ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

14 สิงหาคม 2566 : มิได้กระทำผิดสัญญา! ศาลแรงงานฯยกฟ้อง‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง. , สำนักข่าวอิศรา

‘ศาลแรงงาน’ พิพากษายกฟ้อง ‘บมจ.การบินไทย’ คดีจ่ายค่าตอบแทนเลิกจ้างอดีตพนักงาน 40 ราย ที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรฯ ชี้บริษัทฯมิได้กระทำผิดสัญญาจ้าง

........................................

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ร968-ร1026/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ร872-ร874 ,ร950-955 ,ร970 ,ร982 ,ร1016 ,ร1025 ,ร1034 ,ร1121-ร1124 ,ร1145-ร1185/2566 ลงวันที่ 10 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นคดีที่อดีตพนักงาน บมจ.การบินไทย จำนวน 40 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บมจ.การบินไทย


เพื่อขอให้ศาลฯบังคับให้ บมจ.การบินไทย จ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้าง ตามโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563 (MSP A) ให้กับอดีตพนักงานทั้ง 40 ราย โดยให้คำนวณเงินค่าตอบแทนการเลิกจ้าง จากค่าจ้างฐานผลงาน และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ยังไม่ได้ใช้ของปี 2557 ปี 2559 และปี 2563


ทั้งนี้ ศาลฯได้วินิจฉัยในประเด็นต่างๆแล้ว และพิพากษายกฟ้อง บมจ.การบินไทย เนื่องจากเห็นว่าอดีตพนักงานฯ ทั้ง 40 ราย ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ยังไม่ได้ใช้ได้ เพราะสิทธิดังกล่าวได้ระงับสิ้นไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ บมจ.การบินไทย ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2537 เรื่อง วันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่ระบุให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนให้พนักงานล่วงหน้า


หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงาน จะตกลงกันล่วงหน้า สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน 3 รอบปีติดต่อกัน และต่อมามีประกาศ บมจ.การบินไทย ที่ 020/2558 ลงวันที่ 25 พ.ย.2558 เรื่อง การดำเนินการเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งในข้อ 3 ระบุว่า นับตั้งแต่สิ้นรอบปี 2557/2558 (สิ้นสุด 30 ก.ย.2558) เป็นต้นไป บมจ.การบินไทย จะไม่นำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เกินกว่าระเบียบบริษัทกำหนด มาจ่ายเป็นเงินทดแทน


ส่วนที่อดีตพนักงานฯขอให้นำเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเที่ยวบินหรือค่าชั่วโมงบิน (Flight Perdiem) มาเป็นฐานคำนวณในการจ่ายค่าชดเชย นั้น ศาลฯเห็นว่า เมื่ออดีตพนักงานฯทั้ง 40 ราย สิ้นสภาพการจ้าง ด้วยการลาออกโดยสมัครใจในโครงการ MSP A มิใช่เป็นกรณีที่บมจ.การบินไทย เป็นฝ่ายบอกเลิกจ้าง อีกทั้งเมื่อพิจารณาตามประกาศ บมจ.การบินไทย ที่ 049/2563 จะเห็นได้ว่า เงินตอบแทนตามโครงการฯ เทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน


และมีการระบุในประกาศฯแจ้งชัดว่า ค่าจ้างในโครงการ MSP A ให้คำนวณจากเงินเดือน โดยมิได้ระบุถึงเงินค่าปฏิบัติงานบนเครื่องบินที่ออกทำการบิน หรือเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเที่ยวบินหรือค่าชั่วโมงบิน (Flight Perdiem) แต่อย่างใด


ดังนั้น การที่ บมจ.การบินไทย จ่ายค่าตอบแทนตามโครงการ MSP A ในอัตราเทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยคำนวณจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ไม่รวมค่า Flight Perdiem จึงไม่ได้กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและสภาพการจ้าง อดีตพนักงานฯทั้ง 40 ราย จึงไม่มีอำนาจบังคับให้ บมจ.การบินไทยรับผิดตามฟ้องได้


“...เมื่อวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมของปี 2557 ถึงปี 2559 ของโจทก์ทั้งสี่สิบระงับสิ้นไปทุกวันที่ 1 ตุลาคม 2560 วันที่ 1 ตุลาคม 2561 และวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตามลำดับแล้ว แม้คดีนี้เป็นกรณีโจทก์ทั้งสี่สิบเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานด้วยการลาออกโดยสมัครใจตามโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP A จำเลย (บมจ.การบินไทย) ก็ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมของทั้งสามปีดังกล่าวตามมาตรา 67 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบ


และเมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเงินค่าปฏิบัติงานบนเครื่องบินที่ออกไปทำการบินเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เงินดังกล่าว หรือที่เรียกว่าเงินเบี้ยเลี้ยงเที่ยวบินหรือค่าชั่วโมงบิน (Flight Perdiem) นั้น หากเป็นกรณีที่จำเลยเป็นฝ่ายแสดงเจตนาบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่สิบ โดยโจทก์ทั้งสี่สิบมิได้กระทำความผิด ก็จะต้องนำค่าจ้างลักษณะดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณจ่ายเป็นค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบด้วยตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541


แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่สิบพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลย ด้วยการลาออกโดยสมัครใจในโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP A ตามประกาศของจำเลยที่ 049/2563 เรื่องโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563 เอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.9 มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยเป็นฝ่ายบอกเลิกจ้าง จึงนำค่าจ้างลักษณะดังกล่าวมาคิดคำนวณจ่ายเป็นค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบไม่ได้


เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบลาออกโดยสมัครใจในโครงการดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกาศของจำเลยเอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.9


และเมื่อพิจารณาแบบแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กรของโจทก์ทั้งสี่สิบตามเอกสารหมาย ล.10 ในข้อ 1 ถึงข้อ 6 แล้ว แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่สิบย่อมเข้าใจและตกลงยอมรับเงื่อนไขในการจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการดังกล่าวแล้ว


อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกาศของจำเลยที่ 149/2563 ตามเอกสารหมาย จ.7 หรือ ล.9 จะเห็นได้ว่า เงินตอบแทนตามโครงการในอัตราเทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน อัตราค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน ตามระยะเวลาการทำงานตามตารางข้อ 1 ของข้อ 4.1.1 นั้น ระบุไว้แจ้งชัดที่หัวตารางช่องอัตราค่าจ้างสุดท้ายว่า “อัตราเงินตอบแทน” และข้อ 5 การนับอายุงานและฐานค่าจ้างที่ใช้ในการพิจารณาโครงการ MSP A


ข้อ 5.2 เงินตอบแทนตามโครงการในอัตราเทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จะคำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายของพนักงาน ซึ่งรายละเอียดของค่าจ้างที่ใช้คำนวณจะเป็นไปตามเอกสารแนบท้ายประกาศฉบับนี้ ซึ่งเอกสารแนบท้ายประกาศดังกล่าวระบุแจ้งชัดว่า ค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณตามโครงการ MSP A คือ ข้อ 1.เงินเดือน โดยในข้อ 2. ถึงข้อ 6. มิได้ระบุถึงเงินค่าปฏิบัติงานบนเครื่องบินที่ออกไปทำการบิน หรือเงินเบี้ยเลี้ยงเที่ยวบินหรือค่าชั่วโมงบิน (Flight Perdiem) แต่อย่างใด


ดังนี้ การที่จำเลยจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการในอัตราเทียบเท่าค่าชดเขยตามกฎหมายแรงานโดยคิดคำนวณจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ไม่รวมค่า Flight Perdiem ด้วยนั้น จึงครบถ้วนเป็นไปตามประกาศของจำเลย ที่โจทก์ทั้งสี่สิบตกลงยอมรับโดยสมัครใจและโดยชอบแล้ว ทำให้ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสี่สิบนั้นรับฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงมิได้กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและสภาพการจ้างต่อโจทก์ทั้งสี่สิบ


ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่สิบไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดตามคำฟ้องได้พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ร968-ร1026/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ร872-ร874 ,ร950-955 ,ร970 ,ร982 ,ร1016 ,ร1025 ,ร1034 ,ร1121-ร1124 ,ร1145-ร1185/2566 ลงวันที่ 10 ส.ค.2566 ระบุ


@‘การบินไทย’ มีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี


สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา บมจ.การบินไทย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 ว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 บมจ.การบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท หรือ 73.7% แต่ลดลง 9.9% จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางต่ำที่สุดในช่วงปี โดยบริษัทฯ ได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและจีน มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3%


บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 28,805 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 22,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 8,576 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขาดทุน 1,299 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้เป็นไตรมาส 2 ที่บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี


ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,967 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,643 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,262 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 9,307 ล้านบาท


สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,706 ล้านบาท ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 37,175 ล้านบาท


บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,609 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 4,469 ล้านบาท โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 7,515 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นรายได้รวม 344 ล้านบาท


ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 6,457 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 14,776 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 23,361 ล้านบาท


ในปัจจุบัน บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดยบริษัทฯ เพิ่งรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวน 2 ลำ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 14.0 ชั่วโมงต่อวัน


มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 76.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 192.8% อัตราส่วน การบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่ง รวมทั้งสิ้น 6.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 126.7%


ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 223,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 25,140 ล้านบาท (12.7%) หนี้สินรวมจำนวน 279,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 10,369 ล้านบาท (3.9%)


ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 56,253 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค. 2565 จำนวน 14,771 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ จึงมีเงินสดคงเหลือจำนวน 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566 เพิ่มขึ้น 16,613 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565



14/Aug/2023

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา