ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

บทบาทของศาลในการตีความตามความมุ่งหมายของกฎหมาย

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้กล่าวในการบรรยายในที่สาธารณะว่า “ในประเทศใดก็ตาม ถ้ารัฐบาลไม่ยอมรับอำนาจของศาล[รัฐธรรมนูญ]แล้ว ก็เท่ากับรัฐบาลไม่ยอมรับอำนาจของการปกครองโดยกฎหมาย เพราะศาลคือผู้ชี้ว่ากฎหมายมีว่าอย่างไร ปฏิเสธศาลคือปฏิเสธกฎหมาย ผู้ที่ปฏิเสธกฎหมายคือผู้อยู่นอกกฎหมาย” มีหนังสือพิมพ์นำไปเผยแพร่ต่อหลายฉบับ

 

         ในวันถัดมา เพื่อนอาจารย์ที่ผมนับถือมากท่านหนึ่งก็กรุณาโต้แย้งว่า “ในประเทศใดก็ตามถ้าศาล[รัฐธรรมนูญ]ริบฉวยเอาอำนาจที่รัฐธรรมนูญมิได้ให้ไว้ ไปใช้เป็นของตนโดยพลการแล้ว ก็เท่ากับศาลบั่นทอนทำลายอำนาจของการปกครองโดยกฎหมาย เพราะศาลตีความให้ตนมีอำนาจเกินไปกว่าที่กฎหมายให้ไว้ ปฏิเสธกฎหมายก็คือปฎิเสธเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ของศาลเอง ผู้รักษากฎหมายที่ปฏิเสธกฎหมายคือผู้อยู่เหนือกฎหมาย”

 

         อ่านแล้วก็เป็นข้อเตือนสติศาลหรือผู้ใช้อำนาจตุลาการได้ดี เพราะท่านกล่าวถึงกรณีที่ “ริบฉวยอำนาจ...ไปเป็นของตนโดยพลการ” ว่าจะเป็นทางเสื่อม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ถึงกับโต้แย้งว่า ศาลจะตีความไปในทางขยายอำนาจของฝ่ายตุลาการไม่ได้ เพราะถ้าไม่ใช่พลการ คือมีเหตุผลสมควรแล้วก็ย่อมทำได้

 

         ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาความเชื่อมโยง และความโต้แย้งกันของปัญหาทางทฤษฎีว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจซึ่งเสนอว่าศาลไม่ ควรก้าวก่ายอำนาจบริหารและนิติบัญญัติฝ่ายหนึ่ง และหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งถือว่ากิจการของรัฐต้องเป็นไปตามกฎหมาย ทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และศาลเป็นผู้ชี้ว่ากฎหมายมีว่าอย่างไร

 

         เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในนานาอารยประเทศมีกรณีที่ศาลตีความกฎหมายภายใต้หลักการที่ว่า “ศาลเป็นผู้ชี้ว่ากฎหมายมีว่าอย่างไร” ไปในทางขยายอำนาจศาลที่สำคัญหลายกรณี แน่นอนว่า ในเวลาที่เกิดเหตุนั้น มีคนมองการตีความของศาลไปในทางต่าง ๆ กัน ทั้งในทางที่เป็นการตีความที่ชอบด้วยเหตุผล และในทางที่เห็นว่าเป็นการตีความตามใจชอบ หรือโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งในที่สุดการถกเถียงด้วยเหตุผล และการตกผลึกทางความคิดของสาธารณชนที่สั่งสมกันจนยอมรับในทางประวัติศาสตร์ ย่อมเป็นตัดสินเองว่า การที่ศาลใช้อำนาจเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ชอบแล้วหรือไม่

 

         กรณีที่รู้จักกันไปทั่วโลก เป็นคดีที่นักเรียนกฎหมายและรัฐศาสตร์ในสหรัฐต้องเรียนรู้ในฐานะเป็นคดี สำคัญของชาติ ได้เกิดขึ้นเมื่อกว่าสองร้อยปีมาแล้ว คือคดี Marbury v. Madison (1803) ซึ่งศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาได้วินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่า การตรากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการรับรองอำนาจศาลในข้อนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าประธานาธิบดีในขณะนั้นได้แสดงความคิดเห็นในทางไม่เห็นด้วยต่อ คำพิพากษานี้ แต่ในที่สุดก็ต้องก็ยอมรับอำนาจของศาลในการวินิจฉัยว่ากฎหมายมีว่าอย่างไร และกฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

         ต่อมาในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๖ ศาลสูงสหรัฐได้มีบทบาทสำคัญในการยับยั้งการใช้อำนาจแทรกแซงกลไกตลาดของ ประธานาธิบดี  Roosevelt หลายครั้ง และได้อ้างอำนาจศาลในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยวินิจฉัยว่ากฎหมายหลายฉบับที่ตราขึ้นในเวลานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญติดต่อ กันหลายคราว เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีเสนอกฎหมายให้ปรับปรุงจำนวนและกระบวนการแต่งตั้งผู้ พิพากษา (Judicial Procedures Reform Bill 1937) เพิ่มอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีในการแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงเพิ่มขึ้น

 

         แต่การใช้อำนาจตุลาการจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีก็ไม่ได้ระงับสิ้นไป อีกคดีหนึ่งซึ่งนับเป็นคดีสำคัญเช่นกัน เพราะเกิดขึ้นในระหว่างที่ประธานาธิบดีประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินในภาวะสงคราม เกาหลี คือกรณีที่ศาลสูงแห่งสหรัฐปฏิเสธความชอบธรรมของการใช้อำนาจประธานาธิบดี Truman ในการใช้อำนาจโอนกิจการอุตสาหกรรมโลหะเป็นของรัฐ เพื่อสกัดกั้นการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน

 

         ในคดีนี้โดยศาลได้ชี้ว่า อำนาจของประธานาธิบดีนั้น แม้ในยามสงครามจะมีอำนาจสั่งห้ามนัดหยุดงานได้ แต่ก็ไม่มีอำนาจในการยึดทรัพย์สินของเอกชนโดยไม่ตราเป็นกฎหมายของฝ่าย นิติบัญญัติเสียก่อน เพราะไม่สามารถอ้างได้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้โดยตรงหรือโดยปริยาย (Youngstown Street & Tube Co. v. Sawyer, 343 U.S. 579 [1952]) การที่ศาลใช้อำนาจทบทวนการใช้อำนาจของประธานาธิบดีในยามสงครามนี้ เป็นที่โต้แย้งกันอย่างกว้างขวาง

 

         คดีอีกคดีหนึ่งซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมาก เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามเวียดนาม ในช่วงปี ๑๙๗๓ ระหว่างการขับเคี่ยวกับกองทหารเวียตนามเหนือซึ่งกำลังระดมกำลังลงใต้เพื่อ โจมตีเวียดนามใต้ โดยเลี่ยงการทิ้งระเบิดของอเมริกันด้วยการเดินทัพอ้อมเข้าไปในดินแดนกัมพูชา ประธานาธิบดี Nixon จึงสั่งให้ทิ้งระเบิดปูพรมในกัมพูชา เป็นเหตุให้นักบินแห่งกองทัพอากาศสหรัฐจำนวนหนึ่งที่ประจำอยู่ในไทยปฏิเสธ รับคำสั่งบินไปทิ้งระเบิดในกัมพูชา โดยอ้างว่ากรณีนี้ประธานาธิบดีได้เคยหารือสภาผู้แทนราษฎร และขอให้มีมติสนับสนุนการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญสหรัฐตามมาตรา ๒ วรรคสอง โดยรับรองการใช้อำนาจประธานาธิบดีในการสั่งทิ้งระเบิดเฉพาะในดินแดนเวียดนาม เท่านั้น และโดยที่การประกาศสงครามเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นการทิ้งระเบิดกัมพูชาจึงอยู่นอกเหนืออำนาจของประธานาธิบดี และอาจกลายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

         ทหารที่ปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งจึงถูกรัฐมนตรีกลาโหมสั่งดำเนินคดีในศาล ทหาร ระหว่างนั้นเองมีการนำกรณีนี้ขึ้นร้องต่อศาลสหรัฐและขอให้ศาลสูงออกคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราวโดยสั่งระงับการทิ้งระเบิดไว้ชั่วคราว ศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้รอการทิ้งระเบิดในกัมพูชาไว้ก่อน เพราะในชั้นแรกศาลเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ได้กระทำไปโดยปราศจากความเห็นชอบของ สภาผู้แทนราษฎรและอยู่ในอำนาจชองศาล แต่ต่อมาได้มีการประชุมใหญ่และศาลได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่ว คราวนั้นในวันรุ่งขึ้น โดยศาลถือว่าเป็นประเด็นการเมือง และศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยในกรณีนี้  (Holtzman v Schlesinger, 414 US 1316 [1973])

 

         ผลกระทบของคดีนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของประธานาธิบดีนิกสันอย่างกว้างขวาง และเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติงบประมาณในการทำสงครามของ ประธานาธิบดี และสหรัฐต้องถอนทหารจากเวียตนาม

 

         คดีมีชื่ออีกคดีหนึ่งคือคดีวอเตอร์เกต ในสมัยประธานธิบดีนิกสิน อัยการพิเศษที่ได้รับมอบหมายให้สอบสวนคดีนี้ ได้ร้องต่อศาลให้ออกหมายเรียกเทปบันทึกเสียงและรายงานที่เกี่ยวข้องในการ ประชุมสำคัญ ๆ ของประธานาธิบดีที่สงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ แต่สำนักประธานาธิบดียอมมอบให้เฉพาะรายงานที่ได้จากการถอดเทป โดยไม่ยอมมอบเทปให้ตามคำสั่งศาลทั้งหมด

 

         ในคดีนี้ทนายความของประธานาธิบดีอ้างว่า ประธานาธิบดีในฐานะประมุขแห่งรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารย่อมมีสิทธิเด็ดขาด แต่ผู้เดียวในการบริหารงานแผ่นดินในกิจการของประธานาธิบดี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ได้รับมอบ หมายจากประธานาธิบดีให้ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ โดยไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจศาล ใด ๆ เว้นแต่จะเป็นการดำเนินกระบวนถอดถอนของสภา (Impeachment) เท่านั้น

 

         ปรากฏว่าศาลสูงแห่งสหรัฐได้ใช้เวลาราว ๓ สัปดาห์ในการวินิจฉัยคดี และผู้พิพากษาได้มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏหลักฐานต่อศาลให้พอเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าหลักฐาน เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ศาลย่อมมีอำนาจเรียกหลักฐานมาได้ พร้อมทั้งชี้ไว้ด้วยว่า ประธานาธิบดีแม้มีเอกสิทธิ์ในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร ก็ไม่มีเอกสิทธิ์สมบูรณ์จากอำนาจศาล โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุควรสงสัยว่าได้กระทำความผิด (United State v. Nixon [1974])

 

         คดีล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจศาลสูงที่เข้าไปทบทวนอำนาจของประธานาธิบดี และอำนาจของรัฐสภาสหรัฐคือคดีที่รู้จักกันในนามของ คดีกวนตานาโม (Guantanamo Case หรือ Boumediene et al. v. Bush [2008]) ซึ่งในคดีนี้แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะอ้างว่าเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และเป็นเรื่องความมั่นคง เป็นเรื่องการเมืองอันเป็นเขตอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาได้พิพากษาว่าเรื่องความมั่นคงต้องอยู่ในขอบเขตของ กฎหมาย และอำนาจขี้ขาดว่าขอบเขตแห่งกฎหมายในเรื่องความมั่นคงนั้นมีว่าอย่างไร ย่อมเป็นอำนาจของศาล

 

         ศาลสูงได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจแก่รัฐสภาและประธานาธิบดีในการทำการทางนิติบัญญัติ หรือทางบริหารให้ได้มาซึ่งดินแดนหรือเข้าปกครองดินแดนใดดินแดนหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจแก่รัฐสภา หรือประธานาธิบดีในการตัดสินว่ารัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับ ณ ที่แห่งใด หรือ ณ เวลาใด และศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญย่อมตราขึ้นเพื่อบังคับใช้แก่กรณีทั้งปวง โดยมุ่งหมายให้ตั้งมั่นอยู่ได้แม้ในยามที่สถานการณ์ไม่ปกติ และหลักการรักษาความมั่นคง และการคุ้มครองเสรีภาพนั้นย่อมเป็นหลักที่อาจประสานเข้าหากันได้ และเกณฑ์ที่ใช้ประสานเสรีภาพและความมั่นคงเข้าด้วยกันก็คือ “กฎหมาย” และนับตั้งแต่คดี Marbury v. Madison ศาลเป็นผู้มีอำนาจโดยชอบตามรัฐธรรมนูญแต่ผู้เดียวในการวินิจฉัยว่า “กฎหมายมีว่าอย่างไร”

 

         ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา แน่นอนยังมีคำพิพากษาอื่นที่ศาลตัดสินว่า กรณีเหล่านั้นศาลไม่มีอำนาจพิจารณา แต่นั่นก็เป็นเพราะศาลได้พิจารณาวินิจฉัยความมุ่งหมายของกฎหมายแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่กฎหมายมุ่งหมายจะให้เป็นอำนาจเฉพาะขององค์กรอื่นเท่านั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐไม่เคยปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจศาล และในระบบกฎหมายของประเทศที่สำคัญ ๆ ในโลก่ต่างก็เห็นพ้องกันในเรื่องนี้

 

         เสียดายที่การนำเสนอข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบในคดีเหล่านี้ ถูกจำกัดด้วยเวลาและเนื้อที่ ดังนั้นจึงไม่สามารถแสดงรายละเอียดทั้งหมดได้ แต่ก็เป็นไปเพื่อให้แง่คิดแก่ผู้ที่เห็นว่า ศาลไม่พึงก้าวก่ายอำนาจของรัฐบาลและรัฐสภาได้มองเห็นว่า การมองเช่นนั้นแต่ถ่ายเดียว โดยไม่เหลียวมองให้รอบด้าน ไม่ใช่มาตรฐานสากล และไม่ใช่มาตรฐานที่เราควรถือตามในบ้านเรา  ที่สำคัญ การวิจารณ์คำพิพากษานั้นย่อมเป็นสิ่งที่อาจกระทำได้โดยชอบ แต่การประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลนั้นย่อมมีค่าเท่ากับไม่ยอมรับการปกครองโดย กฎหมาย และกลายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายในตัวเอง

 

ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา เมื่อ 4 ธันวาคม 2556



15/Dec/2013

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา