ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1258/2562 เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอมโอนการจ้าง นายจ้างเลิกจ้างถือว่าไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุผลอันสมควร

นายจ้างจะโอนลูกจ้างให้ทำงานกับบริษัทในเครือตามนโยบายเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว ลูกจ้างเห็นว่าสวัสดิการบริษัทใหม่ลดลงกว่าเดิม จึงปฏิเสธ นายจ้างจึงเลิกจ้าง แทนที่จะมีมาตรการหรือวิธีการที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่าหรือขวนขวายช่วยเหลือให้ลูกจ้างไม่ต้องเดือดร้อนจากการยุบหน่วยงาน การเลิกจ้างจึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อลูกจ้างอายุ 59 ปี และทำงานมานานถึง 28 ปี ได้รับความเดือดร้อน จึงกำหนดค่าเสียหายให้ 1,733,508 บาท (จำนวน 28 เดือน)

 

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๓๑ จำเลยรับโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานบัญชีและการเงิน ค่าจ้างเดือนละ ๖๑,๙๑๑ บาท

 

วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๐ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าไม่มีตำแหน่งงานให้ทำ เนื่องจากโจทก์ไม่ยอมโอนย้ายไปทำงานที่บริษัท A จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยตามนโยบายจำเลย

 

เหตุที่ไม่ยอมโอนย้ายเนื่องจากสวัสดิการลดลงจากเดิม การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่ำเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๑,๗๓๓,๕๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ย

 

จำเลยให้การว่า จำเลยมีนโยบายยุบรวมหน่วยงานในแผนกการเงินและสารสนเทศ เป็นหน่วยงานกลางให้บริการแก่บริษัทในเครือ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน

 

พนักงานในแผนก ๓๐ คน สามารถโอนย้ายไปและยังคงปฏิบัติงานในสถานที่เดิม

 

มีพนักงาน ๒๒ คน โอนย้ายไปทำงานบริษัทในเครือ

 

มีจำนวน ๕ คน ลาออก

 

เหลือพนักงาน ๓ คน รวมโจทก์ปฏิเสธการโอนย้าย ไม่มีตำแหน่งอื่นในคุณสมบัติโจทก์จึงจำเป็นต้องเลิกจ้าง

 

 

ศาลแรงงานภาค ๒ พิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ๑,๗๓๓,๕๐๘ บาท

(จำนวน ๒๘ เดือน) พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระ

เสร็จ

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า การพิจารณาว่าการเลิกจ้างของจำเลยจะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ หรือไม่

นั้น จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างและเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ

 

 

คดีนี้ แม้จำเลยจะอ้างว่าสำเหตุแห่งการเลิกจ้างมาจากการยุบหน่วยงานการเงินและบัญชีของจำเลยที่โจทก์ทำงานอยู่ ตามนโยบายของจำเลยเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของจำเลย

 

โดยไม่ปรากฏว่าก่อนการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีวิธีการหรือขั้นตอนในการลดภาระค่าใช้จ่ายหรือวิธีการ อื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของจำเลย

 

ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยอยู่ในภาวะที่มีความจำเป็นต้องปรับโครงการสร้างหรือยุบเลิกหน่วยงาน อันเนื่องมาจากสภาพทางการเงินที่มีปัญหาของจำเลย ไม่อาจคงสถานภาพทางการเงินไว้ได้

 

การยุบหน่วยงานดังกล่าวแม้จะเป็นอำนาจในการบริหารจัดการหน่วยงานของจำเลย แต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยเพียงฝ่ายเดียวเป็นหลัก

 

เมื่อการยุบหน่วยงานบัญชีและการเงินมีผลกระทบถึงการทำงานของโจทก์

 

ลำพังการที่จำเลยเสนองานที่ใหม่ให้ แต่ก็ทำให้โจทก์ได้รับสวัสดิการต่างๆ ลดลง ทำให้โจทก์ซึ่งอายุ ๕๙ ปี และทำงานกับจำเลยมาถึง ๒๘ ปี ต้องได้รับความเดือดร้อน แทนที่จำเลยจะมีมาตรการหรือวิธีการที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่า หรือขวนขวายช่วยเหลือให้โจทก์ไม่ต้องเดือดร้อนจากการยุบหน่วยงาน จำเลยกลับเลือกที่จะเลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างจึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

 

พิพากษายืน



03/Nov/2019

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา