ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

10 มีค. 66 : การหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 2019 ถือว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินในระหว่างหยุดกิจการไหม ? และต่อมาภายหลังถูกเลิกจ้างจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ ? เรียนรู้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2480/2565

สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2480/2565 อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566

 

ข้อเท็จจริง

จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการจองห้องพักโรงแรมระบบออนไลน์และบริหารจัดการโรงงาน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สำนักสาขาตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี

 

โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กับพวก รวมทั้งสิ้น 10 คน เข้าทำงานที่สำนักงานสาขา ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม  2562-กุมภาพันธ์ 2563 อัตราเงินเดือนแต่ละคนอยู่ระหว่างจำนวน 23,000-65,000 บาทต่อเดือน

 

วันที่ 27 เมษายน 2563 จำเลยแจ้งด้วยวาจา ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ว่า จำเลยจะหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

 

ในวันเดียวกัน จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้ง 10 คน หยุดงานชั่วคราวและประกาศหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม 2563 โดยอ้างเหตุตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ว่า จำเลยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และจะไม่มีการจ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด

 

วันที่ 29 พฤษภาคม และ 24 มิถุนายน 2563 โจทก์ทั้ง 10 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรีว่า ถูกจำเลยเลิกจ้าง และค้างจ่ายค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2563 ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้ง 10 คน โดยมีการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้

 

พนักงานตรวจแรงงานสอบข้อเท็จจริง พบว่า

 

ระหว่างเดือนเมษายน -สิงหาคม 2563 รายได้ของจำเลยลดลงโดยตลอด จำเลยจึงต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ และต่อมาช่วงเดือนสิงหาคม จำเลยได้ทำสัญญาร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับโรงแรมหลายแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในหลายจังหวัดและเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

เห็นว่าที่นายจ้างใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยถือว่าชอบแล้ว โจทก์ทั้งสิบจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี

 

ต่อมาเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้ง 10 คน แต่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่มีเหตุสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ครบถ้วน จึงต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ขาดอยู่

 

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โจทก์ทั้ง 10 ได้นำคดีสู่ศาลแรงงานภาค 2

 

โดยฟ้องว่า จำเลยไม่ได้แจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ การประกาศหยุดกิจการชั่วคราวจึงไม่สามารถกระทำได้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้ง 10 คน ตลอดระยะเวลาที่สั่งให้โจทก์หยุดงานชั่วคราว

 

อีกทั้งจำเลยยังคงมีลูกค้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องจนมีการขยายกิจการ และจำเลยมีการว่าจ้างพนักงานอิสระเข้ามาทำงานในรูปแบบสัญญาจ้างทำของ ทำให้ต้องการบีบให้โจทก์ทั้ง 10 คน พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด

 

เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขาดไปอีกคนละ 2 วัน

 

จึงขอให้จ่ายค่าจ้าง ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้ง 10 พร้อมดอกเบี้ย

 

ศาลแรงงานภาค 2 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565

 

ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มเติม และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้ง 10 คน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินทั้งสองจำนวน นับจากวันฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2563 จนถึง 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก้โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง

 

โจทก์ทั้ง 10 คน และจำเลยอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565

 

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

 

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่ ซึ่งศาลแรงงานภาค 2 ได้อ่านคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 มีคำวินิจฉัย ดังนี้

 

ประการที่ 1 : การสั่งหยุดกิจการชั่วคราว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 

  • ไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายว่าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคสองแล้ว ที่กำหนดไว้ว่า ต้องแจ้งเป็นหนังสือและแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ จะไม่อาจใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวตามวรรคหนึ่งได้

 

  • เพราะวรรคสองเป็นเพียงมาตรการควบคุมว่า ก่อนจะหยุดกิจการต้องให้ลูกจ้างมีเวลาเตรียมตัววางแผนแก้ไขในช่วงหยุดทำงานชั่วคราว และยังเป็นการให้พนักงานตรวจแรงงานทราบ เพื่อใช้อำนาจที่มีอยู่ คอยตรวจสอบควบคุมนายจ้างให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

  • คำสั่งหยุดกิจการชั่วคราวของจำเลยถือว่ามีผลบังคับใช้ได้ ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามา

 

  • อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

ประการที่ 2 : โจทก์ทั้ง 10 มีสิทธิได้รับเงินจากจำเลยในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวหรือไม่

 

  • พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 ไม่ได้กำหนดคำนิยามคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ไว้ จึงต้องตีความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่หมายความว่า “เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ว่าจะมีการจัดการระมัดระวังแล้วก็ตาม”

 

  • แต่จำเลยไม่ใช่สถานประกอบการหรือสถานที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีหรือหน่วยราชการอื่นมีคำสั่งให้ปิดและยังมีลูกค้าใช้บริการอยู่ตลอด

 

  • แต่ที่จำเลยปิดกิจการชั่งคราวเพราะต้องการปรับลดค่าใช้จ่าย เมื่อจำเลยยังสามารถประกอบกิจการได้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้ง 10 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน

 

  • ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย

  • อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดไว้ว่า ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิฟ้องนายจ้างเป็นคดีต่อศาลแรงงาน หรืออาจใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตามช่องทางใดช่องทางหนึ่งเท่านั้น จะใช้สิทธิทั้ง 2 ช่องทางไม่ได้

 

  • เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 390/2563 ออกมาแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ว่าไม่ใช่การเลิกจ้างแต่อย่างใด หากลูกจ้างไม่พอใจต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับจากวันที่ทราบคำสั่ง

 

  • แต่เมื่อโจทก์มาฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราวในคดีดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิอย่างเดียวกับที่ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงาน มิใช่การฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

 

  • โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าจ้างค้างจ่ายในวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 ในส่วนนี้

 

  • แต่เนื่องจากปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์สามารถยกขึ้นมาเองได้ในการพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5) และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 57

 

  • ดังนั้นจำเลยจึงต้องจ่ายเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรค 1 ให้แก่โจทก์ ทั้ง 10 คน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2563

 

  • อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

 

ประการที่ 3 : จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนสิงหาคม 2563 เพิ่มเติมหรือไม่

 

  • ในระหว่างที่จำเลยใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้ง 10 กับจำเลยในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้สิ้นสุดลงหรือยุติลงชั่วคราว

 

  • เพียงแต่จำเลยอาจใช้สิทธิไม่จ่ายค่าจ้างหรือจ่ายเงินในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวให้แก่ลูกจ้างได้ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้นายจ้างมีโอกาสปรับตัวเพื่อไม่ต้องปิดกิจการหรือเลิกกิจการไป

 

  • แต่การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราว

 

  • จำเลยจึงต้องจ่ายเงินให้โจทก์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างนับแต่วันที่จำเลยให้โจทก์ทั้ง 10 ออกจากงานจนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างประจำวันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ดังนั้นจำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จ่ายไปซึ่งยังไม่ครบให้ครบถ้วน

 

  • ทั้งให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ใช่ร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่ศาลแรงงานภาค 2 กำหนดมา แม้ในเรื่องนี้ไม่มีโจทก์หรือจำเลยอุทธรณ์มา ศาลอุทธรณ์ก็เห็นสมควรยกขึ้นมาวินิจฉัยได้เอง

 

ประการที่ 4 : การเลิกจ้างโจทก์ทั้ง 10 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่

 

  • การพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีอยู่จริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่

 

  • เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน กระทบต่อธุรกิจจำเลย จำเลยต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจเพื่อปรับตัวให้กิจการอยู่รอดต่อไปได้ในภาวะวิกฤติที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง

 

  • ถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

  • ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับศาลแรงงานภาค 2 ในข้อนี้

 

  • อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

 

โดยสรุป พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้ง 10 คน กรณีหยุดกิจการชั่วคราวพร้อมดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2563 และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากการเลิกจ้างตามจำนวนแต่ละคน และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง  3 พฤศจิกายน 2563 แต่ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ ฉบับเต็มได้ที่นี่ https://bit.ly/42hiMXX

 

คดีนี้รับผิดชอบโดยฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่มีทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ร่วมกับทนายคนอื่นๆ และเสมียนทนายที่เกี่ยวข้อง

 

สรุปสาระสำคัญคำพิพากษาโดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ เมื่อ 17 มีนาคม 2566

 

 



17/Mar/2023

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา