ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
คดีนี้โจทก์ (นายจ้าง) ฟ้องว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเครื่องยนต์และขายอะไหล่เครื่องยนต์ จำเลยมีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่.../2561 ชี้ขาดว่ากรณีโจทก์ปิดงานไม่รับนาย A กับพวกรวม 5 คน ผู้กล่าวหากลับเข้าทำงานและมอบหมายงานให้ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
ให้โจทก์รับผู้กล่าวหากับพวกกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 จนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย
การที่ลูกจ้างเพียง 6 คน ยื่นหนังสือ ยอมรับข้อเรียกร้องทุกข้อของโจทก์ เป็นการยอมรับข้อเรียกร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะลูกจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการเจรจาและไกล่เกลี่ย ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงไม่ทำให้ข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์และผู้กล่าวหายุติลง
การยอมรับข้อเรียกร้องของผู้กล่าวหาเป็นเพียงคำเสนอทางแพ่ง ไม่ใช่คำสนองยอมรับข้อเรียกร้องที่มีการตั้งตัวแทนลูกจ้างทั้งหมด นอกจากนี้อายุงานของผู้กล่าวหา จำเลยคำนวณระยะเวลาที่ถูกปิดงานเข้าไปด้วยจึงไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอน คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่.../2561
จำเลยให้การว่า ข้อเรียกร้องฝ่ายนายจ้างมีลักษณะเป็นคำเสนอเพื่อให้อีกฝ่ายตกลงทำคำสนองให้เกิดสัญญา
เมื่อผู้กล่าวหากับพวกยอมรับข้อเรียกร้องโดยมีเงื่อนไข ถือว่าตกลงคำสนองตอบรับคำเสนอของโจทก์ สัญญาย่อมเกิดขึ้นแล้ว
แม้โจทก์จะอ้างว่ายังไม่มีการจัดทำข้อตกลงและนำไปจดทะเบียนตามมาตรา 18 ก็ตาม ข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นย่อมยุติลง ในการปิดงานย่อมระงับไปด้วย
เมื่อโจทก์ยังคงปิดงานไม่รับผู้กล่าวหากับพวกกลับเข้าทำงาน เชื่อว่ามาจากสาเหตุที่ผู้กล่าวหากับพวกยื่นข้อเรียกร้องและ ชุมนุมหน้าโรงงาน จนจำเลยมีคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่.../2556 ให้โจทก์รับผู้กล่าวหากับพวกกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหาย...
การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 (1) เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการ.../2561
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 9 และ 15 มกราคม 2556 สหภาพแรงงาน A และโจทก์ ยื่นข้อเรียกร้อง มีการเจรจากันแต่ตกลงกันไม่ได้จนเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้
สหภาพแรงงานฯ นัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 วันเดียวกันโจทก์ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสหภาพแรงงาน
วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหากับพวกทั้ง 6 คน ผู้กล่าวหายื่นคำร้องกล่าวหาต่อจำเลย จำเลยมีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่.../2556 ว่าโจทก์เลิกจ้างฝ่าฝืนมาตรา 121 จึงสั่งให้โจทก์รับผู้กล่าวหากลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายตั้งแต่เลิกจ้างจนถึงวันรับกลับ แต่โจทก์ไม่รับ
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 โจทก์แจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้กล่าวหากับพวกที่ถูกเลิกจ้าง 42 คน รวม 11 ข้อ พร้อมตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจา 4 คน แต่ผู้กล่าวหากับพวกไม่ได้ตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจาตามที่กฎหมายกำหนด
โจทก์ถือเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แล้วโจทก์ปิดงานตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2557 เป็นต้นมา
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ผู้กล่าวหากับพวก ยื่นหนังสือถึงจำเลยยอมรับข้อเรียกร้อง โดยไม่มีเงื่อนไขและขอกลับเข้าทำงาน แต่โจทก์ยังคงปิดงานไม่รับกลับ ผู้กล่าวหาจึงยื่นคำร้องต่อจำเลย และจำเลยได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่.../2561
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า
การปิดงานของโจทก์ในครั้งแรกสิ้นผลและระงับลงด้วยเหตุโจทก์รับผู้กล่าวหากลับเข้าทำงานเช่นเดิม แม้โจทก์จะอ้างว่าผู้กล่าวหาไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
แต่การดำเนินการในส่วนของกิจการด้านแรงงานสัมพันธ์มิใช่อาศัยเพียงแต่บทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น ต้องคำนึงถึงความสงบสุขเรียบร้อยการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในการร่วมกันพัฒนากิจการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป อันจะเป็นประโยชน์ต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ
เมื่อโจทก์มิได้หยิบยกขั้นตอนการเจรจาหรือขั้นตอนการนัดหยุดงานขึ้นมากล่าวอ้าง ว่าผู้กล่าวหาไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เท่ากับโจทก์ไม่ได้ถือว่า การที่ผู้กล่าวหาจะได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หรือไม่ เป็นสาระสำคัญอีกต่อไป
และยอมรับการดำเนินการดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด โดยพยายามประนีประนอมยอมความ และหาทางออกในการแก้ปัญหา เนื่องจากพื้นฐานในด้านแรงงาน แม้จะเป็นสิทธิพื้นฐานของลูกจ้างอันมีลักษณะเชิงมหาชนอยู่ส่วนหนึ่ง
แต่ในด้านของสัญญาจ้างแรงงานก็มีพื้นฐานจากสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งสามารถตกลงกันได้ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นขั้นตอนระงับข้อพิพาทด้านแรงงานลักษณะหนึ่งเท่านั้น
เมื่อโจทก์มิได้ถือข้อดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและโจทก์ปิดงาน ทำให้ผู้กล่าวหาไม่ได้รับค่าจ้าง ถือว่าโจทก์สละสิทธิไม่ประสงค์ให้ผู้กล่าวหาต้องดำเนินการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
โจทก์จึงไม่อาจโต้แย้งในส่วนนี้ได้
ส่วนการนับอายุงานของผู้กล่าวหา เมื่อผู้กล่าวหาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ย่อมต้องผูกพันต่อคำสั่งปิดงาน จึงไม่อาจนับระยะเวลาในระหว่างปิดงาน คำนวณเป็นอายุงานของผู้กล่าวหาได้
พิพากษาให้แก้ไขคำสั่งของจำเลยที่.../2561 ในส่วนของผู้กล่าวหาที่ 2 มีอายุงาน 2 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของจำเลย โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า แม้จำเลยมีคำสั่งที่.../2556 ให้โจทก์รับผู้กล่าวหาที่ 2 กับพวก กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย...ทั้งโจทก์และผู้กล่าวหากับพวกต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาด แม้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจะไม่พอใจคำสั่งและมีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงานให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งจำเลยได้
แต่ตราบใดที่ศาลแรงงานยังไม่เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งดังกล่าว โจทก์ย่อมยังคงต้องผูกพันถือปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว การที่โจทก์ไม่รับผู้กล่าวหาที่ 2 กับพวกกลับเข้าทำงาน ทั้งยังใช้สิทธิเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างบางส่วน ด้วยการแจ้งข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ต่อผู้กล่าวหาที่ 2 กับพวกที่ถูกเลิกจ้างรวม 42 คน
จนกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แล้วปิดงานตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เป็นระยะเวลาอีก 3 ปีเศษ
เป็นเหตุให้ผู้กล่าวหากับพวกยื่นหนังสือยอมรับข้อเรียกร้องโดยไม่มีเงื่อนไขและขอกลับเข้าทำงาน แต่โจทก์ยังคงปิดงานไม่รับกลับเข้าทำงาน จนผู้กล่าวหากับพวกต้องยื่นคำร้องต่อจำเลย และจำเลยมีคำสั่งที่.../2561 สั่งให้โจทก์รับผู้กล่าวหากับพวกเข้าทำงาน
แม้โจทก์รับผู้กล่าวหาที่ 2 -6 กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย ตามคำสั่งจำเลยแล้ววันที่ 7 มีนาคม 2561 แต่ก็เป็นเวลาหลังจากโจทก์ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง 42 คน รวมผู้กล่าวหาที่ 2 ด้วย
การที่โจทก์ไม่รับผู้กล่าวหาที่ 2 กับพวก ซึ่งถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานตามคำสั่งจำเลยที่.../2556 ก็ดี การแจ้งข้อเรียกร้องเพิ่มเติม 11 ข้อ แล้วมีการปิดงาน จนผู้กล่าวหาไปร้องจำเลย อีกครั้งซึ่งจำเลยมีคำสั่งที่..../2561 สั่งให้โจทก์รับผู้กล่าวหากับพวกกลับเข้าทำงาน แล้วโจทก์เรียกผู้กล่าวหา กับพวกไปฝึกอบรมหลายครั้ง มีการเจรจาต่อรองจูงใจให้ลาออก
ตามพฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดง ให้เห็นว่า โจทก์ไม่ต้องการรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานตามคำสั่งจำเลยที่.../2556
ทำให้ผู้กล่าวหาเสียสิทธิที่จะกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่พึงได้รับตามกฎหมาย
ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว
ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 และยังผลให้โจทก์ไม่อาจอ้างเหตุที่โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งจำเลยที่.../2556
และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มาแจ้งข้อเรียกร้องและเจรจาต่อรองการกลับเข้าทำงานของผู้กล่าวหาที่ 2 ได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่.../2561
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีสิทธิยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดี แรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57
พิพากษายืน
อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 72/2562
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...