ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

บริษัท A ประกอบธุรกิจให้บริการส่งแพทย์และพยาบาลเข้าไปทำงานในห้องพยาบาลของบริษัท B ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ จึงไม่ใช่กรณีที่การทำงานนั้นเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ บริษัท B จึงไม่ใช่นายจ้าง ตามมาตรา 11/1 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8920/2560

 

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งนักจิตวิทยาการปรึกษา ค่าจ้างเดือนละ 35,500 บาท จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจจัดหาบุคลากรทางการแพทย์ให้แก่บริษัทต่างๆ จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบกิจการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ จำเลยที่ 1 ส่งโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วย

 

ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอบังคับให้จำเลยทั้งสอง จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 5,840,000 บาท

 

จำเลยที่ 1 ให้การว่า วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากไม่ผ่านทดลองงาน โจทก์ปฏิเสธการรับมอบหมายงาน ไม่มีจรรยาบรรณด้วยการเปิดเผยความลับของผู้ใช้บริการ จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2

 

ศาลแรงงานภาค 2 เห็นว่า

 

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 – 30 มกราคม 2555 จำเลยที่ 2 มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์   นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นการจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และเป็นนายจ้างตามมาตรา 5 และมาตรา 11/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

 

โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 852,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง

 

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

 

ศาลฎีกา เห็นว่า การที่โจทก์เข้าไปทำงานประจำห้องพยาบาลในสถานประกอบกิจการของจำเลยที่ 2  เพื่อให้บริการแก่พนักงานของจำเลยที่ 2 ก็เนื่องจากสัญญาว่าจ้างบริการกับจำเลยที่ 1 ให้จัดบริการดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ปรากฏชัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง เพียงแต่ส่งโจทก์เข้าไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการ ของจำเลยที่ 2

 

แม้จะกำหนดให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ประกาศ รวมทั้งคำสั่งของจำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้าง ก็เป็นไปเพื่อให้การบริการของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 2 เป็นไปโดยสอดคล้องกับนโยบายของจำเลยที่ 2

 

และในการเลิกจ้างคดีนี้ก็กระทำโดยจำเลยที่ 1 กรณีเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์ยังคงทำงานภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 นำระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งของจำเลยที่ 2 มาเป็นกรอบเพื่อกำหนดแนวทางในการทำงานของโจทก์เท่านั้น

 

นอกจากนี้ ผู้ที่จ่ายค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานแก่โจทก์ก็คือจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจบังคับบัญชา และไม่ได้จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นนายจ้างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5

 

และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดส่งโจทก์ไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 ตามใบจัดจ้าง โดยจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ จึงมิใช่กรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดให้เป็นผู้จัดหาคนมาทางาน อันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานโดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกระบวนการผลิตหรือ ธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ

 

 จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ ตามมาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไปด้วยได้

 

พิพากษา แก้เป็นว่า ให้ ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2



05/Jul/2018

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา