ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

12 มิถุนายน 2565 : คสรท. และ สรส.ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ เสนอแก้ปัญหาระบบประกันสังคมแบบยั่งยืน สร้างหลักประกัน เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ พร้อมทวงเงินสมทบที่รัฐค้างจ่ายเข้ากองทุน 60,000 ล้านบาท , ประชาชาติธุรกิจ

วันที่ 12 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2565 เพื่อยื่นข้อเสนอสำหรับการประกันสังคมที่ยั่งยืน


เนื้อหาจดหมายระบุว่า นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติประกันสังคมซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน เป้าหมายของประกันสังคมคือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น


โดยได้รับทดแทนเมื่อประสบอันตราย หรือจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้ ซึ่งการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในระยะแรกเป็นลักษณะร่วมกันจ่ายในสัดส่วนที่เท่ากันในอัตราร้อยละ 5 ระหว่าง ผู้ประกอบการ คนทำงาน และรัฐ โดยกำหนดค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณจ่ายเงินสมทบรายเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท


รัฐค้างสมทบเกือบ 1 แสนล้านบาท


คสรท. และ สรส. ระบุว่า ภายหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 รัฐบาลได้มีการแก้ไขกฎหมายโดยลดสัดส่วนของรัฐลงเหลือร้อยละ 2.75 ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี ที่รัฐค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท เป็นเหตุให้กองทุนประสบปัญหาในเรื่องการเติบโตขาดโอกาสในการนำเงินไปลงทุนเพื่อหาประโยชน์ และทำให้กระทบถึงสิทธิผู้ประกันตนที่จะเพิ่มผลประโยชน์ในแต่ละกองทุนไปด้วย


ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องปรับลดขนาดลง บางแห่งต้องปิดกิจการส่งผลกระทบต่อคนทำงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน


ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การแก้ปัญหาก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ บางคนก็เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือด้วยเงื่อนไขบางประการ แต่อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือผ่านโครงการต่าง ๆ รัฐบาลล้วนต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลมาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของหนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องร่วมกันชดใช้


เช่นเดียวกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ประกันตนเพื่อให้กิจการและการทำงานดำเนินต่อไปได้ รัฐบาลจึงได้มีมาตรการลดการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกอบการและผู้ประกันตนลงมา อาจเป็นผลดีกับผู้ประกอบการที่จะนำจ่ายเงินสมทบน้อยลง แต่ก็ไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกันตนและระบบประกันสังคมในระยะยาว


แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมล่าสุด


ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งรายละเอียดดังนี้


1) การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้


2) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก)


ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)


3) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่ายร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน


4) ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย


5) แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง


6) การแก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย


เอาเงินออมอนาคตผู้ประกันตนออกมาใช้


คสรท. และสรส. ระบุว่าด้วยว่า หากดูการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมในภาพรวมก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันมากในสังคมซึ่งบางกลุ่มเห็นด้วยบางกลุ่มไม่เห็นด้วย คือ


ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)


ซึ่งในส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมองว่าจะทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงของกองทุนในระยะยาว เมื่อนำเงินออกมาใช้ก่อนแล้วทำให้จำนวนเงินในกองทุนลดลง ทำให้ขาดโอกาสในการนำเงินไปลงทุนหาประโยชน์ รวมไปถึงอนาคตของผู้ประกันตนเองเงินชราภาพที่ได้รับหลังเกษียณนั้นมีจำนวนน้อยมากอยู่แล้ว หากนำเงินมาใช้ก่อนแล้วชีวิตบั้นปลายจะอยู่อย่างไร


และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้นั้น หากบริหารเงินผิดพลาดก็จะส่งผลต่อตนเองและกองทุนด้วยเช่นกัน และวิเคราะห์กันว่าในประเด็น ขอกู้ ขอคืนนั้น มาจากที่คนงานได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นและ ไม่มีเงินเพียงพอที่จะยังชีพ หรือเกิดภาวะตกงานต้องการสร้างอาชีพแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ จึงพยายามหาวิธีการเอาเงินอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน


ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในสิ่งที่ควรจะเป็น คือ รัฐบาลต้องทำหน้าที่ในการสร้างหลักประกัน เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ ให้แก่ประชาชน คุ้มครองการจ้างงานให้กับคนทำงาน เหมือนกับที่รัฐบาลได้สร้างหลักประกัน ลดรายจ่ายให้ผู้ประกอบการไปแล้วก่อนหน้านี้ และรัฐบาลต้องลดรายจ่ายค่าครองชีพของประชาชนลง ไม่ใช่มาเอาเงินออมในอนาคตของผู้ประกันตนออกมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อกองทุนประกันสังคมและผู้ประกันตนเอง


9 ข้อเสนอแก้ไขระบบประกันสังคม


ทั้งนี้ คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกัน และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของระบบประกันสังคมและผู้ประกันตนเพื่อความยั่งยืนดังที่เคยเสนอมาแล้วหลายครั้ง ดังนี้


1. ต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


2. รัฐต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และรัฐต้องนำส่งเงินสมทบที่ค้างจ่ายให้ครบตามจำนวนพร้อมดอกเบี้ย เพื่อประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม และผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันรัฐค้างจ่ายสมทบประมาณ 60,000 ล้านบาท


3. ต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33


4. ต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพใหม่จากเดิม 20 เปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือน เดือนสุดท้าย


5. รัฐต้องจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่แทนชุดเก่าที่หมดวาระโดยเร็วซึ่งสามารถทำได้ทันทีตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 (แก้ไข ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558)


6. ให้ขยายกรอบเวลาและเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่มีข้อจำกัด


7. ให้เพิ่มอัตราค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมจาก 15,000 บาท เป็น 30,000 บาท


8. ต้องเร่งจัดตั้งธนาคารแรงงานหรือสถาบันการเงินของคนงาน ตามกรอบของคณะทำงานประกันสังคมเห็นชอบแล้ว เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกันตนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการออมเงิน


9. เร่งจัดตั้งสถาบันการแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลของประกันสังคม ทำหน้าที่ในการป้องกัน รักษา ฟื้นฟูร่างกาย สุขภาพ และวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องจากการทำงาน เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และ บริการประชาชนทั่วไปซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนและเป็นหลักประกันในเรื่องสุขภาพ



13/Jun/2022

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา