 21 ธันวาคม 2554 โดยให้มีผลเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2554 เป็นต้นไป

 

แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารการทำงานล่วงเวลาของนางสาวทิพวัลย์โดยเจตนา มิได้พลั้งเผลอ แม้โจทก์จะมาแก้ไขภายหลังและจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินตามคำขอเบิก

 

การกระทำของโจทก์ก็เป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว ส่วนคำสั่งย้ายงานโจทก์ไม่ใช่การลงโทษทางวินัย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินโบนัส เงินรางวัล และค่าเสียหายตามฟ้อง

 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในเหตุเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วยหรือไม่ เห็นว่า

 

ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานในกรณีพนักงานลืมตอกบัตร ทั้งต้องดูแลควบคุมให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดตรงตามที่ขออนุมัติ กลับจงใจลงลายมือชื่อรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานของนางสาวทิพวัลย์ซึ่งสนิทกับโจทก์และลงลายมือชื่อรับรองอนุมัติการทำงานในแบบขออนุมัติทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด

 

อันเป็นการยืนยันความเท็จว่านางสาวทิพวัลย์มาทำงานในวันหยุดในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ตั้งแต่เวลา 20 นาฬิกา ถึงเวลา 6 นาฬิกา ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2554 จนเป็นเหตุให้พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์เข้าชื่อร้องเรียนโจทก์ต่อฝ่ายบุคคลให้โยกย้ายโจทก์เนื่องจากเห็นว่าโจทก์มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้นำ

 

เช่นนี้การกระทำของโจทก์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่ในความหมายของการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาแก่นางสาวทิพวัลย์ เพราะผลจากการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้มีการตรวจสอบและโจทก์แก้ไขเอกสารเสียก่อน นางสาวทิพวัลย์ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากการกระทำของโจทก์ก็หาทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตไปได้

 

ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน

 

(วาสนา หงส์เจริญ-วิชัย เอื้ออังคณากุล-นิยุต สุภัทรพาหิรผล)

 



29/Mar/2018

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา