ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

“เลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง” : ต้อง “ถูกขั้นตอนกฎหมาย” และ “เป็นธรรม”

ในช่วงนี้พบสถานการณ์กรณีประธานสหภาพแรงงานหรือกรรมการสหภาพแรงงานหลายๆแห่งที่มีสถานะ เป็น “กรรมการลูกจ้างด้วย” ถูกนายจ้างขออำนาจศาลแรงงานเลิกจ้างจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะสหภาพแรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออก ด้วยข้อหา “ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ กระด้างกระเดื่อง ตลอดจนฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง (ตามระเบียบข้อบังคับบริษัทที่มีการระบุไว้)”

 

 

“กรรมการลูกจ้าง” คือ ตัวแทนของลูกจ้างซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากลูกจ้างทั้งหมด เพื่อทำหน้าที่ดูแลสวัสดิการของลูกจ้าง ปรึกษาหารือเพื่อกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อนายจ้างและลูกจ้าง พิจารณาคำร้องทุกข์ของลูกจ้าง และหาทางปรองดองและระงับข้อขัดแย้งในสถานประกอบการ

 

 

การคัดเลือกลูกจ้างขึ้นมาทำหน้าที่เป็นกรรมการลูกจ้างนั้น จะพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งจะต้องมีจำนวนลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปเสียก่อน โดยคณะกรรมการลูกจ้างจะมีได้ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปจนถึงสูงสุด 21 คน สำหรับสถานประกอบการที่ลูกจ้างเกิน 2,500 คน

 

 

หากสถานประกอบการใดมีสหภาพแรงงานและมีสมาชิกของสหภาพแรงงานเกิน 1 ใน 5 ของลูกจ้างทั้งหมด สหภาพแรงงานนั้นสามารถแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างได้หนึ่งคน หากสหภาพแรงงานมีสมาชิกเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด สหภาพแรงงานแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างได้ทั้งคณะ

 

 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ได้ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน

 

 

ในกรณีดังกล่าว เมื่ออ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1905/56 ก็พบชัดเจนว่า “ข้อหานี้ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้”

 

 

สาระสำคัญของคำพิพากษานี้ สรุปได้ว่า

 

(1) บริษัท ไลอ้อนไทร์ส(ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า

 

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 เวลา 07.20 - 07.50 น. แรงงาน (นายบุญล้วน กัลยาพรม และนายดนัยมาศ บุญวงศ์) ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างในบริษัทแห่งนี้ ได้ใช้โทรโข่งป่าวประกาศ ยุยงส่งเสริม และปลุกปั่นให้พนักงานของบริษัทเกิดอคติต่อบริษัท และสร้างความแตกแยกระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร โดยใส่ร้าย กล่าวข้อความเท็จว่าผู้บังคับบัญชาได้ฉีกใบลาของพนักงาน เพื่อตัดผลประโยชน์ของพนักงานไม่ให้พนักงานลาพักผ่อนและตัดเบี้ยขยัน ทั้งกล่าวหาว่าบริษัทรังแกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีพนักงาน และให้ร้ายดูหมิ่นเสียดสีผู้บริหาร

 

การกระทำของแรงงานจึงเป็นการกระทำความผิดอาญา โดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจ ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างกลุ่มนี้

 

 

(2) ตัวแรงงานชี้แจงว่า

 

 

ข้อกล่าวหาของบริษัทไม่ชัดเจน (เป็นลักษณะร้องเคลือบคลุม) เนื่องจากไม่ได้ระบุว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 อนุมาตราใด หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 อนุมาตราใด อีกทั้งไม่ได้ระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอาญาฐานใด เนื่องจากไม่ได้จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างเกี่ยวกับการทำงานอัน เป็นกรณีร้ายแรง ทั้งไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

 

ตัวแรงงานให้เหตุผลว่า การใช้โทรโข่งป่าวประกาศนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามความเป็นธรรมและในฐานะกรรมการลูกจ้าง ประธานและสมาชิกสหภาพแรงงานไลอ้อนไทร์ส เป็นลักษณะการพูดติชมด้วยความเป็นธรรม และเป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการของสหภาพแรงงานอัน เป็นการเปิดเผย ทั้งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการหมิ่นประมาทผู้ร้องหรือผู้บริหาร

 

 

 

(3) ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทไลอ้อนไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เลิกจ้างนายบุญล้วน กัลยาพรมได้ ต่อมาตัวแรงงานอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

 

(4) ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัย ได้ความว่า

 

 

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 เวลา 07.20 น. ตัวแรงงานได้ประกาศทางโทรโข่งที่บริเวณถนนตรงข้ามกับบริษัทจริง (อ้างอิงจากภาพถ่าย) เพื่อชักชวนให้พนักงานของบริษัทมาฟังเรื่องการฉีกใบลาของพนักงานที่ลาหยุดในวันที่ 10 กรกฎาคม 2549 ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา (อ้างอิงตามข้อความถอดเทป)

 

 

อย่างไรก็ตามไม่มีกรรมการลูกจ้างคนใดใน 11 คน ตอบได้ว่าใครในบริษัทเป็นคนฉีกใบลา อีกทั้งบริษัทได้มีหลักฐานแจ้งต่อศาลเรื่องการอนุมัติให้ลูกจ้างลาหยุดในวัน ดังกล่าวล่วงหน้ามาแล้วตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2549 จึงถือได้ว่าข้อความที่ลูกจ้างประกาศดังกล่าวไม่เป็นความจริง

 

 

แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทำที่บริเวณถนนตรงกันข้ามกับบริษัท ก็ถือเป็นการไม่สมควร อาจทำให้ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัทเสียหาย เนื่องจากมีการโจมตีประมาณว่า “เป็นบริษัทใหญ่โตแต่กระทำเยี่ยงอย่างคล้ายสัตว์ ผู้บริหารระดับเจษฎาก็ดี มันตากรก็ดี ขอให้บริษัทพิจารณาระดับผู้บริหารที่มีมันสมองอยู่ในกะโหลกเพียงพอ ไม่ใช่มีสมองไว้แต่คิดนักธุรกิจอย่างเดียว บริษัทไม่เคยพัฒนา มีแต่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงาน มีการฉีกใบลาของพวกเรา พฤติกรรมดังกล่าวมันเยี่ยงอย่างคล้ายสัตว์เนรคุณ การบริหารแบบนี้มันเฮงซวย” (อ้างจากข้อความถอดเทป)

 

 

ข้อความดังกล่าวนี้เจตนาก็เพื่อปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ กระด้างกระเดื่อง อคติ และความเกลียดชังผู้บริหารขึ้นในหมู่พนักงานที่มาทำงานในตอนเช้ากับประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งได้ยินและไม่ทราบความจริง

 

 

การกระทำของแรงงานจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประพฤติตนไม่สุภาพเรียบร้อย ไม่เชื่อฟัง ไม่ให้เกียรติ ก้าวร้าว และไม่แสดงความนับถือต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งสูงกว่าตน ไม่รักษาเกียรติ ชื่อเสียง และทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ของบริษัท ไม่ว่าในหรือนอกเวลาทำงาน ก่อความไม่สงบขึ้น จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 9.1.1 , 9.1.2 , 9.1.14 , 9.1.17, 9.2.3 และ 9.3.4 (ตามเอกสารที่ยื่นต่อศาล)ถือเป็นกรณีร้ายแรงเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119

 

 

จึงมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติแรงงาน สัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 ที่ศาลแรงงานกลาง มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

 

 

 

อย่างไรก็ตามต้องอธิบายเพิ่มเติมมีหลายกรณีที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ แต่ศาลแรงงานก็ไม่อนุญาตให้เลิกจ้างเช่นเดียวกัน ได้แก่

 

(1) บริษัทไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ชัดเจนว่า บริษัทเสียหายอย่างไรจากการกระทำดังกล่าว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902 - 1904/2556)

 

(2) ลูกจ้างไม่ได้ทำผิดระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของนายจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2524 2021/2531 4386/2528)

 

 

(3) ลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดกรณีร้ายแรง ตามที่ระบุไว้ในระเบียบบริษัท ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ ประกอบกันหลายประการ อาทิเช่น ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง ลักษณะและพฤติการณ์การกระทำผิดของลูกจ้าง ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดว่ามากน้อยเพียงใด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2530, 182-184/2555)

 

 

(4) นายจ้างยังไม่ได้ลงโทษหรือลงโทษผิดขั้นตอนของระเบียบข้อบังคับ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2531)

 

(5) ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085/25273652/2529)

 

 

(6) นายจ้างเคยทำความตกลงไว้กับลูกจ้างเช่น “นายจ้างจะไม่กลั่นแกล้งในการเลิกจ้างผู้แทนลูกจ้างที่เกี่ยวกับการเรียกร้องเรื่องนี้” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3531/2525)

 

 

(7) นายจ้างอ้างว่าขาดทุนต้องลดการผลิตและจำนวนคนงานลง แต่ถึงเวลาสืบกลับไม่เป็นจริง หรือขาดทุนจนต้องลดการผลิต แต่ยังไม่ถึงกับยุบหน่วยงานเสียทั้งหน่วยหรือเลิกกิจการไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2524 3861/2524)

 

 

สำหรับกรณีอื่นๆที่พบว่าศาลแรงงานอนุญาตให้เลิกจ้างได้ มีดังนี้

 

 

(1) ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย เช่น ออกหนังสือเวียนแจ้งให้ลูกค้าของนายจ้างทราบถึงเหตุการณ์ในอนาคต ที่สหภาพแรงงานอ้างว่าจะเกิดขึ้นโดยการกระทำของตนเอง จนเป็นเหตุให้ลูกค้าของนายจ้างงดใช้หรือเกิดความลังเลที่จะใช้บริการของนายจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2525)

 

 

(2) ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่หรือขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่น ออกไปสัมมนา 3 วันติดต่อกันโดยมิได้ขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อน , ผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1189/2527 , 2911/2528 , 2877/2530 4475 -4479/2553)

 

 

(3) ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เช่น ระเบียบข้อบังคับในการทำงาน กำหนดว่า “ห้ามเปิดประชุมในบริเวณโรงงานก่อนได้รับอนุญาตจากผู้ร้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2527 , 1522/2530)

 

 

(4) ลูกจ้างประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เช่น กอดปล้ำกระทำอนาจารแก่สตรีซึ่งมีสามีแล้วในบริเวณที่ทำงานโดยเปิดเผย หรือการกระทำที่ละเมิดในศีลธรรมอันดีของวิญญูชน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4498/2528)

 

(5) นายจ้างจำเป็นต้องหยุดดำเนินกิจการหรือปิดกิจการ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2529 ,1849/2531 ,785/2532 , 10907/2553)

 

 

โดยสรุปมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง ดังนี้

 

(1) ถือเป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาว่ามีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุอันสมควรหรือไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2531)

 

 

(2) เหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรอาจเกิดจากฝ่ายใดก็ได้หรือเกิดจากบุคคลภายนอกก็ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2531)

 

 

(3) การเลิกจ้างมิใช่จะทำได้เฉพาะกรณีมีเหตุตามมาตรา 123 เท่านั้น กรณีที่นายจ้างมีเหตุอย่างอื่นอันสมควร นายจ้างก็อาจขออนุญาตต่อศาลแรงงานก่อนเพื่อเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2527)

 

(4) แม้กรรมการลูกจ้างจะทำผิดตามมาตรา 123 การเลิกจ้างก็ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2525)

 

(5) ศาลจะนำเหตุอื่นนอกคำร้องมาเป็นเหตุอนุญาตให้เลิกจ้างไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1596/2529)

 

(6) แม้ศาลอนุญาตให้เลิกจ้างได้ นายจ้างก็ต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกชั้นหนึ่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2911/2528 ,4498/2528 ,2816 – 2822/2529 ,2842/2529 ,4688/2529)

 

 

(7) การเลิกจ้างตามที่ศาลอนุญาตแล้ว ถือว่าไม่ใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2524)

 

 

(8) การโยกย้ายโดยให้ได้ค่าจ้างเท่าเดิมไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1749/2530)

 

 

(9) การเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2752/2530)

 

 

(10) การยุบเลิกกิจการจะชอบหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับการขออนุญาตเลิกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2532)

 

(11) หากบริษัทยังไม่ขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต่อศาลแรงงานนั้น ถือว่ากรรมการลูกจ้างนั้นยังไม่ได้ถูกเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย (แม้นายจ้างจะมีคำสั่งเลิกจ้างแล้วก็ตาม) ยังคงมีสภาพเป็นลูกจ้างของนายจ้างนั้นตลอดไป นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กรรมการลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้เลิกจ้าง และศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับกรรมการลูกจ้างนั้นกลับเข้าทำงานต่อไปหรือ ให้จ่ายค่าเสียหายได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2533)

 

 

(12) การประชุมเพื่อแต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง แต่มีกรรมการสหภาพแรงงานเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ ทำให้กรรมการลูกจ้างนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงาน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8378/2550)

 

 

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

17 กรกฎาคม 2557

 

 

 



17/Jul/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา