ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน
ปีเสือผ่านพ้นไป ตลาดแรงงานไทยเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่สามารถกลับมาลืมตาอ้าปากได้ ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ
โดยล่าสุดอัตราการว่างงานไทยลดลง 4 ไตรมาสติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 1.2% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยช่วงก่อนการระบาดโควิดที่ราว 1% จากเคยทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดโควิดที่ 2.3% ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 สอดคล้องกับรายได้แรงงาน จำนวนคนทำงานต่ำระดับและชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ปรับดีขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขที่ออกมาอาจดูเหมือนภาวะจ้างงานดีขึ้น แต่มองไปข้างหน้าความไม่แน่นอนยังรออยู่มากทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ บทความนี้จึงอยากชวนติดตามประเด็นความท้าทายของตลาดแรงงานไทยตลอดปีใหม่นี้
ความท้าทาย 1 การจ้างงานฟื้นเปราะบางและไม่ทั่วถึง
ในระยะต่อไปแม้ภาพรวมสถานการณ์ตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่จะเป็นไปแบบไม่ทั่วถึง (Uneven) โดยการจ้างงานกลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวการบริโภค หรือสอดรับเทรนด์โลกจะฟื้นตัวได้ดีกว่า เช่น การจ้างงานในภาคโรงแรมที่ยังต่ำกว่าก่อนการระบาดอยู่ราว 1 แสนคนจะทยอยปรับดีขึ้น เนื่องจากมีแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งขึ้นจากความต้องการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับสูงและจีนยกเลิกนโยบาย Zero-COVID อีกทั้ง การท่องเที่ยวในประเทศเติบโตกลับไปใกล้ระดับก่อนโควิด ส่งผลดีโดยตรงต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ใช้แรงงานมาก
ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น บางประเทศหลัก (เช่น สหรัฐฯ และยุโรป) จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้การส่งออกและการลงทุนของไทยชะลอลงตาม การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมจึงอาจมีความเสี่ยงฟื้นตัวช้าและเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศ
ความท้าทาย 2 แรงงานตึงตัวและขาดแคลน
วิกฤติโควิดส่งผลให้แรงงานราว 6 แสนคนออกนอกระบบประกันสังคม (ม.33) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงกว้างทุกอุตสาหกรรม โดย ณ ปัจจุบัน จำนวนแรงงานในระบบยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด ถึงกว่า 2 แสนคน สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานคืนถิ่นเข้าภาคเกษตรหลังจากตกงานช่วงการระบาดยังกลับมาทำงานนอกภาคเกษตรไม่เต็มที่
แม้แรงงานภาคเกษตรบางส่วนจะทยอยกลับเข้ามาทำงานในภาคนอกเกษตรในปีนี้ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ฟื้นตัวประกอบกับแนวโน้มรายได้ภาคเกษตรที่จะเติบโตชะลอลงมากเทียบกับปี 2565 แต่การฟื้นตัวครั้งนี้อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เนื่องจาก
1. แรงงานที่เคยเป็นลูกจ้างเอกชน รวมถึงแรงงานย้ายถิ่นเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอิสระมากขึ้นจนล่าสุดสูงกว่าก่อนโควิดถึง 1.5 ล้านคนแล้ว นอกจากนั้นตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานยังสูงกว่าก่อนโควิดค่อนข้างมาก โดยกว่า 75% เป็นกลุ่มแรงงานอายุน้อยสะท้อนอุปสรรคในการหางานทำของแรงงานจบใหม่และอาจมุ่งหางานอิสระแทน
2. แรงงานต่างด้าวเริ่มกลับมาทำงานหลังจากที่เคยลดลงในช่วงปี 2564 ถึง 6.5 แสนคน แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับช่วงก่อนโควิดราว 1.4 แสนคน ส่งผลให้ธุรกิจ (โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่แรงงานต่างด้าวหายไปมากสุด)
หาแรงงานยากขึ้นในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา การขาดแคลนแรงงานในภาคโรงแรมและบริการ รวมถึงธุรกิจกลุ่มที่เคยพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากอาจต้องเสียต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นในระยะสั้นหากต้องเปลี่ยนจากการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานไทยซึ่งค่าแรงแพงกว่า
ความท้าทาย 3 ของ (ยังคง) แพงแต่ค่าแรงไม่แน่นอน
ในปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อเร่งสูงทำให้แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญภาวะรายได้โตไม่ทันรายจ่ายจนนำไปสู่ปัญหาสภาพคล่อง แม้ในปีนี้เงินเฟ้อจะชะลอลงบ้างแต่อาจไม่เร็วนักจากราคาพลังงานที่ยังสูง กอปรกับเศรษฐกิจอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นยิ่งซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่าย
กลับกันรายได้ของแรงงานยังมีความไม่แน่นอนจากตลาดแรงงานที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ แม้จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยเริ่มกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดทำให้รายได้แรงงานโดยรวมฟื้นตัว แต่หากมองถึงรายได้ที่แท้จริงของลูกจ้างเอกชน (หักเงินเฟ้อ) กลับพบว่าขยายตัวเพียง 0.8% ในไตรมาสสองและหดตัว -0.8% ในไตรมาสสามปี 2565
สะท้อนถึงกำลังซื้อของแรงงานที่ยังน่าห่วง โดยเฉพาะแรงงานอาชีพอิสระที่ความมั่นคงทางรายได้ รวมถึงสวัสดิการน้อยกว่าแรงงานในระบบและอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเหมือนการจ้างงานในระบบ
ความท้าทายการฟื้นตัวตลาดแรงงานเหล่านี้เป็นโจทย์เร่งด่วนให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการออกมาตรการระยะสั้นและยาวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยหลังพ้นวิกฤติอย่างมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในปีกระต่ายจะกระโดดได้สูงกว่าปีเสือ
บทความโดย ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ SCB EIC
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com
click อ่านได้ที่นี่...
อ่านข่าวแรงงาน CLICK ที่นี่...
อ่านข่าว click ที่นี่...
อ่านข่าวมติชน click ที่นี่...
อ่านรายชื่อได้ที่นี่...
ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67 &nb...
CLICK ที่นี่...
ค้นหากดที่นี่...
CLICK ที่นี่...