ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

คอร์รัปชันชนิดที่ถูกกฎหมาย กับชนิดที่ผิดกฎหมาย : แง่คิดจากอเมริกา

โดยสฤณี อาชวานันทกุล

 

เดือนพฤศจิกายน 2556 การเมืองไทยร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อแกนนำ “มวลมหาประชาชน” ยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ

 

โดยอ้างว่ามีฉันทานุมัติจากผู้ชุมนุมให้มา “ปฏิวัติประชาชน” ปฏิรูปประเทศโดยการจัดตั้ง “สภาประชาชน” ก่อนคืนอำนาจให้กับนักการเมือง

 

แนวทาง “สภาประชาชน” ใช่ว่าจะทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การใช้คำว่า “ปฏิวัติประชาชน” และอ้างมาตรา 3 มาตรา 7 ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้น่าเป็นห่วงว่า ความชอบธรรมจะมาจากไหน ประชาชนอีกหลายล้านคนที่ไม่ใช่มวลมหาประชาชนจะมีส่วนร่วมออกความเห็นและใช้ อำนาจหนึ่งคนหนึ่งเสียงได้อย่างไร ในเมื่อแกนนำพูดว่า “ปฏิวัติ” มากกว่า “ประชามติ”

 

ถ้าอยากเป็น “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ ไม่ต่างจากสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน - ถ้าเป้าหมายเป็นประชาธิปไตย แต่วิธีการไม่เป็น ก็ยากที่เราจะหลุดพ้นจากวังวนอุบาทว์ของการประท้วงใหญ่ ชนิด “ไม่ชนะไม่เลิก” ไปได้

 

อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่า พลังของ “มวลมหาประชาชน” ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 เป็นการชุมนุมโดยสงบและสันติที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนไทยนับล้านและน่าจะหลายล้านเหลืออดแล้วกับคอร์รัปชัน ทั้งชนิดที่ผิดกฎหมายคือการทุจริตนานัปการ และชนิดที่ถูกกฎหมาย อาทิ พฤติกรรม “เผด็จการรัฐสภา” ดังสะท้อนจากความพยายามที่จะลักไก่ออกกฎหมาย “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง-สุดซอย” ที่ไม่แยแสประชาชน และจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกที่นิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชันของนักการเมือง

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้าปราศจากการชุมนุมคัดค้านมโหฬารจากประชาชน ร่างกฎหมายอัปยศนี้ก็จะออกมาเป็นกฎหมายจริงได้แบบปอกกล้วยเข้าปาก เพราะ ส.ส. เสียงข้างมากพร้อมใจกันยกมือสนับสนุนอย่างน่าอดสู

 

การจัดการกับคอร์รัปชันอย่างจริงจังจึงต้องจัดการทั้งคอร์รัปชันชนิดที่ผิดกฎหมาย และชนิดที่ถูกกฎหมาย

 

วิธีจัดการกับคอร์รัปชันชนิดที่ถูกกฎหมาย หรือ “เผด็จการรัฐสภา” นั้น ผู้เขียนสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ผู้สมัคร ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ผ่อนปรนข้อกำหนดการตั้งพรรคให้ประชาชนคนธรรมดาทำได้ง่ายขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง กระจายอำนาจไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการให้ลงประชามติในโครงการขนาดใหญ่ และจัดตั้งหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดินประจำรัฐสภาที่เป็นอิสระ ตามแบบอย่าง Congressional Budget Office (CBO) ในอเมริกา

 

วิธีจัดการกับคอร์รัปชันชนิดที่ผิดกฎหมาย ผู้เขียนเห็นด้วยกับนักวิชาการหลายท่านที่เสนอว่า ต้องให้คดีคอร์รัปชันไม่มีวันหมดอายุความ แต่ผู้เขียนมองว่าต้องทำอย่างอื่นประกอบด้วยอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางของประชาชนในการตรวจสอบรัฐ และเพิ่มต้นทุนของภาคธุรกิจในการติดสินบน

 

อย่างหลังนี้ทำได้ด้วยการบัญญัติให้ “ผู้ให้สินบน” รับโทษเท่ากับ “ผู้รับสินบน” ทุกกรณี และอธิบายให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจมากขึ้นเรื่องความรับผิดชอบของกรรมการ บริษัท ไม่ใช่ตีความว่าสิทธิส่วนบุคคลของกรรมการอยู่เหนือความรับผิดชอบ (ติดตามรายละเอียดได้ในตอนต่อๆ ไป)

 

วันนี้ผู้เขียนอยากเล่าตัวอย่างของความพยายามที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ชนิดที่ถูกกฎหมายในอเมริกา ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากไทยมาก แต่เกิดจาก “ต้นตอ” เดียวกัน นั่นคือ อำนาจของกลุ่มทุนใหญ่ที่มีต่อการทำงานของสภา ทำให้สภารับใช้กลุ่มทุนมากกว่ารับใช้ประชาชน

 

หนึ่งในผู้นำการรณรงค์ให้แก้ปัญหานี้คือ ลอว์เรนซ์ เลสสิก (Lawrence Lessig) นักกฎหมายชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ผันตัวจากการเป็นนักรณรงค์คัดค้านกฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบัน มาเป็นนักรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันชนิดถูกกฎหมายที่เขามองว่า เป็นรากฐานของปัญหาทั้งมวลในภาคการเมืองอเมริกา (อ่านสรุปปัญหาและข้อเสนอได้จาก http://www.scribd.com/doc/148565740/Lesterland-the-Corruption-of-Congress-and-How-to-End-It)

 

ผู้เขียนมีโอกาสได้พบกับอาจารย์เลสสิกในเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ระหว่างการเยือนอเมริกา 7 สัปดาห์ ในฐานะ Southeast Asia Regional Fellow (ทั้งรุ่นมี 23 คน) ภายใต้ทุน Eisenhower Fellowships องค์กรไม่แสวงกำไรในสหรัฐอเมริกา

 

อาจารย์เลสสิกสรุปปัญหาคอร์รัปชัน “ต้นตอ” ไว้ว่า คือการที่วันนี้ ส.ส. พึ่งพาเงินจากคนรวยและบริษัทรวยจำนวนหยิบมือเดียวเวลาหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้สภาคองเกรสไม่ทำงานเพื่อประชาชนทั่วไป แต่ทำงานพิทักษ์ผลประโยชน์ “นายทุน” ของตัวเองเป็นหลัก (อาจารย์เคยคำนวณว่า อเมริกาทั้งประเทศมีคนราว 311 ล้านคน แต่ทุนในการหาเสียงเลือกตั้งแต่ละครั้งมาจากคนและบริษัทเพียง 144,000 ราย หรือร้อยละ 0.05 เท่านั้น) ทุกวันนี้สมาชิกสภาใช้เวลาสามในห้าวันทุกสัปดาห์หาเงินเพื่อเตรียมลงเลือก ตั้งครั้งต่อไป ทำให้วาระสำคัญๆ ของประชาชนทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาบนไม้บรรทัดอุดมการณ์ไม่คืบหน้าไปไหน ตั้งแต่การแก้กฎหมายภาษีให้ง่ายขึ้น (ฝ่ายขวา) จนถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน (ฝ่ายซ้าย)

 

กฎหมายหลายอย่างเอื้อต่อการให้สมาชิกสภาคองเกรส “ไถ” ธุรกิจ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวนมากมีวันหมดอายุ ทำให้ ส.ส. ใช้เป็นข้อต่อรองกับภาคธุรกิจได้ (“ถ้าคุณให้ทุนแคมเปญเลือกตั้งของฉัน ฉันจะไปต่ออายุสิทธิประโยชน์ตัวนี้ให้คุณ”) งานวิจัยจำนวนมากชี้ว่า ภาคธุรกิจเองก็ยินดี เพราะได้ผลตอบแทนตั้งแต่ 6-220 ดอลลาร์ ต่อเงิน “ลงทุน” ทุก 1 ดอลลาร์ที่ทุ่มให้กับการล็อบบี้และแคมเปญเลือกตั้ง

 

อาจารย์เลสสิกเสนอว่า วิธีแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ถูกกฎหมายชนิดนี้คือ การปฏิรูประบบการระดมทุนเลือกตั้ง เขาเสนอให้แจก “คูปองประชาธิปไตย” มูลค่า 50 ดอลลาร์ให้กับประชาชนแต่ละคน ผู้สมัครหาเสียงจะได้เงินนี้ไปก็ต่อเมื่อสัญญาว่าจะรับเฉพาะคูปองนี้เท่า นั้นในการหาเสียง ถ้าอยากรับเงินบริจาคจากปัจเจกหรือองค์กรโดยตรง ก็รับได้ไม่เกินสองเท่าของมูลค่าคูปองประชาธิปไตย

 

อเมริกามีประชากร 300 ล้านคน ถ้าชาวอเมริกันครึ่งประเทศตกลงใช้ระบบนี้ คูปองทั้งหมดก็จะมีมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ มากกว่าเงินบริจาคพรรคการเมืองใหญ่สองพรรครวมกันกว่าสองเท่า อาจารย์คำนวณว่า สภาคองเกรสในปี 2009 ใช้เงินแจก “สวัสดิการภาคธุรกิจ” ไปกว่า 90,000 ล้านดอลลาร์ ฉะนั้นหากระบบใหม่นี้สามารถลดสวัสดิการธุรกิจได้ร้อยละ 10 เท่านั้นก็คุ้มทุนแล้ว

 

จะผลักดันการปฏิรูปนี้ได้อย่างไร ในภาวะที่สภาคองเกรสไม่ทำงาน? อาจารย์มองว่ามีสี่ “วิธี” ที่เป็นไปได้ วิธีแรกคือสภาคองเกรสเองออกกฎหมาย วิธีที่สองคือหาผู้สมัครเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมสูงและไม่ใช่นักการเมือง มาลงสมัครเป็น ส.ส. และไม่ถอนตัวจนกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ จะให้คำมั่นสัญญาว่าจะไปผลักดันการปฏิรูป วิธีที่สามคือให้ประธานาธิบดีงัดข้อกับสภาคองเกรส และวิธีสุดท้ายคือแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้เสียงสามในสี่ของมลรัฐทั้งหมดในอเมริกา

 

อาจารย์เลสสิกมองว่าวิธีที่สี่เป็นไปได้มากที่สุด แต่ก็หนีไม่พ้นการรณรงค์ผลักดันไปเรื่อยๆ ให้กลายเป็นขบวนเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ไม่เลือกผู้สมัครที่ไม่สัญญาว่าจะปฏิรูป และหลังการเลือกตั้งก็ต้องติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้นตลอดไป

 

พูดง่ายๆ คือ เป็นประชาธิปไตยทั้งในเป้าหมายและวิธีการ

 

นำมาจากกรุงเทพธุรกิจ 9 ธันวาคม 2556



21/Dec/2013

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา