ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
ลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขาย ให้พนักงานอื่นตอกบัตรเข้า – ออกแทน เพื่อความสะดวกในการไปพบลูกค้าโดยไม่เข้ามาบริษัทเท่านั้น ไม่เป็นทุจริตต่อหน้าที่ แต่นายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว ทั้งที่พนักงานคนอื่นก็กระทำเช่นเดียวกันแต่ถูกลงโทษด้วยการออกหนังสือเตือนและไม่ปรับเงินเดือนขึ้นเป็นเวลา ๖ เดือนเท่านั้น
การลงโทษที่แตกต่างกันในกรณีเช่นนี้ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกันและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายจาการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ ๔๗๑๑/๒๕๖๑
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย ค่าจ้างเดือนละ ๖๓,๔๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๙ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างทำงานไม่น่าพอใจและฝ่าฝืนข้อบังคับ ซึ่งไม่เป็นความจริง
ขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าคอมมิชชั่นการขาย ค่าจ้างเนื่องจากไม่ใช้สิทธิลาพักร้อน เงินทดรองจ่าย ค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้าง พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานโดยระบุว่าโจทก์ออกจากงานโดยมิได้กระทำผิด และออกหนังสือลบล้างหนังสือเลิกจ้างโจทก์กับประกาศหนังสือพิมพ์ให้บุคคลทั่วไปทราบเป็นเวลา ๗ วัน
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าคอมมิชชั่น ค่าจ้างเนื่องจากไม่ใช้สิทธิลาพักร้อนเงินทดรองจ่าย และโจทก์ได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๔๔๓,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ประเด็นว่า การที่โจทก์มอบหมายหรือยินยอมให้เพื่อร่วมงานใช้บัตรพนักงานโจทก์ตอกบัตรเวลาเข้า – ออกจากงานแทนโจทก์เป็นการทุจริตและฝ่าฝืนข้อบังคับกรณีร้ายแรงหรือไม่
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เห็นว่าการที่โจทก์ให้เพื่อน ร่วมงาน ใช้บัตรพนักงาน ของโจทก์ทำการตอกบัตรเวลาเข้า -ออกงานแทนโจทก์นั้นก็เพื่อความสะดวกในการไปพบลูกค้าโดยไม่เข้ามาบริษัทจำเลย แม้จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ให้พนักงานต้องตอกบัตรเวลาเข้า-ออกงาน
แต่การกระทำของโจทก์มิได้ถึงขนาดทุจริตต่อหน้าที่หรือมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต กรณีจึงมิใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง
นอกจากนี้ยังฟังว่าพนักงานคนอื่นมอบหมายให้เพื่อนร่วมงานตอกบัตรแทนเช่นเดียวกับโจทก์ แต่พนักงานดังกล่าวถูกลงโทษด้วยการออกหนังสือเตือนและไม่ปรับเงินเดือนขึ้นเป็นเวลา ๖ เดือนเท่านั้น
ต่างจากโจทก์ที่ลงโทษด้วยการเลิกจ้าง การลงโทษของจำเลยที่แตกต่างกันในข้อเท็จจริงของคดีที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานที่เหมือนกันเช่นนี้ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานของจำเลยโดยไม่เท่าเทียมกัน และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๔๙
พิพากษายืน
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...