ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
ในปัจจุบันมีลูกจ้างในสถานประกอบการต่างๆเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก และต่อมาถูกบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตฟ้องและดำเนินคดีทางแพ่ง จนศาลมีคำพิพากษาให้ลูกจ้างชดใช้หนี้ค่าบัตรเครดิตดังกล่าว
อย่างไรก็ตามหากลูกจ้างคนนั้นได้รับเงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจะอายัดเงินเดือนของลูกจ้างไม่ได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถไปยึดทรัพย์ที่บ้านของลูกจ้างคนนั้นได้อีกด้วย
อ้างอิงจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า
(1) ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ชำระเงิน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (ลูกจ้าง) ที่จะเรียกให้บุคคลภายนอก (บริษัท) ชำระเงิน ได้ตามมาตรา 296 (2)
(2) อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นอยู่ในมาตรา 302 ซึ่งบัญญัติว่า ในส่วนที่ 2 ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี คือ (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน ที่นายจ้างได้จ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกิน เดือนละสองหมื่นบาท หรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจะไม่สามารถอายัดเงินเดือนของลูกจ้างได้
(3) ขณะเดียวกันทรัพย์สินอย่างอื่นของลูกจ้าง เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือนหรือเครื่องใช้สอยส่วนตัว ประมาณรวมกันไม่เกินสองหมื่นบาท หรือ สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพเท่าที่จำเป็น ราคารวมกันไม่เกินหนึ่งแสนบาท
หรือ สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แทนอวัยวะของลูกหนี้ ฯ ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านี้ เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดชดใช้หนี้ได้เช่นกัน (มาตรา 301)
(4) อย่างไรก็ตามหนี้ไม่ได้สูญหายไป สิ่งที่ควรทำ คือ ลูกจ้างควรติดต่อกับบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อขอประนีประนอมปรับโครงสร้างหนี้และนำเงินเดือนบางส่วนมาผ่อนชำระหนี้จะดีกว่า
ปล. การอายัดเงินตามข้อกฎหมาย มีดังนี้
1. หากเป็นพนักงานบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจที่มีเงินเดือนเกิน 20,000 บาท จะถูกอายัดได้ไม่เกิน 30 % ของเงินเดือน แต่ถ้าหลังจากหัก 30% แล้วเหลือเงินไม่ถึง 20,000 บาท เจ้าหนี้ไม่สามารถหักเต็ม 30% ได้ ต้องเหลือเงินให้ไว้ใช้จ่าย 20,000 บาท
2. ลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ/ลูกจ้างประจำของข้าราชการ จะได้รับงดเว้นไม่ถูกอายัดเงินเดือน
3. เงินโบนัสสามารถอายัดได้ไม่เกิน 50 %
4. เงินตอบแทนการออกจากงาน จะถูกอายัดได้เต็ม 100 %
4. เงินค่าตอบแทน ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง ให้ทำการร้องขอต่อศาลว่าจะอายัดจำนวนเท่าใด
5. บัญชีเงินฝาก สามารถอายัดได้ทั้งหมด
6. เงินค่าวิทยฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ) ถ้าเป็นข้าราชการจะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าเป็นพนักงาน-ลูกจ้างที่สังกัดเอกชนจะถูกอายัด เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน
7. หุ้น สามารถยึดใบหุ้นเพื่อขายทอดตลาดได้ หรือถ้ามีเงินปันผล ก็จะทำเรื่องอายัดเงินปันผลได้
8. เงินสหกรณ์ ทั้งข้าราชการหรือพนักงานบริษัท สามารถอายัดเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินค่าหุ้นสหกรณ์ได้
9. ในกรณีที่ลูกหนี้เปิดบริษัท โดยร่วมทุนกับผู้อื่นในการเปิดบริษัท หากผู้ร่วมลงทุนมีปัญหาถูกอายัดทรัพย์ กรมบังคับคดีจะอายัดเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกอายัดเท่านั้น ไม่ได้อายัดทั้งหมด
#adminเวบไซด์
24-08-61
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...