ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ถ้าไม่ไปเลือกตั้ง จะเสียสิทธิอะไรบ้าง

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 72 กำหนดไว้ว่าบุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุผลอันสมควร ก็ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 26 จึงกำหนดว่า เมื่อบุคคลใดๆ ไม่ไปเลือกตั้ง จะเสียสิทธิ 3 ประการ ดังนี้
 
1.เสียสิทธิการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. คนที่ไม่ไปเลือกตั้งจะไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านว่าเป็นการเลือกตั้งส.ส. ส.ว. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
2.เสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว., สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. หากประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมัยหน้า ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น ก็ไม่มีสิทธิลงสมัคร
 
3.เสียสิทธิการสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
 
สิทธิทั้ง 3 ประการ จะได้กลับคืนมาเมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น
 
ถ้าไม่สามารถไปเลือกตั้งจริงๆ ทำอย่างไรได้บ้าง
 
แต่ถ้าหากไม่สามารถไปใช้สิทธิได้จริงๆ  โดยเหตุผลต่างๆ ดังนี้
1.มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล 
2.เจ็บป่วย พิการ สูงอายุ ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้
3.เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
5.มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กม.
6.มีเหตุสุดวิสัยอื่นที่ กกต.กำหนด
 
ตามมาตรา 24 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ก็ให้สิทธิประชาชนในการรักษาสิทธิข้างต้น โดยการต้องไปแจ้งเหตุต่อนายทะเบียนเขตหรืออำเภอ โดยสามารถไปแจ้งเหตุได้ในช่วงเวลาก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน จนถึงหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน  (26 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2557) เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ 3 ประการ ดังกล่าว โดยกรอกแบบฟอร์มหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ หรือ ส.ส.28 (ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่นี่)  โดยระบุหมายเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน แนบหลักฐานเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ได้ 3 วิธี คือ ยื่นด้วยตนเอง มอบหมายบุคคลอื่นไปยื่นแทน หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
 
ไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง จะประท้วงโดยการฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือไปขัดขวางคนอื่นไม่ให้เลือกตั้ง จะทำได้หรือไม่
 
ไม่ว่าจะฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือไปขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นใช้สิทธิเลือกตั้งล้วนผิดกฎหมาย แต่จากการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ก็มีผู้ชุมนุมไปปิดหน่วยเลือกตั้งจนทำให้คนอื่นมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ แต่หากคุณคือคนหนึ่งที่คิดจะไปร่วมขบวนขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ขอเตือนคุณก่อนว่า อาจจะต้องเตรียมใจถูกดำเนินคดี ตามมาตรา 76 ประกอบมาตรา 152 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 ซึ่งมีโทษจำคุกหนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีด้วย
 
นอกจากผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ยังผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย ข้อหาข่มขืนใจ หรือหากมีการใช้กำลังก็ผิดข้อหาทำร้ายร่างกายอีก
 
ไม่เพียงแต่กับผู้ที่ต้องการใช้สิทธิเท่านั้น คุณอาจโดนข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ได้ (มาตรา 43 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  
 
ส่วนการฉีกบัตรเลือกตั้งเพื่อเป็นการประท้วงโดยแสดงสัญลักษณ์ไม่ยอมรับการเลือก ตั้ง ก็ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน อาจจะต้องเตรียมใจรับข้อหา ทำลายบัตรเลือกตั้ง หรือจงใจกระทำการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดเสียหาย ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 148  ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท และยังถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีด้วย 
 
ถ้าหากผู้กระทําความผิดดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้งเองต้อง ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
 
 
ไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ไม่อยากทำผิดกฎหมาย จะทำอะไรได้บ้าง
 
ขณะนี้มีการณรงค์ต่อต้านการเลือกตั้งอย่างสันติวิธีด้วยวิธีการ 2 อย่าง คือ ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (No Vote) และกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน (Vote No)  การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้มีผลอะไรกับการเลือกตั้ง เพราะอย่างไรผู้สมัครที่ได้รับโหวตมากที่สุดก็จะได้รับเลือกตั้งอยู่ดี แต่การกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนจะมีผลกับการเลือกตั้ง ในกรณีที่เขตนั้นๆ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว มาตรา 88 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 กำหนดไว้ว่า ถ้ามีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเพียงคนเดียว ผู้สมัครคนนั้นต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน  
 
ซึ่งถ้าผู้สมัครได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น หรือมีคะแนนน้อยกว่าบัตรที่ไม่ประสงค์จะลงคะนแน  กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และถ้าเลือกตั้งใหม่อีกครั้งยังได้ผลเช่นเดิม กกต.ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีก ในครั้งที่สามนี้ถ้าได้ผลเช่นเดิม ผู้ได้รับคะแนนก็จะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งตามกฎหมาย
 
ถ้าถูกขัดขวางจนไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งได้ ทำอย่างไร
 
การถูกขัดขวาง อาจจะถูกขัดขวางได้ทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง และกกต.ของเขตนั้นๆ เอง ก็ให้รวบรวมหลักฐานเท่าที่ทำได้ เช่น ภาพถ่าย คลิปวีดิโอ แล้วนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ในข้อหาขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้ง ตาม มาตรา 76 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550 และตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง เช่น ความผิดฐานข่มขืนใจ ตามมาตรา 309 ฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 เป็นต้น และถ้าหากถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐเอง ได้แก่ กกต. เช่น ปิดการลงคะแนนโดยที่ไม่มีเหตุผลสมควร ก็สามารถแจ้งความฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
เลือกตั้งไปแล้วจะเป็นอย่างไร โมฆะหรือไม่
 
เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีปัญหามากมายตั้งแต่สมัครรับเลือกตั้ง หลายจังหวัดไม่สามารถจัดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งได้ อีกทั้งพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็บอยคอตการเลือกตั้ง ทำให้มี 28 เขตจาก 375 เขต ที่ไม่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง  และอีก 12 เขตที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ก็มีปัญหาให้ต้องคิดกันต่อไปว่า แม้เลือกตั้งไปแล้วก็อาจไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เพราะจำนวนส.ส.ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 
 
ในรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรค 6 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ  ทําให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ถึงห้าร้อยคน  แต่มีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง หมด   ให้ถือว่าสมาชิกจํานวนน้ันประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร  แต่ต้องดําเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ครบตามจํานวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันและให้ อยู่ในตําแหน่งได้เพียงเท่าอายุ ของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
 
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่แน่ๆ จะยังไม่มีผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 28 คนจาก 28 เขตที่ไม่มีคนลงสมัคร ก็ถือว่าไม่ถึง 95% ของส.ส.ทั้งสภาจำนวน 500 คน ทำให้ไม่อาจเปิดประชุมสภาได้ กลไกต่างๆ ก็ยังเดินหน้าต่อไปไม่ได้ 
 
แม้ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าในกรณีเช่นนี้ต้องทำอย่างไร แต่โดยหลักการทั่วไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้ได้จำนวนส.ส.ครบขั้นต่ำที่ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ได้ ขณะที่ กกต.เองก็พยายามจะนำข้ออ้างนี้มาเพื่อเสนอให้รัฐบาลเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้ง และนักวิชาการหลายคนก็ให้ความเห็นไปว่า ด้วยเหตุนี้อาจทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะได้


07/Feb/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 2567 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา