ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

23 ธันวาคม 65 : เรารู้อะไรบ้าง เมื่อค้าปลีกยักษ์อังกฤษถูกฟ้องเพราะบังคับใช้แรงงานเมียนมาในแม่สอด , BBC NEWS ไทย

ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยยังคงถูกสังคมโลกจับจ้องมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ การใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม


เมื่อ 18 ธ.ค. เดอะ การ์เดียน หนังสือพิมพ์ในสหราชอาณาจักร เผยแพร่รายงานพิเศษเกี่ยวกับบังคับใช้แรงงานเมียนมาอย่างไม่เป็นธรรมที่โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปยี่ห้อ F&F ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านแม่กุ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยให้พวกเขาทำงาน 99 ชั่วโมงต่อสัปดาห์


สินค้าที่ผลิตจากโรงงานดังกล่าว ประกอบด้วย กางเกงยีนส์ เสื้อแจ็กเก็ต และเสื้อผ้าสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อส่งไปจำหน่ายในห้างค้าปลีกเครือข่ายของเทสโก้ ในไทยระหว่างปี 2560-2563


คนเมียนมา “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” นโยบายจัดการแรงงานต่างชาติของไทยตอบโจทย์ขาดแคลนไหม

 

การจ่ายค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และสภาพการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย กลายเป็นคดีฟ้องร้องในสหราชอาณาจักรอยู่ในขณะนี้ เมื่ออดีตคนงานกว่า 136 คน ที่เคยทำงานที่โรงงานสิ่งทอวีเคการ์เม้นท์ (VKG) ร่วมกันฟ้องร้องยักษ์ใหญ่ค้าปลีกในข้อหาประมาทเลินเล่อและให้ค่าจ้างไม่เป็นธรรม

 

เมื่อ 20 ธ.ค. พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติได้ลงพื้นที่บ้านแม่กุ จ.ตาก เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงภายหลังมีรายงานข่าวดังกล่าว โดยเข้าตรวจสอบโรงงานของบริษัท ฮังไทยนิตติ้ง อินดัสเตรียล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานเดิมแต่เปลี่ยนเจ้าของรายใหม่


พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติได้เดินทางไปพร้อมกับคณะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโรงงาน บริษัท ฮังไทยนิตติ้ง อินดัสเตรียล จำกัด (20 ธ.ค.)


พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวต่อสื่อมวลชนว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นความเดือดร้อนของชาวเมียนมาเพราะพวกเขาหนีจากการสู้รบ และมาทำงานในโรงงานประเทศไทยใน อ.แม่สอด ที่มีการผลิตเสื้อผ้าส่งไปยังธุรกิจค้าปลีกของเทสโก้


"คน 136 คนเดือดร้อนจริง ๆ เหตุเกิดตั้งปี 2560 – 2563 ซึ่งจากการที่ไปตรวจสอบ และสอบถามพนักงานที่อยู่มา 5 ปี ได้พบพิรุธ เรื่องเวลา และค่าจ้างที่มีปัญหา ซึ่งต้องแยกสอบสวนแรงงานทั้งหมด 136 คน หากมีความผิดก็จะต้องดำเนินคดีอาญา ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานว่ากันไปตามกฎหมายแรงงาน" รอง ผบ.ตร. กล่าว


เรื่องนี้มีสาระสำคัญอย่างไร บีบีซีไทยประมวลข้อมูลมา ดังนี้


เดอะ การ์เดียน ค้นพบพิรุธในคดีนี้อย่างไร


เว็บไซต์ เดอะ การ์เดียน รายงานผลการสัมภาษณ์อดีตแรงงานเมียนมาที่เคยทำงานที่โรงงานดังกล่าวจำนวน 21 ราย พบข้อมูลที่น่าสนใจ ประกอบด้วย


พวกเขาได้รับค่าจ้างราว 3 ปอนด์ต่อวัน หรือราว 127 บาทต่อวัน และต้องทำงานตั้งแต่เวลา 8.00 น.-23.00 น. ในแต่ละเดือนมีวันหยุดเพียงหนึ่งวันเท่านั้น


คนงานส่วนใหญ่มักได้รับค่าจ้างวันละ 4 ปอนด์ (170 บาทต่อวัน) หรือได้รับตามปริมาณงานที่พวกเขาทำเสร็จ แต่ตามกฎหมายของไทยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 7 ปอนด์ (ราว 296 บาท) ต่อการทำงาน 8 ชั่วโมง


มีการทำงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผลิตสินค้าทันล็อตใหญ่จาก F&F ในขณะที่พบว่า มีบางคนเหนื่อยล้า จนต้องนอนหลับคาจักรเย็บผ้า


พนักงานบางคนประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะทำงาน คนงานหลายคนถูกต่อว่า ตะโกน ข่มขู่โดยผู้จัดการภายในโรงงาน หากพวกเขาไม่ทำงานนอกเวลาเพื่อให้สินค้าเสร็จทันตามคำสั่งซื้อ
ผู้ให้สัมภาษณ์หลายสิบคนเล่าว่า โรงงานเปิดบัญชีธนาคารให้กับพวกเขา แต่ได้ยึดบัตรเอทีเอ็มและรหัสผ่านไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงพวกเขาได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสด


คนงานส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาโรงงาน VKG ในเรื่องสถานะแรงงานต่างด้าว และเอกสารการเข้าเมืองมักถูกเก็บไว้โดยโรงงานในลักษณะแรงงานขัดหนี้


สภาพความเป็นอยู่ในโรงงาน พวกเขาต้องอาศัยอยู่กันอย่างแออัดบนพื้นคอนกรีต สกปรก หลายคนบอกว่าที่พักไม่มีประตู มีเพียงแค่ผ้าม่านกั้นเท่านั้น


การฟ้องร้องเกิดขึ้นได้อย่างไร


น.ส. จิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความคลินิกกฏหมายแรงงานแม่สอด เล่าถึงที่มาของคดีดังกล่าวว่า เรื่องนี้เกิดตั้งแต่ปี 2563 มีแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา จำนวน 136 คน เข้ามาร้องขอความช่วยเหลือที่คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด


พวกเขาแจ้งว่า ต้องทำงาน 8 โมง ถึง 5 ทุ่ม บางครั้งถึงเที่ยงคืน ไม่มีวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดนักขัตฤกษ์ และทำงานวันหยุดยังไม่ได้ค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน


เธอเล่าอีกว่า พวกเขายังได้รับการจ่ายค่าจ้างล่าช้า ไม่มีสลิปเงินเดือน เวลาเงินเข้าบัญชี ก็ถอนออกมาลำบาก เพราะไม่มีสมุดบัญชีอยู่กับตัว


ทางคลินิกกฎหมายแรงงานมีแผนการช่วยเหลือเพื่อหาแนวทางประนีประนอมโดยให้ลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องตามตาม พรบ.แรงงานสัมพันธ์ แต่นายจ้างรู้ก่อน จึงให้ลูกจ้างทำสัญญาใหม่


ทว่า ลูกจ้างไม่ยอมลงนามสัญญาใหม่ เพราะถ้ากรอกเอกสารลงนามแล้ว จะทำให้อายุงานขาดหายไป และเสียสิทธิ์ค่าชดเชย เมื่อไม่ลงนามนายจ้างก็ไม่ยอมให้ลูกจ้างเข้าโรงงาน ทางคลินิกแรงงานจึงพาลูกจ้างไปที่สำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานเพื่อยื่นคำร้อง โดยมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย และจ่ายค่าสินจ้างที่มีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม


อย่างไรก็ตาม น.ส. จิรารัตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีที่เป็นข่าวเชื่อมโยงกับบริษัทแห่งหนึ่งนั้น ไม่ใช่ข่าวจากทางคลินิกแรงงานประเทศ แต่เป็นการทำงานของเครือการช่วยเหลือแรงงานในอังกฤษ


ส่วนเรื่องนี้อยู่ในชั้นศาลแรงงานของไทย โดยศาลแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง และค่าชดเชย รวมกว่า 5 ล้านบาท แต่นายจ้างใช้สิทธิอุทธรณ์


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวันที่ 19 ธ.ค. ว่า เรื่องนี้เป็นคดีฟ้องร้องในอังกฤษโดย Leigh Day บริษัทด้านกฎหมายในอังกฤษโดยมีผู้ฟ้องเป็นอดีตแรงงานต่างด้าว ที่ฟ้องร้องเทสโก้ รวมถึงบริษัทเอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม ที่เป็นเจ้าของเครือข่ายค้าปลีกในไทยดังกล่าวจนถึงปี 2563 ก่อนที่เครือเจริญโภคภัณฑ์จะซื้อกิจการไป


นอกจากนี้ Intertek บริษัทตรวจสอบบัญชีของเทสโก้ยังเป็นหนึ่งในจำเลยอีกด้วย


เว็บไซต์ เดอะ การ์เดียน รายงานว่า ทนายฝ่าย Leigh Day มองว่า เทสโก้เป็นค้าปลีกขนาดใหญ่สร้างผลกำไรมากที่สุดบริษัทในอังกฤษ และลูกความกล่าวหาว่า บริษัทนี้ทำกำไรจากการจัดจ้างคนภายนอก (outsourcing) ที่รับค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ ทำงานเกินเวลากำหนด ภายใต้สภาพการทำงานที่ย่ำแย่


ปฏิกิริยาเทสโก และ VKG ต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานถ้อยแถลงของโฆษกของเทสโก้ว่า ข้อกล่าวหาที่ปรากฏในรายงานข่าวเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก หากว่าพบว่าประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เราจะยุติความสัมพันธ์กับกลุ่มซัพพลายเออร์ดังกล่าวทันที


"การกระทำใด ๆ ที่ผิดต่อสิทธิมนุษยชนถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่กับสิ่งที่พวกเขากล่าวอ้างมา พวกเราจะดูแลจัดการอย่างดีเพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขาได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม และแรงงานเหล่านั้นจะต้องได้รับการเคารพในสิทธิมนุยชนและเสรีภาพ"


โฆษกของเทสโก้ยังเรียกร้องให้ซัพพลายเออร์จ่ายคืนค่าแรงตามที่พวกเขาสมควรจะได้รับ


ด้านบริษัท Intertek กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็นใด ๆ ในขณะนี้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย


เดอะ การ์เดียน รายงานอ้างคำพูดของผู้บริหารโรงงาน VKG ว่า ก็ยังไม่สามารถให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่ยืนยันว่า บริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานของไทย และพร้อมจะต่อสู้คดีในชั้นศาล


กระทรวงแรงงานว่าอย่างไร

 

นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ในฐานะรองโฆษกกรม ชี้แจงผ่านเอกสารเผยแพร่สื่อเมื่อ 23 ธ.ค.ว่า 


พนักงานตรวจแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานเอกสารจากฝ่ายลูกจ้างนายจ้างแล้ว และได้มีคำสั่ง เมื่อ 30 ธ.ค. 2563 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง 134 คน รวมเป็นเงิน 5,204,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับจากวันผิดนัด สำหรับลูกจ้างอีก 2 คน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายจ้างยังไม่มีการเลิกจ้าง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า


สำหรับประเด็นค่าจ้างที่ลูกจ้างร้องว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีนั้น 


จากการสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พบว่าลูกจ้างได้รับค่าจ้างดังกล่าวจากนายจ้างครบถ้วนตามสิทธิแล้ว พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีคำสั่งในประเด็นดังกล่าว


ภายหลังจากการออกคำสั่ง ทั้งสองฝ่ายได้ยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ต่อศาลแรงงานภาค 6 (นครสวรรค์) ซึ่งเมื่อ 15 ก.ย. 2565 ศาลแรงงานภาค 6 ได้พิพากษาคดีดังกล่าว โดยมีคำพิพากษาว่า


คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว และแก้ไขในส่วนของอายุงาน ค่าชดเชยของลูกจ้างผู้ร้อง โดยให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเพิ่มเติมอีก จำนวน 1,615,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หลังจากนั้น เมื่อ 16 ก.ย. 2565 


ทั้งสองฝ่ายได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งขณะนี้ประเด็นดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล



15/Jan/2023

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา