ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ดัชนีแรงงานต่างด้าว รับกระแสค่าแรงสี่ร้อย , ไทยรัฐ 5 กันยายน 2562

“กลุ่มแรงงาน” ต่างตั้งตา...รอลุ้นมี “เฮ” กับแนวคิดปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ตามนโยบายประชานิยมของพรรคใหญ่...ฝั่งของรัฐบาล...ที่เคยพูดไว้ช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 308–330 บาทต่อวัน...มาเป็น 400 บาทต่อวัน


“ผู้ใช้แรงงาน” ต่างออกมา “กดดัน ทวงคำมั่นสัญญา” ในคำประกาศครานั้น...แต่ในมุม “นายจ้าง” กลับไม่มีใคร...“เห็นด้วย” ออกมาคัดค้านเช่นกัน มองว่า...เศรษฐกิจยังผันผวน และภาคเอกชน ไม่มีศักยภาพพอที่จะจ่ายเงินเพิ่มค่าจ้างสูงขนาดนั้นในยามนี้...

 

แต่ที่แน่ๆ...แนวคิดนโยบายนี้...อาจไม่ใช่แรงงานคนไทยที่ได้รับผลประโยชน์ แต่กลายเป็นแรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทยถูกต้องตามกฎหมาย ที่นั่งอมยิ้ม...รอรับผลประโยชน์นี้แบบเต็มๆ จากผลการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้...เพราะมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าแรงขั้นต่ำเหมือนแรงงานไทยทุกประการ

 

และมีโอกาสแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย...

 

กระทรวงแรงงานระบุสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในเดือน เม.ย.2562 คนต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร จำนวน 3,091,453 คน แยกเป็น...ตามมาตรา 59 ประเภททั่วไป จำนวน 2,950,684 คน ตลอดชีพ จำนวน 241 คน ประเภททั่วไป จำนวน 115,479 คน พิสูจน์สัญชาติคงเหลือ จำนวน 867,043 คน

 

มีการพิสูจน์สัญชาติปรับปรุงทะเบียนประวัติ จำนวน 1,042,108 คน นำเข้าตาม MOU จำนวน 925,813 คน ตามมาตรา 62 ส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายอื่นๆ จำนวน 46,163 คน ตามมาตรา 63 ชนกลุ่มน้อย จำนวน 62,015 คน ตามมาตรา 64 ต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะ ไป-กลับ หรือตามฤดูกาล จำนวน 32,591 คน

 

ทว่า...ก่อนหน้านี้กรมการจัดหางานร่วมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครอง จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว ตั้งแต่ 1 ก.ค.2561 ถึง 12 ส.ค.2562 ได้ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว 599,148 คน และดำเนินคดีคนที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต 7,826 คน

 

ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมา มีการเปรียบเทียบปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง 7,234 คน

 

ทัศนะมุมมองจากเจ้าหน้าที่การข่าวตำรวจ ระบุว่าสถานการณ์ตามแนวชายแดนประเทศไทย—กัมพูชา หรือประเทศไทยฝั่งทางตะวันออก ตั้งแต่ จ.จันทบุรี ยาวถึง จ.ศรีสะเกษ และเชื่อมโยงติดกับชายแดนไทย-สปป.ลาว ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มีความเคลื่อนไหวของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านตามปกติ

 

น่าสนใจว่า...ที่มีตัวเลขแนวโน้มค่อนข้างลดน้อยลงมากกว่าอดีต

 

สาเหตุ...กลุ่มนักธุรกิจชาวจีนเข้ามาลงทุนด้านอุตสาหกรรมในประเทศกัมพูชาจำนวนมาก ทำให้ชาวกัมพูชาหันเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมของนักลงทุนจีน เพราะมีรายได้แรงงานขั้นต่ำใกล้เคียงกับประเทศไทย คือ ค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 200-250 บาทต่อวัน

 

สิ่งสำคัญ...โรงงานในประเทศกัมพูชามีความสบายกว่าที่เข้ามาทำงานใช้แรงงาน หรืองานกรรมกรในประเทศไทย และต้องอาศัยอยู่ไกลบ้าน มีความเสี่ยง “ถูกจับกุม” หรือ“ถูกรีดไถ” ของกลุ่มมีสีบางคน

 

ทว่า...บริเวณชายแดนไทย–เมียนมา โดยเฉพาะตั้งแต่ จ.กาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี และชายแดนไทย–สปป.ลาว ฝั่ง จ.หนองคาย ก็มีการเคลื่อนไหวแรงงานประเทศเพื่อนบ้านตามปกติ และในการข่าวยังไม่พบว่ามีตัวเลขลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายสูงขึ้น...แบบก้าวกระโดดผิดปกติเช่นกัน

 

ที่ผ่านมามีตัวเลขการจับกุมบุคคลหลบหนีเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเฉลี่ย 100–120 รายต่อเดือน ถือว่าตัวเลขการจับกุมน้อยลงตามไปด้วย...

 

แม้ว่ามีกระแสปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มองกันว่าอาจเป็นตัวกระตุ้นให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามามากมาย ทุกหน่วยงานต่างเฝ้าระวังทางการข่าวอย่างใกล้ชิด แต่การเคลื่อนไหวเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย กลับมีตัวเลขคงที่เช่นเดิม เพราะทุกคนรู้ว่าค่าแรงนี้ให้กับแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย

 

ส่วน...คนเข้ามาไม่ถูกต้องย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าแรงนี้อยู่แล้ว


หากมีการลักลอบก็มีลักษณะแบบเดิมๆ คือ ผ่านขบวนการนายหน้า มีทั้งคนไทยให้การสนับสนุนกับนายหน้าประเทศต้นทาง ส่วนใหญ่เป็นบุคคลต่างด้าว เคยทำงานอยู่ในประเทศไทย เริ่มมีความ “เก๋าเกม” รู้ช่องทางกฎหมาย หรือเส้นทางนำบุคคลลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

 

จากนั้นติดตามคนในหมู่บ้านจากประเทศต้นทาง จัดหาบุคคลที่ต้องการทำงานในเมืองไทยตามจำนวน “ออเดอร์” และนัดแนะให้ลักลอบเข้ามาผ่านตามช่องทางธรรมชาติ...มายังจุดนัดหมายที่มีรถลำเลียง...รอนำส่งมายังที่หมายปลายทาง...คิดค่าใช้จ่ายหัวละ 3,000-10,000 บาท ตามระยะทาง

 

สิ่งน่าสนใจ...นับแต่รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน “จดขึ้นทะเบียน” ตามนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย ทำให้ปริมาณการลักลอบเข้ามาเมืองผิดกฎหมายมีตัวเลขต่ำน้อยลง และขบวนการนายหน้านำพาเข้าเมืองผิดกฎหมาย เรียกเก็บเงินค่านำพาถูกลงตามไปด้วย

 

นั่นเพราะเกิดจากแรงงานประเทศเพื่อนบ้านหันมาเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น มีเป้าหมายต้องการเข้ามาสู่ระบบการจดขึ้นทะเบียนทำงานในเมืองไทยถูกต้อง เพราะตอนนี้กระบวนการขั้นตอนขอจดขึ้นทะเบียน มีความสะดวก...ง่ายมากกว่าอดีต และรัฐบาลไทยก็เปิดช่องโอกาสมากขึ้น...

 

เมื่อได้รับอนุญาตทำงานตามกฎหมาย ก็ไม่ต้องกลัว “ถูกรีดไถ” หรือ “เสี่ยงถูกจับกุมผลักดันกลับประเทศ” สิ่งสำคัญ...มีสวัสดิการ การรักษาพยาบาล เรียกร้องสิทธิต่างๆได้เทียบเท่าแรงงานไทย ทำให้เกิดขบวนการใหม่...“นายหน้าจัดหาใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว” ที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงถึงหลายหมื่นบาทต่อคน

 

...มีบริษัทนายหน้าในประเทศไทยอยู่ตามแหล่งพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก อาทิ จังหวัดตาก สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ระนอง จะเป็นผู้ดำเนินการด้านเอกสารยื่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีนายหน้าในประเทศต้นทางเป็นผู้จัดหาแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ต้องการเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย

 

“ยอมรับว่าการลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายน้อยลง เพราะแรงงานหันไปจดทะเบียน มีช่องทางการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น และ “ไม่ต้องถูกกดค่าแรง” จากความเป็น “แรงงานเถื่อน”...ที่นายจ้างหักเงินจากการจ่ายเคลียร์กับหน่วยงานบางแห่งไม่ให้เข้ามาตรวจ และแรงงานกลุ่มนี้...ไม่มีสิทธิเรียกร้องขอความเป็นธรรมได้เลย...ต่างจากแรงงานต่างด้าว ถูกกฎหมาย เรียกสิทธิต่างๆที่ควรจะได้อย่างเต็มที่...”

 

แม้ว่าสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มแรงงานประเภทรับจ้างชั่วคราว ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เช่น ช่วงเก็บ “เงาะ ทุเรียน” ใน จ.จันทบุรี ตราด และศรีสะเกษ มีแรงงานกัมพูชาเข้ามารับจ้างเป็นจำนวนมาก กระทั่งหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้...แรงงานกลุ่มนี้ก็กลับประเทศ

 

ทั้งหมดเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายก็ยังคงมีอยู่เป็นระยะ มักเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่มีความรู้ในการขอจดขึ้นทะเบียน หรือแรงงานที่ไม่มีเงินจ่ายค่านายหน้าจัดขอจดขึ้นทะเบียนทำงานอย่างถูกต้อง และอีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มบุคคลหนีคดีเข้ามาหลบอาศัยชั่วคราว หรือบุคคลหวังเข้ามากระทำผิดกฎหมาย

 

มองในแง่ “ภาคเศรษฐกิจ” การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องสำคัญผลักดันส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่อย่าลืม “ด้านความมั่นคง”...

 

เพราะอาจมีความ “เสี่ยง” ที่มีผลต่อ “ภัยทางสังคม” ตามมาได้.

 



06/Sep/2019

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา