ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

นายจ้างลดค่าจ้าง และปรับเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างมาโดยตลอดหลายปี โดยลูกจ้างมิได้โต้แย้งคัดค้านหรือไปร้อง พฤติการณ์ถือได้ว่านายจ้างและลูกจ้างต่างตกลงกันโดยปริยายเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการจ้างแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๑๗/๒๕๖๑

 

เรื่อง นายจ้างลดค่าจ้าง และปรับเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างมาโดยตลอดหลายปี โดยลูกจ้างมิได้โต้แย้งคัดค้านหรือไปร้องพนักงานตรวจแรงงาน ส่วนรถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ นายจ้างไม่ได้จัดหาให้ตั้งแต่ลูกจ้างเข้าทำงาน โดยลูกจ้างใช้รถยนต์โจทก์เองตลอดเวลากว่า ๑๐ ปี พฤติการณ์ถือได้ว่านายจ้างและลูกจ้างต่างตกลงกันโดยปริยายเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการจ้างแล้ว

 

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลย เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ค่าจ้างเดือนละ ๑๙๕,๐๐๐ บาท ประกอบด้วยเงินเดือน ๑๙๐,๐๐๐ บาท และค่าน้ำมันรถ ๕,๐๐๐ บาท จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิครอบครองและใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง ๑ คัน พร้อมคนขับ ๑ คน

 

ต่อมาตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๕ จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ค่าจ้างส่วนที่เหลืออีก ๙๕,๐๐๐ บาท จำเลยไม่จ่ายโดยไม่มีเหตุผล

 

ในระหว่างทำงานโจทก์ได้รับค่าจ้างเรื่อยมา แต่จำเลยไม่นำค่าจ้างจำนวน ๙๕,๐๐๐ บาท มาเป็นฐานในการปรับค่าจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้าง โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป อัตราค่าจ้างเดือนละ ๑๘๐,๐๖๒.๒๔ บาท

 

แต่เมื่อรวมค่าจ้างที่จำเลย ต้องจ่ายให้อีก ๙๕,๐๐๐ บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๒๙๕,๐๖๒.๒๔ บาท และตั้งแต่ทำงานจำเลยไม่เคยส่งมอบรถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ

 

ต่อมาวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๔ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุผล เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเดือนละ ๙๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มทุกระยะเวลา ๗ วัน เป็นเงิน ๓๔๑,๗๓๓,๐๔๙.๙๕ บาท

 

โจทก์ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวและต้องว่าจ้างคนขับเองเป็นเวลา ๑๐ ปี ๒ เดือน ๓ วัน คิดเป็นเงิน ๖,๘๓๒,๐๐๐ บาท

 

นอกจากนี้โจทก์ไม่นำค่าจ้าง ๙๕,๐๐๐ บาท มาคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

 

จำเลยจึงต้องรับผิดค่าชดเชยที่จ่ายไม่ครบ ๙๕๐,๐๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่วงล่วงหน้า ๙๕,๐๐๐ บาท เงินโบนัส ฯลฯ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๕,๕๐๑,๒๔๔.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย

 

ศาลแรงงานภาค ๒ พิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์

 

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลแรงงานภาค ๒ รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติและวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายมีอายุความ ๒ ปี นับแต่วันครบกำหนดจ่ายค่าจ้าง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

 

ส่วนที่จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นไปนั้น หากจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ไม่ครบ โจทก์น่าจะโต้แย้งต่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยหรือโต้แย้งไปยังสำนักงานใหญ่ของจำเลย

 

หากจำเลยยังเพิกเฉย โจทก์น่าจะร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านหรือทวงถามหรือร้องทุกข์หรือร้องเรียนไปยังสำนักงานใหญ่ของจำเลย หรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน

 

ประกอบกับจำเลยย้ายโจทก์ดำรงตำแหน่งต่างๆ และปรับเปลี่ยนอัตราเงินเดือนโจทก์มาโดยตลอด จนกระทั่งครั้งสุดท้ายได้รับเงินเดือน ๑๘๐,๐๖๒.๒๔ บาท โจทก์ก็รับเงินเดือนในอัตราที่ปรับเปลี่ยนโดยไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน

 

จึงรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยได้มีการตกลงปรับเปลี่ยนตำแหน่ง และกำหนดเงินเดือนกันใหม่ให้เหมาะสมตามที่จำเลยนำสืบ และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ครบตามข้อตกลงที่เปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว จำเลยจึงไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์

 

ส่วนรถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ จำเลยไม่ได้จัดหาให้โจทก์ตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลย โดยโจทก์ใช้รถยนต์โจทก์เองตลอดเวลากว่า ๑๐ ปี พฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างตกลงกันโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการจ้างในเรื่องการจัดหารถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับรถ และสัญญาจ้างตามเอกสาร จ. ๘

 

ปรากฏเพียงโจทก์มีสิทธิใช้รถยนต์ของบริษัทเท่านั้น แต่โจทก์กลับใช้รถยนต์ส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าใช้สอยรถยนต์ส่วนตัวเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งและค่าจ้างคนขับรถได้

 

จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ขณะอายุ ๖๓ ปี ซึ่งโจทก์ทำงานจนถึงอายุ ๗๔ ปี ปรากฏในทางนำสืบว่าโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในตำแหน่งรักษาการผู้จัดการทั่วไป

 

จำเลยจึงนำเสนอโครงการเกษียณอายุการทำงานให้โจทก์และเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร ไม่อาจถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

 

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยศาลแรงงานภาค ๒ ไม่ชอบ เนื่องจากในทางนำสืบไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงปรับเปลี่ยนตำแหน่งและกำหนดอัตราเงินเดือน

 

เมื่อไม่ปรากฏว่าข้อตกลงโจทก์ยินยอมหรือตกลงเปลี่ยนแปลงเป็นลายลักษณ์อักษร อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๒

 

เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง (เดิม)

 

ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์



06/Nov/2018

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา