ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

เมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแล้ว การที่นายจ้างจะมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำหรือไม่เป็นสิทธิ ของนายจ้างจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2525 แต่การที่นายจ้างไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ ต้องไม่เป็นที่เสียหายแก่ลูกจ้างด้วย

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5462/2555

โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์จากตำแหน่งพนักงานขับรถไปทำงานตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายขนส่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างทำให้โจทก์มีรายได้ลดลง จำเลยให้การว่า การย้ายเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการทำงานและเป็นอำนาจบริหาร ไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งย้ายของจำเลยหรือไม่ ในการวินิจฉัยจึงต้องพิเคราะห์ก่อนว่าคำสั่งย้ายตำแหน่งงานโจทก์เป็นไปโดยชอบหรือไม่

 

ประกอบกับเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงศาลแรงงานมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานตามที่เห็นสมควรได้ ศาลแรงงานกลางย่อมสามารถรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่พอใจในการ ก่อตั้งสหภาพแรงงานพนักงานขับรถขนส่งสินค้า เมื่อโจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงาน เป็น ประธานสหภาพแรงงาน และเป็นกรรมการลูกจ้าง น่าเชื่อว่าจำเลยไม่พอใจโจทก์ การย้ายโจทก์ให้มารับตำแหน่งใหม่กระทำโดยไม่สุจริต เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ แล้วนำมาวินิจฉัยว่าคำสั่งย้ายตำแหน่งงานโจทก์ไม่ชอบ มีเหตุสมควรเพิกถอนคำสั่งย้ายของจำเลยและให้โจทก์กลับไปทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาท ไม่ใช่การวินิจฉัยนอกฟ้อง


เมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแล้ว การที่นายจ้างจะมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำหรือไม่เป็นสิทธิ ของนายจ้างจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2525 แต่การที่นายจ้างไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ ต้องไม่เป็นที่เสียหายแก่ลูกจ้างด้วย


การที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งย้ายของจำเลย แล้วพิพากษาต่อไปว่าให้โจทก์ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์หรือเงินเพิ่มหรือสวัสดิการเหมือนเดิม ก็เพื่อระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยอาจโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ต่อไป และให้จำเลยสามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อย่างถูกต้องในการให้โจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถดังเดิม ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์

 

คำพิพากษาย่อยาว

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานฝ่ายขนส่งและให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถตามเดิม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่สั่งให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายขนส่ง และให้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าโดยให้ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์หรือเงินเพิ่มหรือสวัสดิการเหมือนเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไป

 

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างทำให้โจทก์มีรายได้ลดลง จำเลยให้การว่าการย้ายมิได้เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์โดยเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการทำงานและเป็นอำนาจทางบริหารของจำเลย ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานฝ่ายขนส่ง และให้โจทก์กลับไปทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด 

 

เช่นนี้การจะวินิจฉัยว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานฝ่ายขนส่งหรือไม่จึงต้องพิเคราะห์ก่อนว่า คำสั่งจำเลยที่ย้ายโจทก์นี้เป็นไปโดยชอบหรือไม่ ซึ่งจำเลยก็ให้การว่าการย้ายมิได้เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ประกอบกับเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีศาลแรงงานมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานตามที่เห็นสมควรได้

 

ฉะนั้นศาลแรงงานกลางย่อมสามารถรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่พอใจในการก่อตั้งสหภาพแรงงานพนักงานขับรถขนส่งสินค้า เมื่อโจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงาน เป็นประธานสหภาพแรงงานฯ และเป็นกรรมการลูกจ้างตลอดมา น่าเชื่อว่าจำเลยไม่พอใจโจทก์ การย้ายโจทก์ให้มารับตำแหน่งใหม่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ แล้วนำมาวินิจฉัยว่าคำสั่งย้ายโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ มีเหตุสมควรเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานฝ่ายขนส่งและให้โจทก์กลับไปทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถตามฟ้องจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทหาได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องตามอุทธรณ์ไม่


ตามข้อตกลงการว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงาน ประกอบด้วยอำนาจในการบริหารงานทั่วไปของนายจ้าง จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีอำนาจโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างได้ตามความเหมาะสม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างโจทก์ อีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่าการย้ายโจทก์เพราะจำเลยไม่พอใจที่โจทก์มีส่วนร่วม ในการก่อตั้งสหภาพแรงงานพนักงานขับรถส่งสินค้าในสถานประกอบการของจำเลย ทั้งโจทก์เป็นประธานสหภาพแรงงานและกรรมการลูกจ้าง การย้ายโจทก์เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์

 

เช่นนี้ การย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ช่วยหัวหน้างานฝ่ายขนส่งจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการย้ายนี้เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างโจทก์หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่สั่งให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้างานฝ่ายขนส่งและให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าจึงชอบแล้ว 


คดีนี้โจทก์ฟ้องและมีคำขอเพียงให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่สั่งให้โจทก์ทำงานหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้างานฝ่ายขนส่งและสั่งให้โจทก์ทำงานหน้าที่พนักงานขับรถขนส่งตามเดิม ทั้งการที่นายจ้างจะมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำหรือไม่เป็นสิทธิของนายจ้างเมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่จำเลยอ้างจริงแต่การที่นายจ้างจะไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำต้องไม่เป็นที่เสียหายแก่ลูกจ้างด้วย

 

เช่นนี้ที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาต่อไปให้โจทก์ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์หรือเงินเพิ่มหรือสวัสดิการเหมือนเดิมนี้แสดงให้เห็นว่าก็เพื่อระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยอาจจะโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ต่อไปได้ ทั้งเพื่อให้จำเลยสามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อย่างถูกต้องในการให้โจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถดังเดิม ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาดังกล่าวชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น


พิพากษายืน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52


ผู้พิพากษา
วิรุฬห์ แสงเทียน
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล



24/Apr/2018

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา