ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
คำพิพากษาฎีกา ที่ 11182 /53
บริษัทซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ ประเทศไทย จำกัด โจทก์
นางสุวรรณา ขันติวิศิษฎ์ จำเลย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 29
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีคำสั่งที่ 10/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณีแก่นางสาวสมพร แย้มนัดดา กับพวกรวม 437 คน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2546 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 รวมเป็นเงิน 1,389,236.75 บาท อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยมิได้มีคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องและมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายให้ขยายระยะเวลาในการออกคำสั่ง
โจทก์กำหนดวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 13 วันและแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าโดยปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลาประมาณ 8 ปี ลูกจ้างไม่เคยค้าน
โจทก์มิได้ประกาศกำหนดวันรวม 12 วัน คือ วันที่ 14 กรกฎาคม 2546 (วันเข้าพรรษา) วันที่ 23 ตุลาคม 2546 (วันปิยมหาราช) วันที่ 10 ธันวาคม 2546 (วันรัฐธรรมนูญ) วันที่ 6 เมษายน 2547 (วันจักรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2547 (วันฉัตรมงคล) วันที่ 2 มิถุนายน 2547 (วันวิสาขบูชา) วันที่ 1 สิงหาคม 2547 (วันเข้าพรรษา) วันที่ 5 ธันวาคม 2547 (วันเฉลิมพระชนมพรรษา) วันที่ 10 ธันวาคม 2547 (วันรัฐธรรมนูญ) วันที่ 6 เมษายน 2548 (วันจักรี) วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 (วันแรงงาน) วันที่ 5 พฤษภาคม 2548 (วันฉัตรมงคล) ให้เป็นวันหยุดตามประเพณี โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานและค่าล่วงเวลาอย่างวันหยุดตามประเพณี
ตามเอกสารแนบท้ายคำสั่งของจำเลย ระบุให้โจทก์จ่ายค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันที่ 3 มกราคม 2548 ด้วย โดยไม่มีเหตุผลอธิบาย วันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 5 ธันวาคม 2547 เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์ หากลูกจ้างคนใดมาทำงานปกติหรือทำงานล่วงเวลาแล้ว โจทก์จะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดครบถ้วนตามกฎหมาย
ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 5 ธันวาคม 2547 นั้น จึงซ้ำซ้อนกับที่โจทก์ได้จ่ายไปแล้ว ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ 10/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548
จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยได้ขอขยายเวลาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งอธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล ต่อมาได้รับพิจารณาอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน
การที่โจทก์ประกาศวันหยุดตามประเพณีของโจทก์โดยเลื่อนหรือเปลี่ยนไปหยุดวันอื่นแทนนั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งลักษณะหรือสภาพของงานก็ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อโจทก์มิได้กำหนดวันรวม 12 วัน ตามฟ้องเป็นวันหยุดตามประเพณีในช่วงปี 2546 ถึง 2548 ถือว่าโจทก์ประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีน้อยกว่า 13 วัน ไม่ชอบด้วยมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวเพิ่มขึ้นให้ถูกต้องตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์ จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า หากลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ให้ลูกจ้างได้รับเงินตามบัญชีเอกสารหมาย จ.ล. 1
ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้วพิพากษาแก้คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ 10/2548 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2548 เฉพาะในส่วนของบัญชีท้ายคำสั่งให้เป็นไปตามบัญชีเอกสารหมาย จ.ล. 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยหรือไม่เพียงใด
ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าวันหยุดตามประเพณีตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์ให้ลูกจ้างมีโอกาสหยุดงานเพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามประเพณี หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นายจ้างไม่สามารถกำหนดวันหยุดอื่นมาชดเชยประกอบกับสภาพของงานที่ลูกจ้างทำงาน ไม่มีลักษณะตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2541)
การที่โจทก์กำหนดวันหยุดอื่นแทนวันหยุดตามประเพณีจึงไม่ชอบ ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่เคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงานในวันหยุดตามประเพณีกับลูกจ้าง โจทก์ประกาศวันหยุดตามประเพณีโดยลูกจ้างยินยอมด้วย และได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ลูกจ้างไปแล้ว ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การประกาศวันหยุดตามประเพณีของโจทก์เป็นโมฆะ และโจทก์ต้องรับผิดค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามบัญชีเอกสารหมาย จ.ล. 1
เห็นว่าแม้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้การประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของโจทก์เป็นโมฆะ แต่ก็ถือได้ว่าประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีของโจทก์ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายและไม่เป็นการยกเว้นวันหยุดตามประเพณี ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
โจทก์จึงยังคงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวที่จะต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่นให้ลูกจ้างทราบและให้ลูกจ้างหยุดงานในวันดังกล่าว หากให้ลูกจ้างมาทำงานก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามกฎหมาย
ข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไม่อาจรับฟังได้แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามวันที่โจทก์ประกาศให้แก่ลูกจ้างไปแล้วโดยลูกจ้างยินยอม
เห็นว่า การที่โจทก์กำหนดให้วันทำงานปกติของลูกจ้างเป็นวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณีและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดแทนวันหยุดตามประเพณี ตามอัตราค่าจ้างในวันหยุดถือเป็นการตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานเกินไปกว่าค่าจ้างในวันทำงานปกติตามอำเภอใจ
เหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ไม่อาจนำเอาเหตุที่ได้จ่ายค่าจ้างเกินกว่าปกติกับการที่ลูกจ้างยอมรับค่าจ้างมาอ้างว่าลูกจ้างได้ให้ความยินยอม การที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างมากกว่าที่ควรได้รับไม่ถือเป็นการตกลงอันใดขึ้นใหม่ โจทก์จะถือเสมือนว่าได้ชำระหนี้ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดตามประเพณีแล้วหาได้ไม่
หากโจทก์ให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณี ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งตามคำสั่งของจำเลย ซึ่งชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 28 มาตรา 62 ถึงมาตรา 64 และมาตรา 124 ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
(ปดารณี ลัดพลี - ดิเรก อิงคนินันท์ - ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล)
ศาลแรงงานภาค 2 - นายเสถียร ศรีทองชัย
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...