ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ ๒๘๕ – ๒๙๘/๒๕๖๑ (เหมาค่าแรง มาตรา ๑๑/๑)
การทำงานอันเป็น “ส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบ” ของผู้ประกอบกิจการต้องเป็น “งานหลัก” เท่านั้น เมื่อการทำงาน “ขับรถประจำตำแหน่งผู้บริหาร” ไม่ได้อยู่ในความหมายของคำว่า “กิจการปิโตรเลียม” การทำงานของลูกจ้างจึงไม่ใช่งานหลัก แต่เป็นเพียงการทำงานที่ “ส่งผลต่อธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโดยทางอ้อม” จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคหนึ่ง
คดีนี้โจทก์กับพวกรวม ๑๔ คน ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ประกอบกิจการธุรกิจเกี่ยวกับการสำรวจผลิตและจำหน่ายปิโตรเลียม ได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดหาคนมาทำงาน จำเลยที่ ๒ ได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๓ เป็นตัวแทนหาคนมาทำงานเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถประจำตำแหน่งผู้บริหารของจำเลยที่ ๑
นับแต่เข้างานโจทก์กับพวกไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเช่นเดียวกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ ๑ เป็นการเลือกปฏิบัติ ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยให้โจทก์กับพวกทำงานตามปกติสัปดาห์ละ ๕ วัน จ่ายค่าทำงานในวันหยุด โบนัส ค่าแท็กซี่ชั่วโมงเร่งด่วน ค่าอาหาร และสวัสดิการพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าโจทก์กับพวกทำงานขับรถส่งพนักงานและตามคำสั่งของพนักงานที่เป็นชาวต่างชาติ งานดังกล่าวจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์กับพวกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๑๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการมีหน้าที่ปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงเสมือนเป็นลูกจ้างของตน และให้ความคุ้มครองลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง
แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มภาระหน้าที่แก่ผู้ประกอบกิจการ ในการตีความบทมาตราดังกล่าวจึงต้องตีความโดยเคร่งครัดก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
ดังนั้นการทำงานอันเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการต้องเป็นงานหลักเท่านั้น มิใช่งานที่มีผลต่อการผลิตหรือธุรกิจโดยอ้อม อันเป็นหลักเกณฑ์ที่ชัดแจ้งในการตีความและเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๒ ให้บริการงานทำความสะอาดสำนักงาน งานทำสวน งานธุรการทั่วไป แต่จำเลยที่ ๒ จ้างจำเลยที่ ๓ ให้ส่งโจทก์กับพวกไปทำงานขับรถให้แก่พนักงานผู้บริหาร การทำงานของโจทก์กับพวกจึงเป็น “การให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่พนักงานและครอบครัวพนักงาน” ของจำเลยที่ ๑
ไม่ได้อยู่ในความหมายของคำว่า “กิจการปิโตรเลียม” ซึ่งหมายความว่า การสำรวจ ผลิต เก็บรักษา ขนส่ง ขาย หรือจำหน่ายปิโตรเลียม ตามคำนิยามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด
การทำงานของโจทก์กับพวกจึงไม่ใช่งานหลัก แต่เป็นเพียง “การทำงานที่ส่งผลต่อธุรกิจของจำเลยที่ ๑ โดยทางอ้อม” จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างของโจทก์กับพวกตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องดำเนินการให้โจทก์กับพวกได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการตามมาตรา ๑๑/๑ วรรคสอง
พิพากษายืน
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...