ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
คอลัมน์ นอกรอบ
จรัสพงศ์ ศรีรัฐนันท์, เซฮา ยาทิม Access Partnership
แม้จะมีการให้ความเห็นว่า ไรเดอร์ ที่ให้บริการส่งอาหารหรือคนขับที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ถือเป็นผู้รับจ้างอิสระในระบบ gig economy ซึ่งไม่อาจถูกจัดอยู่ทั้งในกลุ่มแรงงานในระบบหรือนอกระบบตามกฎหมายแรงงาน
แต่หลายฝ่ายกลับมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานอิสระและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มนั้นมีความคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์แบบลูกจ้างและนายจ้างมากกว่า ตัวอย่างเช่น ในบางแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสามารถกำหนดเงื่อนไขการรับงานและจุดหมายปลายทางของคนขับได้ และยังมีบทลงโทษสำหรับคนขับที่ปฏิเสธงานหรือไม่สามารถปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี แนวคิดในการผลักดันที่จะเปลี่ยนสถานะของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระในระบบ gig economy จาก “ผู้รับจ้างอิสระ” ไปสู่การเป็น “พนักงาน” ของบริษัทอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับรูปแบบการทำงานที่เป็นอิสระและมีความยืดหยุ่น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้งานรูปแบบนี้แตกต่างจากการทำงานประจำ
ในขณะที่บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพากลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระเหล่านี้เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็อาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหากต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างประจำจริง ๆ
ทั้งนี้ มีผลวิจัยระบุว่า หากประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดสถานะให้คนขับรถต้องกลายเป็นพนักงานประจำ ธุรกิจของ Uber ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นราว 20-40% และอาจส่งผลให้บริษัทต้องขึ้นค่าราคาบริการตั้งแต่ 25% ไปจนถึง 110% โดยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ไม่เพียงจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม แต่ยังกระเทือนไปถึงระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมของประเทศด้วย
บทบาทของภาครัฐรับมือความท้าทาย
หน่วยงานภาครัฐทั่วโลกต่างเร่งหาแนวทางในการจัดการกับประเด็นดังกล่าว โดยแต่ละประเทศมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันไป อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา มลรัฐแคลิฟอร์เนียได้รับรองข้อเสนอที่ 22 (หรือ proposition 22) ภายหลังมีการลงคะแนนเสียง และ 58% เห็นด้วยกับการจัดหมวดหมู่ของแรงงานในระบบ gig economy ให้เป็นผู้รับจ้างอิสระ
ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนที่จะออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองกลุ่มแรงงานอิสระที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยข้อเสนอนี้จะกำหนดให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องจัดหาประกันสุขภาพและประกันการว่างงานให้แก่กลุ่มแรงงานอิสระอย่างเหมาะสม ส่วนในประเทศเวียดนามรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และสวัสดิการสังคมอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางในการผนวกแรงงานอิสระให้เข้ามาอยู่ในระบบ โดยหนึ่งในนโยบายที่มีการนำเสนอ คือ การอนุมัติให้ใช้บัญญัติการจ้างงานปี พ.ศ. 2498 ครอบคลุมกลุ่มแรงงานดังกล่าว
สำหรับในประเทศไทยนั้นหากพิจารณาโดยคำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวกับกองทุนประกันสังคม รวมถึงจำนวนผู้ประกันตนที่ยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก การปรับสถานะของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระให้กลายมาเป็นพนักงานอาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรดำเนินการ คือ การส่งเสริมความรู้ในด้านการเงิน และการพัฒนาทักษะความสามารถต่าง ๆ ที่จำเป็นให้แก่แรงงานอิสระเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมให้พวกเขาสามารถทำงานที่สร้างมูลค่าที่สูงขึ้นได้
แนวทางแก้ปัญหาแบบองค์รวมและยั่งยืน
ผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านแรงงาน ควรพิจารณาอย่างรอบด้านถึงประเด็นด้านสวัสดิการของแรงงานในระบบ gig economy และร่วมมือกับหน่วยงานภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ แรงงานอิสระ และองค์กรหรือสถาบันที่มีบทบาทในการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนตามบริบทของแรงงานไทย
อีกหนึ่งวิธีในการพัฒนาสวัสดิการสังคม คือ การส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความสามารถให้กับแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างแรงจูงใจในการเข้าอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ หรือเรียนรู้จากการทำงานจริง เพื่อให้พวกเขาสามารถก้าวสู่การเป็นแรงงานของอุตสาหกรรมที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้
การประกาศบังคับใช้หรือเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่แรงงานอิสระต้องเผชิอาจฟังดูเป็นวิธีที่ง่าย แต่นั่นไม่ใช่หนทางที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้ทุกภาคส่วนได้ในระยะยาว แน่นอนว่าข้อถกเถียงเรื่องแรงงานอิสระในระบบ gig economy เป็นเรื่องที่ยังไม่มีคำตอบ
สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องคำนึงถึงในการหาทางออกสำหรับประเด็นนี้ คือการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย และต้องสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายระยะยาวของประเทศไทย อาทิ การส่งเสริมการจ้างงานที่ยั่งยืน และการเสริมศักยภาพให้แรงงานปรับตัวกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เป็นต้น
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...